สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เมล็ดกาแฟราคาพุ่งอีก 2 ปีขาดหนัก กสอ. เร่งส่งเสริมรับมือเปิด AEC

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

“กสอ.” เร่งเครื่องผู้ประกอบการและภาคเกษตรตื่นตัวรับมือ AEC ปี 2558 หลังพบเมล็ดกาแฟไทยขาดตลาดและราคาแพงต่อเนื่องหลังฮิตดื่ม คาดเมื่อเปิด AEC จะยิ่งขาดตลาดหนักและจะเปิดช่องให้ต่างประเทศเข้ามาทำตลาดไทยได้ “เดอ มอนเต้” เล็งปั้น 3 in 1 รุกตลาดกาแฟ AEC
       
       นางบุญเจือ วงษ์เกษม ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาผู้ประกอบการ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.)เปิดเผยว่า ปัจจุบันคนไทยกำลังนิยมการบริโภคกาแฟมากขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยปี 2555 ความต้องการใช้เมล็ดกาแฟของโรงงานแปรรูปสูงถึง 67,620 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2544 ถึง 9.99% คาดว่าปี 25560 จะเติบโต 12% จากปีก่อนซึ่งการผลิตของไทยไม่เพียงพอต้องนำเข้าเมล็ดกาแฟมาจากต่างประเทศ แต่การนำเข้ายังไม่สูงนักเพราะต้องเสียภาษีและต้องมีใบอนุญาตจากหน่วย งานราชการเท่านั้น แต่เมื่อไทยก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ปี 2558 ไทยต้องเปิดเสรีนำเข้าเมล็ดกาแฟจากอาเซียนโดยไม่มีภาษี ดังนั้นทุกภาคส่วนจะต้องปรับตัว
       
       ทั้งนี้ กรมฯ กำลังเร่งพัฒนาผู้ประกอบการกาแฟไทยที่จะยกระดับการผลิตตั้งแต่การปลูกกาแฟไป จนถึงการพัฒนาแบรนด์กาแฟไทยผ่านโครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ.) ที่จะให้คำปรึกษาแนะนำการตลาด และโครงการพัฒนาออกแบบบรรจุภัณฑ์ เพื่อสร้างเอกลักษณ์เฉพาะในการเตรียมพร้อมเข้าสู่ AEC รวมไปถึงการร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการส่งเสริมพัฒนาเกษตรกรให้ปลูกกาแฟที่มีคุณภาพ
       
       “ในอาเซียนแม้ว่าไทยจะมีชื่อเสียงในเรื่องของคุณภาพกาแฟเป็นที่หนึ่ง แต่ภาพรวมทุกฝ่ายก็ต้องไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาเพราะเชื่อว่าเมื่อเข้าสู่ AEC เชื่อว่าตลาดกาแฟจะขยายตัวมากจะทำให้เป็นโอกาสสำหรับธุรกิจกาแฟไทยในการส่ง ออกทั้งในรูปของเมล็ดกาแฟและการทำร้านกาแฟ หรือแฟรนไชส์ โดยชูจุดขายกาแฟ AEC ที่เน้นรสชาติซึ่เงป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว” นางบุญเจือกล่าว
       
       นางพรรณภัทร กองจริต เจ้าของกาแฟแบรนด์เดอ มอนเต้ กล่าวว่า ขณะนี้เมล็ดกาแฟในพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ขาดแคลนมาก ถึงขนาดต้องแย่งซื้อ และต้องไปจัดหายังพื้นที่อื่นเข้ามาเสริม ขณะที่ราคาคั่วเสร็จแล้วสูง 400-600 บาทต่อกิโลกรัม ภาพรวมเมล็ดกาแฟอนาคตเมื่อเข้าสู่ AEC เชื่อว่าจะขาดแคลนหนัก ดังนั้นจึงได้พยายามส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพิ่ม ซึ่งเฉพาะตนรับซื้อ 8-10 ตัน และจะเพิ่มอีก 5 ตันในเร็วๆ นี้เนื่องจากเตรียมวางแผนบุกตลาดเพื่อนบ้าน
       
       “ชื่อเดิมเป็นกาแฟภูน้ำหนาว ขณะนี้ปรับชื่อเพื่อที่จะรองรับกับแผนการส่งออกที่ล่าสุดส่งตัวอย่างไปยัง จีนแล้ว และยังมองไปยังพม่าโดยตลาดที่จะเน้นเป็นในรูปของกาแฟสำเร็จรูป 3 In 1 เนื่องจากเพื่อนบ้านยังไม่นิยมกาแฟสด” นางพรรณภัทร
       
       นายภูวดล เตโช พนักงานการเกษตรระดับ 2 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูง กล่าวว่า พื้นที่ในไทยซึ่งเหมาะสมปลูกกาแฟมีไม่มากนัก เพราะกาแฟชอบพื้นที่สูงและมีอากาศเย็น จึงเน้นจะส่งเสริมเรื่องของพันธุ์ที่ให้คุณภาพและรสชาติที่ดี ซึ่งขณะนี้ไทยส่งออกกาแฟเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน รองจากเวียดนาม และอินโดนีเซีย แต่คุณภาพของไทยนั้นดีกว่าจนทำให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ซึ่งกาแฟมี 2 สายพันธุ์ คือ อะราบิกา และโรบัสตา ซึ่งอะราบิกาจะเหมาะกับพื้นที่สูงนิยมทำเป็นกาแฟสด ส่วนโรบัสตาปลูกภาคใต้นิยมทำกาแฟสำเร็จรูป
       
       “กาแฟจะต่างกันในแต่ละพื้นที่ยิ่งสูงก็จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ดี กว่าจึงต้องการส่งเสริมฯ และเน้นในเรื่องนี้แทนที่จะมองว่าจะต้องไปแข่งกับใคร ซึ่งยอมรับว่าการส่งเสริมฯ เกษตรกรไม่ง่ายเพราะกาแฟกว่าจะเก็บผลผลิตได้ใช้เวลา 3 ปี ระหว่างนี้เกษตรกรจะไม่มีรายได้แต่ด้วยที่ระยะหลังกาแฟขาดตลาดและมีราคาแพง เกษตรกรจึงเริ่มสนใจปลูก และเจ้าของร้านกาแฟเองก็เริ่มมาเป็นเจ้าของสวนเองด้วย” นายภูวดลกล่าว


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view