สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สศก.เผยดัชนีความผาสุกเกษตรกรพุ่ง4ปีหลัง

สศก.เผยดัชนีความผาสุกเกษตรกรพุ่ง4ปีหลัง

สศก. ระบุดัชนีความผาสุกปี 53 มีค่า 79.93 %ชี้เกษตรกรไทยมีความสุขเพิ่มขึ้น เผยด้านเศรษฐกิจต้องปรับปรุงรายได้-การออมและสัดส่วนหนี้ต่อครัวเรือ
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)เปิดเผยว่า จากการศึกษา ด้านความผาสุกในปี 2553 พบว่าเกษตรกรไทยมีความสุขเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายและการปฏิบัติงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ตอบสนองความต้องการของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรได้โดยตรง

ทั้งนี้ สศก. ได้ดำเนินการจัดทำและวัดค่าดัชนีความผาสุกของเกษตรกร อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2550 เพื่อให้เป็นตัวบ่งชี้วัดระดับการพัฒนาทางการเกษตร สามารถนำไปใช้เสนอแนวทางในการพัฒนาการเกษตรและความผาสุกของเกษตรกร ซึ่งดัชนีความผาสุก มีองค์ประกอบ 5 ด้าน คือ เศรษฐกิจ สุขอนามัย การศึกษา สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยทุกองค์ประกอบจะต้องมีการดำเนินงานพัฒนาไปพร้อมๆกัน เพื่อให้เกิดความสมดุลและมีผลต่อความอยู่ดีมีสุขของเกษตรกร

จากผลการศึกษาคำนวณค่าดัชนีความผาสุกของเกษตรกรในภาพรวม ปี 2553 พบว่า ดัชนีความผาสุกของเกษตรกร ที่บ่งชี้ภาพรวม มีค่า 79.93 % เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ 79.46

ส่วนผลการศึกษาในแต่ละด้าน มีดังนี้ ดัชนีด้านเศรษฐกิจ มีค่า 68.06% ที่ต้องปรับปรุง คือ รายได้ของครัวเรือน การออมของครัวเรือน และสัดส่วนหนี้สินต่อทรัพย์สินของครัวเรือน

ดัชนีด้านสุขอนามัย มีค่า 98.56 % จัดอยู่ในระดับที่ดีมาก เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบาย ส่งเสริมการให้บริการด้านความรู้ในการดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างทั่วถึงมากขึ้น

ดัชนีด้านการศึกษา มีค่า 58.62 % ที่ต้องปรับปรุง คือ ระดับการศึกษาของสมาชิกครัวเรือนเกษตร การถ่ายทอดเทคโนโลยีและฝึกอบรมให้กับเกษตรกร ดัชนีด้านสังคม มีค่า 91.91 % จัดอยู่ในระดับที่ดีมาก

ดัชนีด้านสิ่งแวดล้อม มีค่า 67.11 % ที่ต้องปรับปรุง คือ สัดส่วนพื้นที่ป่าไม้ต่อพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ การฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรดินยังดำเนินการได้น้อยเมื่อเทียบกับพื้นที่เสื่อมโทรมทั้งหมดของประเทศ

สำหรับแนวทางพัฒนาเพื่อให้เกษตรกรมีความผาสุกมากขึ้น ควรพัฒนาดังนี้ 1. สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยพัฒนาระบบการผลิตให้สามารถใช้ปัจจัยการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขยายฐานการผลิตให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ สนับสนุนการจัดที่ดินทำกินให้เกษตรกรและให้เกษตรกรมีเอกสารกรรมสิทธิ์ที่ดินทำกินถูกต้องตามกฎหมาย

2. สนับสนุนการออม รณรงค์ให้ครัวเรือนเกษตรประหยัดและมีการออม สนับสนุนการให้ความรู้การจัดทำบัญชี 3. สนับสนุนให้สมาชิกครัวเรือนเกษตรมีโอกาสได้เรียนสูงกว่าภาคบังคับ ให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและฝึกอบรมแก่เกษตรกรมากขึ้น ปรับกระบวนการเรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะความสามารถ สนับสนุนการทำงานของศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรและศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง

4. สนับสนุนการฟื้นฟูดินและปลูกป่าเพิ่ม เพื่อสร้างความสมดุลในระบบนิเวศให้มากขึ้น สนับสนุนการจัดการป่าชุมชน ฟื้นฟูและป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน โดยการใช้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ สร้างองค์ความรู้และเผยแพร่เทคโนโลยีในการฟื้นฟูบำรุงดินและพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรอาสาสมัคร

Tags : สศก. เผยดัชนีความผาสุก เกษตรกร พุ่ง4ปีหลัง

view