สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิด 17 ชื่อเจ้าของรีสอร์ตลอตแรกรุกภูทับเบิก

จากประชาชาติธุรกิจ

เปิดรายชื่อเจ้าของรีสอร์ตรุกภูทับเบิก ศาลพิพากษาถึงที่สุดให้ออกจากพื้นที่ลอตแรก 17 ราย เผยกลุ่มผู้ประกอบการยังอิดออด ไม่รื้ออาคารสิ่งปลูกสร้าง

นายชีวะภาพ ชีวะธรรม หัวหน้าชุดพยัคฆ์ไพร กรมป่าไม้ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ภูทับเบิกเป็นพื้นที่ป่าภายใต้พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ซึ่งกรมป่าไม้ได้มอบพื้นที่ให้กรมประชาสงเคราะห์ (ปัจจุบันคือกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ) ตั้งแต่ปี 2509 นำไปจัดสรรให้กับชาวไทยภูเขาเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน จำนวน 4.7 หมื่นไร่ จำนวน 3,500 ครัวเรือน

ทั้งนี้ มีรีสอร์ตที่ตรวจพบในพื้นที่โครงการบูรณาการ การแก้ไขและจัดระเบียบพื้นที่ภูทับเบิกในขณะนี้ประมาณ 101 แปลง แบ่งเป็นรีสอร์ตของกลุ่มทุน 61 แห่ง และรีสอร์ตของกลุ่มชาวม้ง 40 แห่ง ซึ่งได้ดำเนินคดีตรวจยึดไปแล้ว 47 คดี และรอขยายผลตรวจสอบรีสอร์ตอีก 2 แห่ง ซึ่งในจำนวน 47 คดีนี้ศาลพิพากษาถึงที่สุดให้ผู้ครอบครองและบริวารออกจากพื้นที่ โดยอยู่ในขั้นตอนของการบังคับคดีจำนวน 17 คดี ส่วนรีสอร์ตของชาวไทยภูเขายังสามารถดำเนินการได้ตามเงื่อนไขของกรมพัฒนาสังคมฯ และต้องอยู่ภายใต้แผนแม่บทการแก้ไขปัญหาภูทับเบิก ที่จะเสนอคณะรัฐมนตรีในเร็วๆนี้

ผู้ครอบครอง 17 ราย ได้แก่ 1.นายกุญช์ภัสส์ หรือ กุลพักตร์ พัฒนาฉัตรรุ่งรุจ หรือ พัฒนฉัตรรุ่งรุจ 2.นายพัชรพล ทรงศาสตร์ปริญญาวงศ์ 3.นายปกรณ์ หรือ จักร โรจน์ธนากร หรือ แซ่หลอ 4.นายสมทบ สายคำเลิศ 5.นายทวิศักดิ์ พงศ์จิระปัญญา 6.นายธัชพงศ์ คงวุฒิ 7.นายคเณศ แซ่ไห่ 8.นายโชติ แก้วทอง 9.นายไพศาล ผดุงกิจ 10.นายกรศรัณย์ ทองก้อน 11.นายเก่ง ทิวพงษ์งาม 12.นายพิษณุ แสนยากุล13.นายบัวไร สายคำติ่ง 14.นางศรีวิการ์ อรรคเศรษฐัง ที่ 1 15.นายพลวุฒิพงศ์ ที่ 2 16.นายบุญเลิศ น้อยคำ และ 17.นายไหม แซ่ท่อ นางนิภารัตน์ ประพฤติ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาชาวเขาจังหวัดเพชรบูรณ์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หลังภาครัฐมีนโยบายจัดระเบียบภูทับเบิก ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งได้ขอความเป็นธรรม แต่ในส่วนของคดีความคงยืดไม่ได้ เพราะขึ้นสู่ศาลแล้ว แม้ว่าจะมีการดำเนินคดีในขณะนี้ แต่หลายคนก็ยังก่อสร้างไม่หยุด

"ผู้ประกอบการบางส่วนยังมีปฏิกิริยา ทำไมต้องรื้อ ผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่ถูกสั่งให้ออกจากพื้นที่ บังคับคดีถึงที่สุดแล้ว ก็ยังนิ่ง"

นายวันชัย ชยารมย์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 16 ต.วังบาล ประธานชมรมธุรกิจท่องเที่ยวภูทับเบิก มองว่าหากภาครัฐจะคุมกำเนิดรีสอร์ตจริง ๆ ควรจะสำรวจว่าคนนอกมีเท่าไหร่ คนในมีเท่าไหร่ หลังจากนั้นจะต้องไม่มีการก่อสร้างเพิ่มเติม เพราะถามว่าพื้นที่ตรงนี้ตั้งแต่เกิดมาก็เป็นพื้นที่โล่ง

อยู่แล้ว พื้นที่ทำกิน ทำการเกษตรก็จับจองมาตั้งแต่เดิมรุ่นพ่อรุ่นแม่ แต่ต่อมามีการสร้างรีสอร์ต มีรายได้มาใช้ในครอบครัว เมื่อภาครัฐมีมาตรการออกมาว่าต้องรื้อตอนนี้เท่าที่ซาวเสียงทุกคนยังไม่ยอมรับเท่าไหร

"ที่ผ่านมาชาวบ้านหลายคนกลัวทางการจะมายึดพื้นที่คืน พอมีคนมาให้ราคาก็ขาย บางคนขายไร่ละ 5-6 แสนบาท บางแห่งก็ 7-8 แสนบาท หากปล่อยเช่าก็ไร่ละ 1-2 แสนบาทต่อปี แต่ถ้าชาวม้งด้วยกันไม่มีที่ทำกินมาเช่าปลูกกะหล่ำก็ให้เช่าราคา 1-2 หมื่นบาทต่อปี ส่วนสร้างรีสอร์ตก็ทำกันมาเป็น 10 ปี ทางการไม่เคยทำอะไร แต่จู่ ๆ ก็มาบอกจะไม่ให้ทำแล้วทั้งที่หลาย ๆ คนก็กู้เงินมาลงทุนแล้ว ทำให้ขณะนี้หลายคนไม่ยอมรับ และไม่ยอมรื้อ บางคนก็มองว่ารีสอร์ตตัวเองสร้างแข็งแรงแล้วก็ไม่ยอมรื้อ ตนเป็นคนกลางก็ลำบากใจ แต่ก็แล้วแต่ว่าทางการจะมีมาตรการออกมาอย่างไร ขณะนี้ก็รอผังเมืองใหม่ออกมา ก็ยังคาดเดาไม่ถูกเพราะยังไม่มีตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปเป็นร่าง"

จากกรณีการแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ภูทับเบิก อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ วันที่ 10 พฤษภาคมนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการกองอำนวยการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

และในวันที่ 18 พฤษภาคม 2559 จะมีการประชุมของรัฐมนตรี 4 กระทรวงหลัก ได้แก่ มหาดไทย, พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อสรุปจัดทำแผนแม่บท

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก อ.หล่มเก่า ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงกว่า 70% และรีสอร์ตได้ลดราคาห้องเดิม 1,500 บาท เหลือเพียง 700-800 บาท อีกทั้งร้านขายของที่ระลึก ร้านกาแฟ ส่วนรีสอร์ตที่อยู่ในข่ายผิดกฎหมาย ยังคงมีการต่อเติมโดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย

ด้านนายดำรงค์ พิเดช สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชกล่าวถึงการบริหารจัดการภูทับเบิกว่า เคยพูดเรื่องนี้หลายครั้งแล้ว แต่ก็ไม่มีใครสามารถจัดการปัญหาได้ อย่างที่รู้กันว่าพื้นที่บริเวณนี้เป็นของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดสรรให้เป็นที่ทำกินของพวกม้งพัฒนาชาติไทย เป็นการตอบแทน ต่อมามีนายทุนเข้าไปขอซื้อสิทธิ์สร้างรีสอร์ต ที่พัก เพราะการท่องเที่ยวบูม ซึ่งถ้าจะว่ากันถึงต้นตอของปัญหา คือต้องจัดการตั้งแต่เริ่มแรก กรมประชาสงเคราะห์ กรมป่าไม้ ต้องเข้าไปจัดการตั้งแต่เห็นปัญหา แต่ที่ผ่านมาปล่อยปละละเลย เผลอ ๆ ไม่รู้ว่ามีเอี่ยวด้วยหรือไม่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการยุบกรมประชาสงเคราะห์ มาเป็นกระทรวง จึงทำให้การจัดการปัญหาหยุดชะงักไป

"ผมยังยืนยันว่าจะต้องจัดในรูปของสหกรณ์ ใครที่ไม่ใช่ก็ดำเนินคดีรีสอร์ตที่ผิดกฎหมายก็ต้องรื้อ ส่วนคนที่มีสิทธิ์ก็จัดตั้งเป็นสหกรณ์นำเงินทุนมาสร้างรีสอร์ต ที่พัก ในโซนนิ่งที่เห็นสมควรและเหมาะสมเพื่อการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน"


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : เปิด 17 ชื่อเจ้าของรีสอร์ตลอตแรกรุกภูทับเบิก

view