จาก วารสารเทคโนโลยีชาวบ้าน
ว่าที่ ร.ต.หญิง พิมพ์ใจ กัญชนะ
กุหลาบโครงการหลวงอินทนนท์ ชาวเขาปลูก...มีอาชีพ มีรายได้
งาน ปลูกกุหลาบของโครงการหลวงเป็นการเพาะปลูกที่มีศักยภาพ เน้นการผลิตกุหลาบให้มีทั้งคุณภาพ ปริมาณและความสม่ำเสมอ โดยอาศัยเทคโนโลยีการผลิตและสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต โดยเฉพาะการเพาะปลูกกุหลาบบนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลมากกว่า 800 เมตร ที่สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งปัจจุบันได้จัดทำเป็นแปลงผลิตและสาธิตการปลูกกุหลาบแก่เกษตรกร รวมทั้งเป็นแหล่งเพาะต้นพันธุ์กุหลาบเพื่อส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่
คุณ อนันต์ แสนใจเป็ง เจ้าหน้าที่ส่งเสริมไม้ดอก สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ เล่าว่า การปลูกกุหลาบเริ่มจากโรงเรือนที่ได้มาตรฐานของโครงการหลวง (กว้างxยาวxสูง = 6x24x4 เมตร) ทำชั้นวาง 3 แถว ต่อ 1 โรงเรือน ชั้นวางประกอบด้วยอิฐบล็อค เหล็กแป๊บประปา ขนาดครึ่งนิ้ว กระเบื้องลอนคู่เล็ก น็อตเบอร์ 10 ซิลิโคลน และปูนซีเมนต์ผสมเสร็จ โดย 1 โรงเรือน ปลูกกุหลาบได้ 700 ต้น
ภายในโรงเรือนประกอบด้วยอุปกรณ์ ช่วยในการดูแลรักษา ดังนี้ ระบบให้ปุ๋ย ซึ่งเป็นระบบน้ำหยด สารละลายปุ๋ยน้ำความเข้มข้น 1 : 200 เท่า อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบด้วย แท็งก์ปุ๋ยขนาด 2,000 ลิตร ปั๊มน้ำขนาด 1 แรง 1 นิ้ว ตู้ควบคุมการปิด เปิดอัตโนมัติ ระบบท่อส่ง พีวีซี และท่อ พีอี พร้อมชุดหัวน้ำหยดแยก 4 สาย พร้อมขาปัก การให้ปุ๋ยน้ำจะให้ 2 ครั้ง ต่อชั่วโมง หรือ 14 ครั้ง ต่อวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-15.00 น. เฉลี่ยแล้วกุหลาบจะใช้ปุ๋ยน้ำ 1 ลิตร ต่อต้น ต่อวัน
ระบบพ่นหมอก เป็นการเพิ่มความชื้นให้แก่สภาพแวดล้อม โดยเฉพาะในฤดูร้อนประมาณ 60-80% เพื่อให้ต้นพันธุ์แทงกิ่งได้ดี และช่วยลดการแพร่ระบาดของไรแดงและเพลี้ยไฟ โดยจะเปิดน้ำพ่นหมอก 4 ครั้ง ต่อชั่วโมง ครั้งละ 5 นาที ช่วงเวลา 10.00-16.00 น.
ระบบระบายอากาศ ติดตั้งพัดลมขนาด 16 นิ้ว โรงเรือนละ 1 เครื่อง เพื่อหมุนเวียนอากาศ เมื่อมีความชื้นสูงภายในโรงเรือน เปิดจนกว่าหมอกจะจางหาย ช่วยให้ไม่เกิดหยดน้ำบริเวณปากใบ ทำให้ลดการระบาดของโรคราแป้ง และราน้ำค้าง
ระบบ ไฟฟ้าแสงสว่าง ติดตั้งโคมไฟฟ้าแบบประหยัดพลังงาน เปิดในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว เมื่ออากาศปิด หมอกลงจัด เป็นการเพิ่มช่วงแสงและความชื้นให้กับกุหลาบแทงกิ่งได้ตามปกติ
สำหรับ การเตรียมต้นพันธุ์ ส่วนใหญ่ใช้ต้นตอกุหลาบพันธุ์มัลติฟอร่า เป็นตอพันธุ์มีขนาดเท่าแท่งดินสอ หรือเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ยาว 20 เซนติเมตร ปักชำลงในถุงพลาสติคสีดำ ขนาด 2x5 นิ้ว เมื่ออายุ 3 เดือน ติดตาพันธุ์ดีแบบตาโล่ และย้ายปลูกในถุงขาวนม ขนาด 7x14 นิ้ว โดยใช้วัสดุปลูก กาบมะพร้าวสับละเอียด ขุยมะพร้าว แกลบ ทราย ในอัตราส่วน 3:3:3:1 นำไปวางบนชั้น วางเรียง 2 แถว หันด้านที่ติดตาออกด้านนอก เพื่อสะดวกต่อการเปิดตาและพับกิ่ง
พันธุ์ที่ปลูก ได้แก่ Royal Glory, Nice Day, Innosent, Titanic, Cool Water, Eliza, Avalanch, Royal Baccara, Black Magic, Dolce Vita, Skyline
ส่วนการเปิดตาดอกจะเปิด เมื่อกุหลาบติดตาอายุได้ 1 เดือน โดยใช้มีดกรีดพลาสติคด้านข้างของตุ่มตาเท่านั้น บริเวณแผ่นตาด้านบนและด้านล่างจะไม่กรีดพลาสติค เพื่อให้พลาสติครัดแผ่นตาไว้จนกว่ากิ่งใหม่จะเจริญจนหุ้มต้นตอ จึงจะแกะพลาสติคออก และการพับกิ่ง เด็ดดอกแรกทิ้งเมื่อดอกตูมเท่าเมล็ดถั่วเหลือง รอจนกว่าจะเกิดยอดใหม่ 3-4 ยอด บริเวณกิ่งเดิมจึงทำการพับกิ่งลง 45 องศาเซลเซียส บริเวณโคนกิ่ง โดยใช้มือบีบแล้วบิดและพับลง หรือถ้าเป็นกิ่งที่แข็ง ใช้คีมหนีบก่อนแล้วพับ หลังจากนั้นประมาณ 2 เดือน จึงพับกิ่งที่ 2 และ 3 เพื่อเป็นแหล่งเตรียมอาหารให้กับกิ่งกระโดง ซึ่งเป็นผลผลิตที่มีคุณภาพ
ส่วน ผลผลิต ดอกกุหลาบที่กำลังตูมจะห่อด้วยกระดาษปรู๊ฟสีน้ำตาล เพื่อป้องกันกลีบกุหลาบกลีบนอกสุดมีสีคล้ำหรือสีดำโดยเฉพาะดอกสีแดง เนื่องจากแสงแดดมีแสงอัลตราไวโอเลตมากเกินไป การห่อดอกยังช่วยป้องกันเพลี้ยไฟเข้าทำลายดอก และป้องกันไม่ให้ดอกถูกสารเคมีในขณะพ่นสารเคมีทำให้ดอกสะอาด
การตัด ดอกตัดวันละ 2 ครั้ง เช้าและบ่าย เพื่อให้ได้ดอกที่มีระยะบานของดอกเท่ากัน เมื่อตัดดอกแล้วจะนำมาแช่สารละลายกรดซิตริก 1 กรัม ต่อน้ำ 2 ลิตร ทันที ใช้เวลา 1-2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันดอกเหี่ยว ซึ่งการตัดดอกนั้นจะคัดเกรดคุณภาพดอก เกรด EX ขนาดดอก 4 เซนติเมตร ความยาวก้าน 70 เซนติเมตร เกรด 1 ขนาดดอก 3.5 เซนติเมตร ความยาวก้าน 60 เซนติเมตร เกรด 2 ขนาดดอก 3 เซนติเมตร ความยาวก้าน 50 เซนติเมตร และเกรด 3 ขนาดดอก 2.5 เซนติเมตร ความยาวก้าน 40 เซนติเมตร ภายหลังจากคัดเกรดดอกแล้วนำมาเข้ากำตามเกรดดอก กำละ 10 ดอก ห่อด้วยพลาสติคใส ติดสติ๊กเกอร์เกรดดอก และแช่สารละลายเกล็ดเงินไธโอซัลเฟต 1 กรัม ต่อน้ำ 2.5 ลิตร ใช้เวลา 2-4 ชั่วโมง เพื่อยืดอายุการปักแจกัน ต่อจากนั้น นำไปบรรจุในกล่องพลาสติคใส่น้ำสะอาด เก็บไว้ในห้องเย็นอุณหภูมิ 2-5 องศาเซลเซียส เพื่อรอการขนส่งต่อไป
ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่ม เติมได้ที่ คุณอนันต์ แสนใจเป็ง เจ้าหน้าที่ส่งเสริมไม้ดอก สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ มูลนิธิโครงการหลวง โทร. (053) 286-770, (087) 193-4093