สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อนาคตลงทุนระบบน้ำในอุ้งมือ บริษัทก่อสร้าง

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...จตุพล สันตะกิจ

9 ก.ค. เป็นวันแรกที่รัฐบาลไทยเปิดให้บริษัทไทยและต่างประเทศรับเอกสารรายละเอียดใน การเสนอกรอบแนวคิด (Conceptual Plan) เพื่อออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไข ปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย

บริษัท ช.การช่าง บริษัทยักษ์ใหญ่เจ้าแรก ที่มาลงทะเบียนรับเอกสารครั้งนี้ ตามมาด้วยบริษัทอื่นๆ เช่น บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ บริษัท พันปี กรุ๊ป บริษัท สำรวจวิศวอินเตอร์เทค และบริษัทโปรเกรส เทคโนโลยี คอนซัลแท็นส์ และบริษัทอื่นๆ กว่า 20 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่ร่วมทุนหรือรวมกับบริษัทที่ปรึกษาต่างชาติ

นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนสถานทูตเยอรมนีไจกาของญี่ปุ่น เข้ามารับเอกสารครั้งนี้ด้วย

“เราเป็นบริษัทไทย ซึ่งเป็นบริษัทสาขาแม่ในญี่ปุ่น ได้รับการเชิญชวนจากไจกาเข้าร่วมประมูลโครงการนี้ ซึ่งข้อมูลจะส่งออกไปให้บริษัทแม่ เพื่อประเมินว่าหากออกแบบไปจะคุ้มค่าหรือไม่ เพราะโครงการนี้เป็นโครงการใหญ่ แม้แต่การศึกษากรอบแนวคิดก็ต้องใช้เงินเหมือนกัน” ตัวแทนบริษัทที่เข้ามารับเอกสารรายหนึ่ง ระบุ

ขั้นตอนการประมูลโครงการลงทุนระบบน้ำ 3 แสนล้านบาท เป็นรูปแบบที่คนไทยไม่คุ้นหูนัก

เริ่มต้นจากให้บริษัทเสนอกรอบแนวคิดลงทุนโครงการน้ำและคัดเลือกบริษัทที่ เสนอกรอบแนวคิดที่ดีที่สุด 3 บริษัท หรือกลุ่มบริษัท และกรองซ้ำให้เหลือเพียง 1 บริษัท

บริษัทที่ได้รับการคัดเลือกจะทำการออกแบบรายละเอียด หรือ Detail Design จำนวน14 แผนงาน โดยจะได้รับค่าจ้างออกแบบรายละเอียดแผนงานและโครงการ 2% ของวงเงินลงทุนระบบน้ำ 3 แสนล้านบาท เบาะๆก็รับไป 6,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ทีโออาร์กำหนดเงื่อนไขว่าหากผู้ยื่นข้อเสนอยื่นในนามบริษัทเดียว ไม่ว่าจะเป็นบริษัทในประเทศหรือต่างประเทศมูลค่าก่อสร้างไม่น้อยกว่า 3 หมื่นล้านบาท

หรือกรณีที่เป็นกลุ่มนิติบุคคลในลักษณะ Consortium หรือบริษัทร่วมทุน ให้นับรวมผลงานของนิติบุคคลมารวมกัน แต่ผลงานที่จะนำเข้ามานับรวมต้องเป็นผลงานที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาทเท่านั้น

ทั้งนี้ การคัดกรองบริษัทที่มีผลงานระดับ 3 หมื่นล้านบาท ถือว่าไม่มากเกินไป และไม่ใช่การล็อกสเปกบริษัทที่เข้าร่วมเสนอโครงการ

ปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ระบุว่า “โครงการลงทุนใหญ่ขนาดนี้ จะให้บริษัทเล็กมาทำได้อย่างไร”

แต่นั่นก็ทำให้การเปิดประมูลคอนเซปต์ลงทุนระบบน้ำ

“ยกแรก” บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กถูกตัดจากสารบบทันที ยกเว้นบริษัทที่มีพาร์ตเนอร์กับบริษัทต่างชาติ

ในขณะเดียวกันเงื่อนไขทีโออาร์ก็ “เปิดกว้าง” ให้บริษัทยักษ์ใหญ่ก่อสร้างไทย เรียกขานในนาม “บิ๊ก 5 เสือก่อสร้าง” ได้เข้าร่วมโครงการนี้ เช่น อิตัลไทย ที่มีประสบการณ์สร้างเขื่อนในหลายประเทศ บริษัท สี่แสงการโยธา ที่ได้งานประมูลระบบน้ำของกรมชลประทานต่อเนื่องหลาย 10 ปีมาแล้ว

เพราะคุณสมบัติผู้เสนอกรอบแนวคิดลงทุนถูกกำหนดไว้อย่างครอบจักรวาล คือ เป็นบริษัทที่เคยมีผลงาน “ออกแบบ” ระบบพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ หรือ “ก่อสร้างเขื่อน” หรือ“อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่” หรือ “ออกแบบ” หรือ “ก่อสร้าง” ระบบป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วมหรือภัยแล้งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หรือปี 2545-2555

 

แต่ก็มีข้อสังเกตเช่นกันว่า หากบริษัทบิ๊กๆ เหล่านี้ร่วมประมูลโครงการลงทุนน้ำตั้งแต่ต้น คือ การยื่นเสนอกรอบแนวคิดให้รัฐบาลคัดเลือก

ก็มีความเป็นไปได้สูงว่า บริษัทที่ผู้ชนะการออกแบบแนวคิดการลงทุนน้ำจะชนะการประมูลในขั้นตอนก่อสร้าง ด้วย เพราะเป็นผู้ออกแบบรายละเอียดโครงการมากับมือ รู้ทั้งวิธีการและรู้ต้นทุน

ทำให้มีความได้เปรียบคู่แข่งขันอื่นๆ ที่ร่วมประมูลในขั้นก่อสร้างโครงการในภายหลัง

จึงไม่แปลกใจที่จะเห็นบริษัท ช.การช่าง มาลงชื่อรับเอกสารตั้งแต่ไก่โห่

แม้ว่าในขั้นตอนนี้จะยังไม่ใช่การประมูลโครงการก่อสร้างจริงและค่า จ้างออกแบบเพียง 2% เทียบกับเงินลงทุนก่อโครงการย่อยใน 14 แผนลงทุน ฟลัดเวย์ 1.2 แสนล้านบาท พื้นที่รับน้ำ 6 หมื่นล้านบาท การฟื้นฟูป่าและสร้างเขื่อนอ่างเก็บน้ำ 5 หมื่นล้านบาท

นี่ถือเป็นเค้กก้อนโตมหาศาล

นอกจากนี้ กบอ.เองไม่ได้กำหนดว่าทีโออาร์ในขั้นตอนการประมูลก่อสร้างโครงการนั้น บริษัทที่ชนะการออกแบบแนวคิด ไม่สามารถร่วมประมูลในขั้นตอนก่อสร้างโครงการได้ ขณะที่การก่อสร้างงานโยธาต่างๆ ก็ไม่ใช่สิ่งที่ซับซ้อนเลย แต่ผลตอบแทนการลงทุนเรียกว่าสุดคุ้ม

อาจสรุปได้ว่า การเปิดให้บริษัทไทยและทั่วโลกมาร่วมประมูลเสนอกรอบแนวคิดการลงทุนน้ำเป็น “พิธีกรรม” เท่านั้น เพราะเมื่อพลิกเอกสารแนบโครงการลงทุนระบบน้ำ 3 แสนล้านบาท ที่ถูกเก็บไว้ในชั้นความลับหลายสัปดาห์ไม่มีความแตกต่างจากแผนลงทุนระบบน้ำ ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หรือ กยน.

แต่พิธีกรรมนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการสร้างภาพการันตีความโปร่งใสของการดำเนินการโครงการ แม้จะเป็นความโปร่งใสแค่ “เปลือกนอก” ก็ตาม

เพราะความจริงแล้วความโปร่งใส หรือไม่โปร่งใสในโครงการลงทุนระบบน้ำอยู่ที่ขั้นตอนประมูลโครงการก่อสร้าง หากบริษัทใดคอนเนกชัน “แน่นปึ้ก-วิ่งเก่ง” โอกาสคว้างานไปทำก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นเลย เนื่องจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้การประมูลโครงการน้ำทำได้โดยใช้ “วิธีพิเศษ” ที่เสนอโดย กบอ.

หากแวะเวียนไปที่ตึกแดง ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) จะเห็นเจ้าหน้าที่บริษัทต่างชาติหลายแห่งวิ่งขึ้นวิ่งลงตึกทุกวัน อย่างบริษัท หัวเว่ยฯ เป็นต้น ซึ่งมีลุ้นที่จะคว้างานพัฒนาฐานข้อมูล ระบบพยากรณ์ และระบบเตือนภัย วงเงิน 3,000 ล้านบาท

ตรงนี้นับว่าเป็นงานหนักของฝ่ายตรวจสอบอย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบ ปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน ต้องติดตามโครงการอย่างใกล้ชิดไม่ให้เกิดการรั่วไหล

เช่นที่ ภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. บอกว่า ป.ป.ช.จะติดตามโครงการลงทุนน้ำ หากพบความผิดปกติก็หยิบโครงการมาตรวจสอบได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ร้องตามกฎหมายใหม่

กรรมการ กยน.บางคนตั้งข้อสังเกตว่า การที่รัฐบาลโดยปลอดประสพ กำหนดวิธีการลงทุนระบบน้ำที่ยุ่งยากและซับซ้อน มีหลายขั้นตอนอย่างนี้มีเหตุผลใด นั่นเป็นเพราะ “เอาคนที่ไม่รู้ มาทำในสิ่งที่ไม่รู้” เรื่องราวจึงซับซ้อน

นอกจากนี้ การลงทุนระบบน้ำไม่เหมือนกับการกินข้าว เพราะการลงทุนโครงการน้ำที่มีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมหลายมิติ ไม่ได้หมายความว่ามีเงินขีดพื้นที่ไว้แล้วจะทำได้โดยง่าย ลงทุนแล้วมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์จะสร้างได้ทันที อย่างโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นที่อยู่ในแผน แต่ผ่านมา 20 ปีแล้วยังไม่เกิด

ทั้งยังมีข้อกังขาจากกรรมการ กยน. อย่าง กิจจา ผลภาษี ที่บอกว่า “แผนยุทธศาสตร์น้ำค่อนข้างสมบูรณ์ เพราะระดมทุกฝ่ายมาจัดทำ เชื่อมั่นว่าถ้าทำตามแผนจะแก้ปัญหาน้ำระยะยาว และแผนของเราก็ได้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ มาให้ความคิดความเห็นที่ดีที่สุดจากทั่วโลกอยู่แล้ว”

กิจจา ยังระบุว่า ไม่มีใครรู้เรื่องน้ำดีกว่าคนไทยอีกแล้ว เพราะเราศึกษาเรื่องนี้มา 40-50 ปี ส่วนคนชาติอื่นถ้าจะมาศึกษาโดยใช้เวลา 3 เดือน เพื่อให้ได้กรอบแนวคิดการลงทุนก็ไม่พ้นต้องจ้างคนไทยอยู่ดี แถมเปิดช่องให้เขาเอาข้อมูลเรื่องน้ำของเราที่จะเอาไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ได้อีก ตนจึงคิดว่าแนวทางที่ กยน.คิดและทำก็ดีอยู่แล้ว

นอกจากนี้ หากพลิกเอกสารประกอบทีโออาร์หมายเลข 1-3 จะพบว่ามีโครงการที่สุ่มเสี่ยงขัดแย้งกับชุมชนและกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูง เช่น การคัดเลือกที่พื้นที่เกษตรกรรมทำแก้มลิง 2.1 ล้านไร่ สร้างอ่างเก็บน้ำแม่แจ่ม สร้างอ่างเก็บน้ำน้ำตาด อ่างเก็บน้ำคลองชมพู อ่างเก็บน้ำแม่วงก์ และอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำป่าสัก

โดยเฉพาะการจัดทำผังการใช้ที่ดิน การสร้างพื้นที่ปิดล้อมชุมชนและเขตเศรษฐกิจหลัก และจัดทำพื้นที่ปิดล้อมเกษตรกรรม ที่ล้วนเกี่ยวข้องกับ “มวลชน”

เหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นที่บริษัทหรือกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาที่ร่วม เสนอกรอบแนวคิดลงทุนน้ำต้องขบคิดและตีโจทย์ให้แตก เช่นเดียวกับรัฐบาลที่ต้องพยายามทุกวิถีทางที่ทำให้เงินกู้เพื่อลงทุนระบบ น้ำ 3 แสนล้านบาท เกิดประโยชน์สูงสุดและรั่วไหลน้อยที่สุด

แต่ที่แน่ๆ คือ วันนี้การลงทุนคิดกรอบลงทุนระบบน้ำ และการลงทุนโครงการบริหารจัดการน้ำอยู่ในมือบริษัทก่อสร้างและบริษัทที่ปรึกษา

แม้ว่าก่อนหน้านี้ รัฐบาลจะระดมกลุ่มนักวิชาการด้านน้ำร่วมคิดแผนยุทธศาสตร์ลงทุนระบบน้ำระยะ ยั่งยืนและร่วมทำงานกว่า 3 เดือน รวมทั้งแผนโรดแมปลงทุนต่างๆ

แผนที่ กยน.คิดก็มีสิทธิที่จะถูก “รื้อทิ้ง” โดยอำนาจ ของประธาน กบอ.อย่างปลอดประสพ และถูกชี้นำทิศทางโดยบริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะบริษัทไทยแท้ หรือบริษัทฝรั่งหัวดำก็ตาม


รักษ์ไม้,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,มูลไส้เดือนดิน,การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยอินทรีย์,ปุ๋ยชีวภาพ

Tags : อนาคตลงทุนระบบน้ำ อุ้งมือ บริษัทก่อสร้าง

view
Top