จาก คมชัดลึกออนไลน์
คมชัดลึก : เมื่อกล่าวถึงงานวิจัย หลายคนพอได้ยินก็ส่ายหัว เพราะรู้กันดีอยู่ว่าการจะทำงานวิจัยให้ได้ผลในเชิงปฏิบัตินั้นยาก แสนยาก ไหนจะต้องมีเงื่อนไขมากมาย ทั้งความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และปัจจัยแวดล้อมต่างๆ มากมาย แต่อาจารย์ยักษ์อยากเสนอแนะแนวทางการวิจัยที่เหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบัน สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และที่สำคัญผู้ปฏิบัตินั้นมีส่วนร่วมกับงานวิจัยนั้นด้วย
งานวิจัยที่อาจารย์ยักษ์เห็นว่าเป็นแนวทางที่ควรจะเป็นของงานวิจัยทางสังคมในปัจจุบัน และไม่ถูกนำไปเก็บไว้ขึ้นหิ้ง คือ งานวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อค้นหายุทธศาสตร์ในการปรับตัว หรือตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษไว้ว่า “PAR (Participatory Action Research) for Crisis Adaptation Strategy” ซึ่งเป็นงานวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือของนักวิชาการในรั้วมหาวิทยาลัย กับชาวบ้านในท้องถิ่น ซึ่งเริ่มดำเนินการแล้วในมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งโครงการนี้ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ได้รับการสนับสนุนจากจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อทำการค้นหายุทธศาสตร์การจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วม แต่ก็เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และสามารถขยายผลไปยังงานวิจัยในรูปแบบเดียวกันได้
กรอบแนวคิดของการวิจัยนั้นมาจากการที่มหาวิทยาลัยควรจะได้มีหน้าที่ในการค้นหาคำตอบ โดยอาศัยเครื่องมือคืองานวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม โดยมองถึงความเปลี่ยนแปลงเชิงสังคมในหลายๆ ด้านที่จะมีผลกระทบต่อพื้นที่ซึ่งมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ โดยจะต้องหยิบเอาประเด็นที่ส่งผลกระทบกับพื้นที่ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนสิ่งแวดล้อม เช่น เมื่อจีนเทเงินลงมาแสนล้านดอลลาห์ ก็หมายถึงสามสิบกว่าล้านล้านบาท จะไหลเข้ามาในพื้นที่ จะมีผลกระทบอะไรบ้าง ทั้งทางบวกและทางลบ ก็จะต้องหยิบยกประเด็น หรือ issue เหล่านี้ขึ้นมาเป็นหัวข้อการวิจัย โดยเอาวางร้อยเรียงกัน ให้ครบทั้งมิติ เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน อุตสาหกรรม เกษตรกรรม ความมั่นคงด้านอาหาร
โดยมีมิติที่สำคัญ 2-3 ด้าน คือ มิติที่เกิดจากภูมิอากาศของโลกแปรปรวน ผู้คนในสังคมจะต้องปรับตัวอย่างไร (Climate Change Adaptation) มิติด้านสังคม (Social Change Adaptation) และมีติด้านเศรษฐกิจ (Economic Change Adaptation) ทั้ง 3 ด้านนี้จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงและรุนแรงต่อสังคม จะต้องมีงานวิจัยออกมาบอกกับคนทั้งภูมิภาคนี้ว่า คุณจะอยู่ไม่ได้ถ้าคุณไม่ปรับตัว แม้กระทั่งในระดับมหาวิทยาลัยเอง
มหาวิทยาลัยก็จะต้องตระหนักว่า มหาวิทยาลัยจะได้รับผลกระทบไหมหากเกิดการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ หากมีมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศ ลงมาเปิดสาขาในประเทศ ในพื้นที่ใกล้เคียง สอนและให้ความรู้ด้วยวิชาที่ปรับเปลี่ยนให้ทันกับยุคสมัย ด้วยภาษาที่เป็นสากล แล้วมหาวิทยาลัยในพื้นที่ หรือมหาวิทยาลัยท้องถิ่นจะอยู่ได้อย่างไร
แน่นอนว่า มหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ที่มีเครือข่ายกับต่างประเทศ เขาก็ปรับตัวได้ เอาตัวรอดได้ แต่มหาวิทยาลัยที่ไม่มีเครือข่าย หรือไม่สามารถปรับตัวได้จะอยู่ได้อย่างไร มหาวิทยาลัยต้องตระหนักว่า ภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วนี้จะสอนวิชาอะไร ที่สามารถผลิตบัณฑิตที่เมื่อจบมาแล้วเหมาะสมกับความจำเป็นในอนาคต
ทั้งนี้ อาจารย์ยักษ์หมายถึงความจำเป็น ที่มีความหมายถึง need ไม่ใช่ want ที่แปลได้ว่าความต้องการตลาดอย่างที่เป็นอยู่นี้ และหนทางเดียวที่มหาวิทยาลัยจะรู้ว่าตัวเองจะต้องปรับตัวอย่างไร ก็คือ การทำงานวิจัยที่สามารถชี้นำได้ นำไปกำหนดยุทธศาสตร์ได้ ปรับลงสู่การปฏิบัติได้ เป็นหนึ่งในแนวทางการปรับตัวของมหาวิทยาลัย เพื่อให้มหาวิทยาลัยเองรอดได้ ปรับตัวได้เช่นกัน
ทว่า หากมหาวิทยาลัยจะไม่ปรับตัว จะสอนวิชาเดิมๆ วิทยาลัยต่างๆ ก็จะสอนวิชาเดิม ครูที่สอนอยู่ในภูมิภาคทั้งหมด กี่ร้อยกี่พันโรงเรียนก็ไม่ยอมปรับตัว ถ้าเป็นแบบนี้ อาจารย์ยักษ์มองไม่เห็นเลยว่าเราจะรอดจากความเปลี่ยนแปลงที่ห้ามไม่ได้นี้ได้อย่างไร แต่หากยอมที่จะเหนื่อย ยอมที่จะฮึด เพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลง
อาจารย์ยักษ์ก็ฟันธงว่ามีทางรอด และรอดได้อย่างภาคภูมิใจแน่นอน!
"อาจารย์ยักษ์ มหา’ ลัยคอกหมู"