สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เส้นทางสาย ผลไม้ จากไทยสู่จีน(2)

จาก เดลินิวส์ออนไลน์

เมื่อวาน…กล่าวถึง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงนามใน ’พิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้า ผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างประเทศไทยและจีน“ ร่วมกับ กระทรวงควบคุมคุณภาพและตรวจสอบกักกันโรค (AQSIQ) แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนภายใต้ความร่วมมือด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ซึ่งภายหลังการลงนามในพิธีสารฯ ทำให้ไทยสามารถส่งออกผลไม้ 23 ชนิด ไปยังจีนได้ โดยผ่านเส้นทางบกสาย R3 เริ่มจาก อ.เชียงของ จ.เชียงราย ผ่าน เมืองห้วยทราย บ่อแก้ว หลวงน้ำทา บ่อเต็น ของลาว เข้า เมืองโม่หาน จิ่งหอ เชียงรุ้ง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีนโดยมีเหตุผลและความจำเป็นคือ เพื่อสร้างความมั่นใจระหว่างสองประเทศว่า การส่งผลไม้ระหว่างกันผ่านทางบกสาย R3 จะไม่มีการปลอมปนผลไม้และสิ่งอื่น ๆ จากประเทศอื่นและเพิ่มความสะดวกในการตรวจปล่อยสินค้า ณ ด่านนำเข้าระหว่างกัน
   
…และสาระสำคัญแห่งพิธีสารนั้นคือ ทั้งสองฝ่ายจะมีมาตรการกำกับดูแลการปลอมปนสินค้าโดยการปิดผนึกตู้สินค้าก่อน ส่งออกและการแสดงหมายเลขกำกับ…
   
สำหรับผลไม้ 23 ชนิดนั้นได้แก่ กล้วย เงาะ ละมุด สละ มะขาม ส้มเขียวหวาน สับปะรด มะม่วง ทุเรียน มะละกอ เสาวรส มังคุด ชมพู่ มะเฟือง ส้มโอ ส้ม มะพร้าว น้อยหน่า ฝรั่ง ขนุน ลองกอง ลำไย และลิ้นจี่
   
การเปิดเส้นทางดังกล่าวนี้จะช่วยให้ผู้ส่งออกของไทยสามารถส่งออกสินค้าไปยัง จีนได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น เป็นการเพิ่มช่องทางการส่งออกผลไม้ไปจีนและสามารถกระจายผลไม้ไปยังตลาดมณฑล ทางตอนใต้และตะวันตกของจีนได้โดยตรง จากเดิมต้องผ่านฮ่องกง เสินเจิ้น หรือตลาดเจียงหนาน กวางโจว แล้วจึงกระจายไปยังมณฑลต่าง ๆ ของจีน ขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มโอกาสทางการตลาดและขยายช่องทางการจำหน่ายผลไม้ของ ไทยได้เพิ่มมากขึ้น คาดการณ์ว่าจะช่วยผลักดันให้การค้าผลไม้ไทยขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำ กว่า 10 % หรือปีละกว่า 500 ล้านบาท จากเดิมที่สามารถส่งออกผลไม้คุณภาพดีไปจีนได้ปีละกว่า 5,000 ล้านบาท อีกทั้งหากเป็นผลไม้นำเข้าจากจีนที่ผ่านเส้นทาง R3 จะมีคุณภาพมาตรฐานและปลอดภัยต่อผู้บริโภคชาวไทยมากขึ้น เนื่องจากมีการควบคุมคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยจากต้นทาง
   
สำหรับ “จีน” แล้ว นับเป็นแหล่งรองรับการขยายตัวด้านการส่งออกของไทยได้ โดยเฉพาะผลไม้เมืองร้อนแต่ละปีจีนมีความต้องการผลไม้ค่อนข้างสูง และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากมีจำนวนประชากรมาก ประมาณ 1,300 ล้านคน และเศรษฐกิจจีนค่อนข้างมีเสถียรภาพ รายได้ของประชากรดีขึ้น โดยเฉพาะ เมืองเซี่ยงไฮ้ กวางตุ้ง หนานหนิง ฟูเจียน เซียะเหมิน ปักกิ่ง และเฉินตูเป็นต้น การเปิดเส้นทางขนส่งสินค้าเกษตรจากไทยไปจีน จึงถือเป็นโอกาสดีของเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ไทย
   
อนาคตไทยกับจีนมีแผนเจรจาและสร้างความร่วมมือในการเปิดเส้นทางส่งออกสินค้า เกษตรทางบกเพิ่มเติม เช่น เส้นทาง R12 จากไทย(นครพนม)-นาพาว(ลาว)-จาลอ-วิงห์-ฮานอย(เวียดนาม)-จีน(ด่านโหย่วอี้ กวาน มณฑลกวางสี) หรือเส้นทาง R8 จากไทย(กรุงเทพฯ-หนองคาย)-ปากซัน-น้ำทอน(ลาว)-กาแจว-วิงห์-ฮานอย(เวียดนาม )-จีน(ด่านโหย่วอี้กวาน มณฑลกวางสี) ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสทางการตลาดและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับ สินค้าเกษตรไทยในตลาดจีนได้เพิ่มสูงขึ้น.

Tags :

view