จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
ชาวนา นครปฐมร้องจำนำข้าวส่อทุจริตชัด โรงสีฮั้วเจ้าหน้าที่รัฐเปลี่ยนตัวเลขใบชั่งน้ำหนักข้าวเกินจริงให้ตรงโควตา แถมปรับราคาเป็น 1.4 หมื่นทั้งที่จ่ายจริงแค่ 1.3 หมื่น สอยส่วนต่างครึ่งแสนต่อราย แล้วหา “ข้าวผี” เติมให้เต็มแทน รับชาวบ้านต้องยอมหวั่นถูกระงับสิทธิ์-โดนข่มขู่ โอดมีข้าวเกินจำนวนเฉลี่ยก็ต้องขายนายทุนราคาถูกอีก แฉโรงสีเริ่มงอแงไม่รับจำนำ ล่าสุดบีบชาวนาจำขายตามกลไกตลาด แนะกรมการข้าวตั้งกิโลลอยแก้ปัญหา
วันนี้ (3 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวเอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ ได้รับการร้องเรียนจากเกษตรกรผู้ปลูกข้าวรายหนึ่งในพื้นที่ จ.นครปฐม พร้อมเอกสารระบุถึงโครงการรับจำนำข้าวที่ส่อว่าจะเกิดการทุจริตขึ้น โดยเอกสารดังกล่าวประกอบด้วย ใบรับรองผลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2554/2555 กรณีพิเศษ ระบุเนื้อที่ผู้ปลูกข้าวจำนวน 25 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 757 กก./ไร่ รวม 18,925 กก. ซึ่งสามารถปรับเพิ่มปริมาณรับจำนำได้อีกไม่เกิน 20% รวมไม่เกิน 22,710 กก. ใบชั่งน้ำหนักข้าวเปลือกจำนวน 21,070 กก.ราคาเกวียนละ 13,000 บาท เป็นจำนวนเงิน 273,885 บาท ลงวันที่ 26 ส.ค. 55, ใบชั่งน้ำหนักใบที่ 2 ซึ่งออกโดยโรงสีในวันที่ 28 ส.ค. ระบุน้ำหนักสินค้า 26,230 กก., ใบรับฝากสินค้า ระบุน้ำหนัก 26,230 กก.หักลดความชื้น 3,737.775 กก. คงเหลือ 22,492.225 กก.ในราคา 14.80 บาท/กก. รวมมูลค่า 332,884.93 บาท และใบประทวนสินค้า
โดยเกษตรกรผู้ปลูกข้าวคนดังกล่าวระบุว่า ตนได้เข้าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2555 ซึ่งได้นำข้าวเข้าไปจำนำตามโครงการที่โรงสีแห่งหนึ่งใน จ.นครปฐม โดยได้ใบชั่งน้ำหนักระบุจำนวน 21,070 กก.ในราคาเกวียนละ 13,000 บาท รวมจำนวนเงินที่จะได้รับทั้งสิ้น 273,885 บาท แต่ปรากฏว่า ในอีก 2 วันต่อมาทางโรงสีได้ออกใบชั่งน้ำหนักอีกใบเพื่อที่จะออกใบประทวนสินค้า โดยระบุจำนวนน้ำหนักที่ 26,230 กก. ขณะที่ใบรับฝากสินค้า อ้างว่าหักลดความชื้นแล้วคงเหลือ 22,495.225 กก. ซึ่งมากกว่าน้ำหนักเดิม 1,425.225 กก. อีกทั้งยังระบุให้ราคารับจำนำเกวียนละ 14,800 บาท ซึ่งมากกว่าเดิม 1,800 บาท รวมส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นจากเดิมราว 58,999.93 บาท โดยเงินส่วนนี้เมื่อได้รับจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) แล้วจะต้องนำกลับไปให้โรงสีดังกล่าวอีกด้วย ซึ่งบางรายที่ไม่ได้นำเงินไปคืนก็จะถูกโรงสีสั่งระงับสิทธิ์ไม่ให้รับเข้า ร่วมจำนำข้าวในครั้งถัดไป บางรายก็โดนข่มขู่คุกคามถึงขั้นทำร้ายร่างกาย
“ตามปกติแล้วโรงสีทั่วไปจะมีทางเลือกให้ชาวนาในการประเมินราคาข้าว 2 ทาง คือ ตีราคาข้าวในนา และวัดความชื้นที่โรงสีข้าว ซึ่งบางโรงสีข้าวมักจะใช้วิธีการวัดความชื้นมากกว่าเพื่อให้ได้ส่วนต่างใน การจำนำข้าว ขณะที่การเพิ่มส่วนต่างนี้ก็เพื่อให้ได้จำนวนตามโควตาที่รัฐบาลกำหนดไว้ โดยทางโรงสียังพร้อมที่จะจ่ายเงินส่วนต่างให้แก่ชาวนาที่จำนำข้าวได้ไม่เต็ม เพิ่มอีกเกวียนละ 2,000 บาทด้วย” เกษตรกรผู้ปลูกข้าวกล่าว
เกษตรกรคนดังกล่าวยังอธิบายเพิ่มด้วยว่า ในส่วนข้าวที่หายไปจากจำนวนจริงนั้น ทางโรงสีก็จะใช้วิธีการหาข้าวจากแหล่งอื่นทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ เข้ามาเพิ่มเติมให้ครบตามจำนวนที่ระบุไว้ในใบประทวนสินค้า ตัวอย่าง ชาวนา ก.มีนา 25 ไร่ นำข้าวมาจำนำจริง 12,000 กก. แต่ทางโรงสียื่นใบประทวนสินค้าไปเต็มจำนวนไร่ที่ 22,710 กก. ทางโรงสีก็จะต้องหาข้าวนอกบัญชีมาใส่ให้ครบจำนวนอีก 10,710 กก. เพราะฉะนั้นจึงทำให้มีข้าวผีมาเข้าในโครงการนี้จำนวนมาก ทั้งนี้หากในปีดังกล่าวชาวนาได้ผลผลิตเกินจำนวนที่รัฐบาลกำหนดไว้ ในส่วนเกินนี้ก็จะต้องขายให้กับโรงสีในราคาตามกลไกตลาด คือราวๆ 8,900 บาทต่อเกวียน
เกษตรกรผู้ปลูกข้าวยังระบุถึงการจำนำข้าวครั้งล่าสุดด้วยว่า ขณะนี้เริ่มมีรายงานว่าโรงสีข้าวบางแห่งก็ไม่สามารถรับจำนำข้าวได้ด้วย เนื่องจาก 1. โรงสีอ้างว่าไม่มีที่เก็บข้าวเปลือก 2. โรงสีอ้างว่ารัฐบาลไม่มีงบประมาณในการรับจำนำข้าว ซึ่งพอชาวนาไม่สามารถเข้าโครงการจำนำข้าวได้ก็จำเป็นที่จะต้องยอมขายให้กับ โรงสีในราคาที่ถูกลงตามกลไกตลาด
“ผมตั้งข้อสังเกตว่า การเพิ่มจำนวนน้ำหนักข้าวให้เกษตรกรทำไมไม่มีเอกสารกำกับและน้ำหนักที่เพิ่ม จำนวน 20% ได้เท่าเทียมกันในทุกพื้นที่หรือไม่ และทุกโรงสีจะเพิ่มน้ำหนักได้ 20% หรือมากกว่านั้น 2 .จะเห็นว่าโรงสีตีราคาข้าวให้เกษตรกรราคาเกวียนละ 13,000 บาท แต่โรงสีออกใบประทวนเบิกจากรัฐบาลเกวียนละ 14,800 บาท ทำไมจึงเบิกเกินราคาที่จ่ายให้กับเกษตรกร และเงินจำนวนนี้เข้ากระเป๋าใคร และ 3. ทำไมรัฐบาลไม่นำใบชั่งน้ำหนักข้าวมาเป็นเอกสารประกอบการจ่ายเงินของ ธ.ก.ส.” ชาวนา จ.นครปฐม กล่าว
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรผู้ปลูกข้าวคนดังกล่าวยังได้แสดงเอกสารการจำนำข้าวในปี 2554/2555 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยพบว่า ในใบประทวนสินค้ามียอดจำนวนข้าวมากกว่าจำนวนที่รัฐบาลกำหนด 285.125 กก. ทั้งๆ ที่สามารถจำนำได้จริงแค่ 22,710 กก. ขณะที่ทางโรงสีก็ยังระบุราคารับจำนำเพิ่มจากที่ตกลงไว้เกวียนละ 13,000 บาทอีก 1,800 บาทเช่นกัน
“ผมขอแนะนำว่า รัฐบาลโดยกรมการข้าวน่าจะให้เจ้าหน้าที่ตั้งกิโลลอยระหว่างจุดผ่านโรงสี เพื่อให้ชาวนาสามารถนำรถขนข้าวเข้ามาชั่งน้ำหนักเพื่อให้ออกใบชั่งน้ำหนัก อย่างถูกต้องแท้จริง และสามารถนำไปใช้ออกใบประทวนสินค้าได้ทันที” เกษตรกรผู้ปลูกข้าวกล่าว
ใบชั่งน้ำหนักข้าวใบแรกในวันที่จำนำข้าว
ใบชั่งน้ำหนักใบใหม่ที่ทางโรงสีออกให้หลังจากนั้น 2 วันต่อมา
ใบประทวนสินค้ารับจำนำข้าว ส.ค.55
ใบรับฝากสินค้า
ใบรับรองผลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี2554/2555 กรณีพิเศษ
ใบประทวนสินค้ารับจำนำข้าว เม.ย.55
ชาวนาใต้ล้มระบบทุจริตจำนำข้าว ยกประกันรายได้มั่นคงกว่า
จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
พัทลุง - ผู้ จัดการ สหกรณ์กลุ่มทำนาที่ในภาคใต้ ไม่เห็นด้วยโครงการระบบจำนำข้าว เพราะมีแต่การทุจริต แต่เห็นด้วยโครงการประกันรายได้ ซึ่งอาจจะมีการแบ่งเป็นเขตพื้นที่ทำนามากน้อย ชี้ที่ผ่านมา ทำไม่ได้เพราะเป็นเสียงส่วนน้อย
นายอนุชา เพ็ญจำรัส ผู้จัดการสหกรณ์กลุ่มทำนาตะโหมด อ.ตะโหมด จ.พัทลุง เปิดเผยว่า โครงการเรื่องข้าวเคยได้เข้าร่วมประชุมในสันนิบาตสหกรณ์ และมีการพูดถึงปัญหาเรื่องข้าว โดยทางภาคอีสานมีความต้องการโครงการรับจำนำข้าว เพราะทางภาคอีสานเป็นโรงสีข้าวขนาดใหญ่ และทำนามาก และไม่ต้องการโครงการประกันรายได้ชาวนา เพราะที่ผ่านมา มีการระบุว่าทางภาคอีสานโรงสีขาดทุนไปประมาณ 300 ล้านบาท
ส่วนทางภาคใต้ ต้องการโครงการประกันรายได้ เพราะมีการทำนาขนาดย่อย โดยต้องการนโยบายประกันรายได้ แต่เป็นเสียงส่วนน้อย โครงการประกันรายได้จึงตกไป รัฐบาลจึงได้นำโครงการรับจำนำมาดำเนินการ
“กลุ่ม สหกรณ์ทำนาตะโหมด มีประมาณ 500 ไร่ และกลุ่มทำนาอื่นๆ ในภาคใต้ เนื่องจากเป็นรายย่อยที่ทำมุ่งเป้าเพื่อบริโภค และยังไม่เห็นด้วยกับโครงการรับจำนำข้าว ต้องการให้ยกเลิกโครงการ เพราะไม่ได้รับผลดี มันโกงกัน เมื่อยกเลิกแล้วก็ยังจะต้องทำการช่วยเหลือชาวนา หรืออาจจะแบ่งเป็นโซนทำนามาก เป็นโครงการรับจำนำ หรือแทรกแซง โซนทำนาน้อย เป็นโครงการประกันรายได้ไป หรือวิธีอื่นๆ”
นายอนุชา ยังกล่าวอีกว่า สำหรับโซนภาคใต้ข้าวจะต้องได้ราคาที่ขึ้นจากนาประมาณ 10,000 บาท/ตัน สำหรับพันธุ์เล็บนก ส่วนพันธุ์สังข์หยดพัทลุง จะต้องได้ 13,000 บาท และ 14,000 บาท/ตัน ขณะนี้ต้นทุนการผลิตข้าวอยู่ที่ประมาณกว่า 6,000 บาท ช/ ชตัน
“สำหรับกลุ่มสหกรณ์ทำนาตะโหมดเอง ทำนาประมาณ 500 ไร่ ใช้ระบบปลอดสารเคมี แต่พื้นที่ภาคอื่นๆ ทำนาข้าวใช้สารเคมี และส่งเสริม และมีการใช้ประมาณ 6-7 ครั้ง/ฤดูกาล แต่เป็นสารเคมีที่ยอมรับการนำเข้าทั้งสิ้น” นักวิชาการสำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า ในภาคใต้มีพื้นที่ทำนามากคือ จ.นครศรีธรรมราช สงขลา และพัทลุง รวมกันมีประมาณ 1 ล้านไร่
รักษ์ไม้,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,มูลไส้เดือนดิน,การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยอินทรีย์,ปุ๋ยชีวภาพ