สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คิกออฟประกันพืชผล เร่งมือทำเสริมพลังเกษตรกร

จาก โพสต์ทูเดย์

28 มิ.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังได้คิกออฟโครงการประกันภัยพืชผลอย่างเป็นทางการไปแล้ว

โดย...ทีมข่าวการเงิน

28มิ.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังได้คิกออฟโครงการประกันภัยพืชผลอย่างเป็นทางการไปแล้ว

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นหัวแรงหลักในการเริ่มขายประกันภัยพืชผลให้กับเกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1-31 ก.ค.นี้ สำหรับพื้นที่เพาะปลูกภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก

ส่วนภาคใต้ซึ่งปลูกข้าวที่ช้ากว่าภาคอื่นๆ จะเริ่มขายประกันตั้งแต่วันที่ 1-31 ส.ค.นี้ ราคาเบี้ยประกันภัยที่คุ้มครองจะอยู่ที่ 120 บาทต่อไร่ หากรวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์อยู่ที่ 129.47 บาทต่อไร่ โดยรัฐบาลจะช่วยรับภาระในการซื้อประกัน 69.47 บาทต่อไร่ ธ.ก.ส.สมทบอีก 10 บาทต่อไร่

ชาวนาจ่ายเองแค่ 50 บาทต่อไร่ แต่ได้รับการคุ้มครองเพียบ...ไร่ละ 1,212 บาทงานนี้รัฐบาลแปะโป้งให้ ธ.ก.ส.ทดลองจ่ายในส่วนของรัฐบาลไปก่อน และให้ตั้งงบชดเชยจากรัฐบาลในปีงบประมาณ 2555 ในวงเงิน 4,000 ล้านบาท

ประกันภัยชุดนี้ กำหนดให้เกษตรกรจะได้รับการชดเชยครอบคลุม 6 กรณี คือ ต้องเป็นความเสียหายสิ้นเชิงจากอุทกภัย น้ำท่วม ฝนทิ้งช่วง ฝนแล้ง ลมพายุ อากาศหนาว ลูกเห็บ และอัคคีภัย

 

การรับเงินชดเชยจากความเสียหายแบ่งเป็น 2 ส่วน ตั้งแต่วันที่เริ่มเพาะปลูกถึง 60 วันแรก หากเสียหายบริษัทประกันภัยจะชดเชยให้ไร่ละ 606 บาท รัฐชดเชยให้อีกไร่ละ 606 บาท รวมเป็น 1,212 บาท

หากเสียหายหลังจากเพาะปลูกมาได้ตั้งแต่ 61 วัน จนถึงวันที่เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิต บริษัทประกันจะชดเชยให้ไร่ละ 1,400 บาท รัฐบาลชดเชยให้อีก 606 บาท รวมเป็นเงิน 2,006 บาท จ่ายเบี้ยน้อยแต่ได้สุดคุ้ม!

ในเบื้องต้นคาดว่าน่าจะมีเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการประกันภัยพืชผล ไม่น้อยกว่า 810 ล้านไร่ ที่น่าจะเป็นชุดนำร่องพื้นที่แค่ 10 ล้านไร่ ที่จะเข้ามารอบนี้คิดเป็น 15% ของพื้นที่เพาะปลูก แต่หากเปิดครบสูตรจะมีเกษตรกรที่เพาะปลูกร่วมที่ 57 ล้านไร่ เอาแค่สัดส่วนของเกษตรกรคนไทยทั่วทั้งประเทศถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรคนละ 20 ไร่ หมายถึงว่าจะมีเกษตรกรที่ได้รับการคุ้มครองความเสี่ยงจากความเสียหายในการ เพาะปลูกถึง 2.5 ล้านครอบครัว

คน 2.5 ล้านครอบครัว ที่กระจัดกระจายอยู่ในทุกจังหวัดนั้น ถือว่ามากมายมหาศาลในทางการจัดการภาครัฐ

ขณะนี้บริษัทประกันภัย 8 บริษัท สนใจเข้าร่วมคือ วิริยะประกันภัย ทิพยประกันภัย กรุงเทพประกันภัย เมืองไทยประกันภัย อาคเนย์ประกันภัย นวกิจประกันภัย ประกันภัยไทยวิวัฒน์ และไทยเศรษฐกิจประกันภัย และจะส่งให้บริษัทต่างชาติช่วยรับประกันภัยต่อ 80% เพื่อลดความเสี่ยง

ดูผิวเผินการคิกออฟโครงการประกันภัยพืชผลอาจไม่มีอะไรในกอไผ่ แต่ความเป็นจริงแล้วไซร้ นี่คือการการันตีในเรื่องรายได้ให้กับเกษตรกรที่ทรงพลัง

โครงการประกันภัยพืชผลชุดนี้ น่าจะเป็นโครงการที่ทำต่อเนื่องจากโครงการประกันรายได้ เพื่อเสริมความเข้มแข็งให้เกษตรกรไทย ที่ในอดีตต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เกิดจากภัยธรรมชาติ ไม่ว่าจะฝนตก น้ำท่วม หรือฝนแล้งก็หน้าแห้งเหี่ยว

ขณะที่รัฐบาลเองก็ต้องทุ่มงบประมาณจำนวนมากในการควักกระเป๋าจ่ายค่าชดเชย ความเสียหายให้เกษตรกรปีหนึ่งๆ รวมแล้วเป็นเงิน 5-6 หมื่นล้านบาท พอจัดโครงการประกันภัยพืชผลทางการเกษตร ย่อมทำให้คนได้ประโยชน์จากโครงการนี้มีกันแบบถ้วนหน้า เกษตรกรเองจะได้รับเงินชดเชยต่อไร่เพิ่มขึ้น

แน่นอนว่ารัฐบาลก็จะลดภาระงบประมาณในการจ่ายเงินชดเชยความเสียหายจากภัย ธรรมชาติลดลง บริษัทประกันภัยเองก็คาดว่าน่าจะได้ค่าเบี้ยประกันภัยไม่น้อยกว่า 960-1,200 ล้านบาท

แม้เสียงจากเกษตรกรบางกลุ่มยังเห็นว่า รัฐบาลมุบมิบทำโครงการนี้ ทั้งๆ ที่ยังไม่เคยมีการประชาสัมพันธ์ หรือการทำประชาพิจารณ์ให้เกษตรกรทั้งประเทศได้รู้

ที่สำคัญคือ โครงการนี้ไม่ครอบคลุมปัญหาหลักของเกษตรกรคือ “เพลี้ยกระโดด” และการจ่ายเงินชดเชยก็ไม่คุ้มกับต้นทุนที่แท้จริงในการทำนาของเกษตรกร ซึ่งปัจจุบันมีต้นทุนต่อไร่สูงถึง 5,000-6,000 บาท หรืออาจมากกว่านั้นแล้วแต่พื้นที่

เริ่มตั้งแต่ค่าไถ ค่าชักร่อง ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าหว่าน ค่าปุ๋ย ยาบำรุง ยาคุมแมลง ค่าวิดน้ำเข้า-ออก ที่สำคัญราคาปุ๋ยและน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรปลูกข้าวต้องแบกรับต้นทุนการทำนาที่สูงขึ้น

พวกเขาแย้งว่า กรณีที่ให้เสียเบี้ย 50 บาท เพื่อรอรับเงินชดเชยที่ไร่ละ 1,212 หรือไร่ละ 2,006 บาท อาจสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรในพื้นที่ที่มีปัญหาน้ำท่วมหรือเจอภัยแล้งซ้ำซาก ได้

แต่อาจไม่จูงใจให้เกษตรกรทั่วไปหันมาซื้อประกัน เพราะเชื่อว่าในที่สุดแล้วรัฐบาลก็ต้องจ่ายชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นให้ เกษตรกร เช่นที่ผ่านมาล่าสุดรัฐบาลจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรที่ประสบอุทกภัยไร่ละกว่า 1,200 บาท

ขณะที่บริษัทประกันภัยเองก็กลัว “เจ๊กอั้ก” หลังถูกบีบให้เข้าร่วมโครงการนี้ จึงได้ต่อรองกระทรวงการคลังขอเริ่มทำโครงการใน 15% ของแต่ละพื้นที่ก่อน เพราะคำนวณคร่าวๆ แล้วยอดเงินที่ต้องคุ้มครอง หรือเงินชดเชยที่ต้องจ่ายอาจมีจำนวนสูงถึงปีละ 1.12-1.4 หมื่นล้านบาท

ดังนั้น จึงควรคัดเลือกพื้นที่ว่า พื้นที่ไหนควรได้รับการประกันภัยเหล่านี้ รวมทั้งได้ยื่นข้อเสนอให้ ธ.ก.ส.กระจายความเสี่ยงด้วยการหาลูกค้าในพื้นที่ที่ไม่มีความเสี่ยงเข้ามาทำ ประกันด้วย

แต่ไม่ว่าข้อเสนอเหล่านั้นจะมีคุณค่าแค่ไหน กระทรวงการคลังในฐานะหัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อนโครงการนี้ก็สั่ง “เล่นลูก” ทันทีก่อนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเพียง 6 วัน เพราะเชื่อว่าพลังของเกษตรกรจะเปลี่ยนกระแสความคิดทางการเมืองที่เชี่ยวกราก ได้ ขอเพียงแค่เกษตรกรคิดว่า ประกันราคาข้าว มันสำปะหลัง นั้นชาวบ้านได้กันถ้วนหน้าจากราคาที่รัฐบาลการันตี

มาบัดนี้ยังมีการคุ้มครองความเสียหายให้อีก ไม่ต้องหน้าเหี่ยวหน้าแห้งกับการลงแรงไปแล้วโดนธรรมชาติลงโทษ ทัศนคติเพียงแค่นี้ก็อาจเกิดกำแพงสกัดกั้นพลังแดงที่มาแรงได้

แม้ นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จะออกมาให้ความเห็นว่ารัฐบาลยังไม่ควรรีบทำโครงการนี้ เพราะมีตัวอย่างในหลายประเทศที่ทำประกันภัยพืชผลแล้วล้มไม่เป็นท่า เหลือแต่สหรัฐและยุโรปหรือในประเทศร่ำรวยในบางประเทศเท่านั้นที่ยังทำไป แต่ก็มีเรื่องราวฟ้องร้องกันไประหว่างเจ้าของฟาร์มและบริษัทประกันที่มีความ เห็นไม่ตรงกันเรื่องความเสียหาย

ดังนั้น รัฐบาลควรมีการลงทุนเรื่องข้อมูล ด้วยการพัฒนาระบบไอทีของแผนที่ทางอากาศ รวมถึงต้องมีระบบการตรวจสอบพื้นที่น่าเชื่อถือได้เพื่อลดความสูญเสีย แม้ว่าการพัฒนาระบบเหล่านี้จะเป็นต้นทุนที่สูง และบริษัทประกันจะต้องผลักต้นทุนมาให้เกษตรกร ส่งผลให้เบี้ยประกันจะต้องแพงกว่านี้ก็เป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะการที่รัฐบาลโยนภาระการทำงานด้วยการเลือกใช้คณะกรรมการระดับหมู่บ้าน เพื่อตัดสินว่า พื้นที่ไหนเสียหายสิ้นเชิง และควรได้รับเบี้ยประกันนั้น มีโอกาสที่จะรั่วไหลได้มากหากใช้วิจารณญาณของเจ้าหน้าที่หรือบุคคล

ในที่สุดจะเกิดปัญหาข้อพิพาทในชุมชนตามมาอย่างมากมาย หากทางบริษัทประกันเห็นว่าไม่ได้เสียหายถึงขั้นที่บริษัทต้องจ่ายเงินชดเชย และสุดท้ายรัฐบาลก็ต้องจ่าย 2 เด้ง คือ ต้องจ่ายเงินชดเชยให้ทั้งเกษตรกรที่เข้าและไม่เข้าโครงการ

นักวิชาการทีดีอาร์ไอยังเห็นว่า การทำประกันภัยพืชผลเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะต้นเหตุของปัญหาคือ “ภัยธรรมชาติ” ที่คาดว่าจะรุนแรงขึ้นตามภาวะโลกร้อน

ดังนั้น การแก้ปัญหาคือ การหาทางรับมือกับภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น โดยต้องมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อเข้ามาลงทุนในโครงการพื้นฐาน เช่น การทำอ่างเก็บน้ำ โครงการแก้มลิง เขื่อน หรือการทำช่องทางระบายน้ำในพื้นที่ที่น้ำท่วมซ้ำซาก และควรหาระบบในการจ่ายเงินชดเชยที่มีประสิทธิภาพกว่านี้ เพื่อลดภาระงบประมาณ และนำเงินงบประมาณที่ประหยัดได้เข้าไปลงทุนในโครงการพื้นฐานของประเทศต่อไป

แต่นั่นก็คือความเห็นและข้อเสนอแนะ แต่การนำนโยบายไปปฏิบัตินั้นเครื่องติดไปแล้ว

แม้จะเห็นช่องโหว่ในหลายเรื่องที่จะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามนโยบาย แต่การที่จะปล่อยให้เกษตรกรเสี่ยงดวงรับมือกับภัยธรรมชาติ ไม่สามารถตอบโจทย์ทางการเมืองได้ ประกันภัยพืชผลทางการเกษตรจึงมีการผ่าทำคลอดออกมาก่อนกำหนด เพราะอนาคตทางการเมืองนั้นมีพลังมากมายที่ต้องนำนโยบายไปปฏิบัติแล้วค่อยแก้ ค่อยขันนอตกันใหม่ในอนาคต

นี่คือความจริงของนโยบายของประเทศไทย...

Tags : คิกออฟ ประกันพืชผล เร่งมือทำ เสริมพลังเกษตรกร

view