จากเวปไซต์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำการศึกษาพบไส้เดือนแอฟริกาตัวใหญ่เจริญเติบโตเร็ว ให้ลูกมาก เหมาะสำหรับเลี้ยงเป็นอาหารสัตว์ และกำจัดขยะอินทรีย์ผลิตปุ๋ยหมักได้ดี
รศ.ดร.สมชัย จันทร์สว่าง อาจารย์ประจำภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตรฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เริ่มศึกษาและทดสอบการเลี้ยงไส้เดือนแอฟริกาในประเทศไทย ณ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ทดลองของภาควิชาสัตวบาลมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2543 จนได้ผลเป็นที่แน่ใจแล้วว่า ไส้เดือนชนิดนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อระบบ นิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพของดิน จึงได้เผยผพร่ไส้เดือนชนิดนี้ให้แก่เกษตรกร นักสิ่งแวดล้อมและผู้สนใจการเลี้ยงไส้เดือนโดยทั่วไป และปัจจุบัน ไส้เดือนแอฟริกาได้รับความนิยมเลี้ยงกันอยู่ในกลุ่มคนเลี้ยง ไส้เดือน เพื่อการค้าและผู้ที่มีหัวก้าวหน้า รวมทั้งชาวต่างประเทศที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยจำนวนหนึ่ง
ไส้เดือนแอฟริกาเป็นไส้เดือนที่อาศัยอยู่หน้า ดิน ( soil surface dwelling species) กินอาหารที่เป็นอินทรีย์วัตถุทุกชนิด เช่น มูลสัตว์ เศษอาหาร เศษเหลือทางการเกษตร เศษผักหญ้า และใบไม้ในปริมาณสูงมากต่อวัน เมื่อไส้เดือนชนิดนี้หลุดลงไปในดิน จึงไม่สามารถเจริญเติบโตและอยู่รอด ได้ในสภาพธรรมชาติโดยทั่วไป
ดังนั้นการเลี้ยงดูต้องมีการควบคุมปัจจัยการ เลี้ยงที่เหมาะสม และให้อาหารมากสามารถเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และ ให้ลูกมาก ไส้เดือนชนิดนี้ได้รับความนิยมนำเข้าไปเลี้ยงในประเทศต่างๆทั่วโลก จากการเก็บข้อมูลการเลี้ยงไส้เดือนแอฟริกาที่ภาควิชาสัตวบาลพบว่า ไส้เดือนชนิดนี้เป็นไส้เดือนขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาไส้เดือน 6 ชนิด ที่นิยมเลี้ยงกัน โดยทั่วไป มีขนาดเมื่อโตเต็มที่ยาว 12 นิ้ว น้ำหนัก 1.8 กรัม ต่อตัว มีจำนวนปล้องโดยทั่วไป188 - 297 ปล้อง
ไส้เดือนแอฟริกาผลิตไข่ซึ่งเป็นโคคูน 3.6 ใบต่อสัปดาห์ เปอร์เซ็นต์ฟัก 80 เปอร์เซ็นต์ ให้ลูกเฉลี่ย 2.3 ตัวต่อโคคูน โดยใช้เวลาที่ไข่ฝัก 2-3 วัน ถึง 2 สัปดาห์ เจริญเติบโตจาก ตัวอ่อนถึงเป็นหนุ่มสาว (เริ่มมีไคลเทลลัมหรือปลอกเนื้อ) ในระยะเวลา 1 เดือน ถึง 2 - 3 เดือน ขึ้นอยู่กับคุณภาพของอาหารที่ใช้เลี้ยง และระยะจากไข่ถึงเป็นหนุ่มสาวใช้ เวลา 40 วัน ถึง 3 - 4 เดือน
การศึกษาทางสัณฐานวิทยา ลักษณะภายนอกและภายในของไส้เดือนแอฟริกาของ นางสาวสุพาภรณ์ ดาคง นิสิตปริญญาโท ภาควิชาสัตวบาล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่า ไส้เดือนแอฟริกามีลำตัวขนาดใหญ่ ลำตัวมีสีเทาอมม่วง ลำตัวด้านท้องแบนเล็กน้อย และมีสีชีดกว่าด้านหลัง ไคลเทลลัมสีขาวขุ่นอยู่ปล้องที่ 13 - 17 ช่องเพศเมียอยู่บริเวณปล้องที่ 13 ช่องเพศผู้วางตัวอยู่ระหว่างปล้องที่ 17 และ 18 ไม่มีช่องหลัง (dorsal pore) อัณฑะวางอยู่บริเวณผนังกั้นระหว่างปล้องที่ 10 กับ 11 และ 11 กับ 12 ถุงเก็บอสุจิอยู่ปล้องที่ 12 และ 13 รังไข่อยู่ระหว่างปล้องที่ 13 และ 14 ถุงรับอสุจิมี 2 คู่ วางตัวอยู่บริเวณปล้องที่ 10 และ 11
ไส้เดือนแห้งป่นมีส่วนประกอบของโปรตีนประมาณ 62 เปอร์เซ็นต์ และโปรตีนมีส่วนประกอบของกรดอะมิโนที่จำเป็นอยู่ครบสมบูรณ์ มีส่วนประกอบ ของกรดไขมันประมาณ 9 เปอร์เซนต์ และไขมันก็มีส่วนประกอบของกรดไขมันที่จำเป็นอยู่ครบ จึงเหมาะที่จะเลี้ยงเพื่อนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์เลี้ยง ทั้งในสภาพไส้เดือน เป็น เช่น ใช้เลี้ยงปลาสวยงาม และเป็นเหยื่อตกเบ็ด ที่ปลาชอบและไม่มีกลิ่นคาวไส้เดือนติดมือ และในสภาพไส้เดือนแห้งป่น ทดแทนปลาป่นและกากถั่วเหลืองป่น ซึ่งถ้าเป็นการเลี้ยงไส้เดือน เพื่อวัตถุประสงค์ข้อนี้ไส้เดือนแอฟริกาก็ เป็นชนิดของไส้เดือนที่เหมาะสมมากที่สุด เพราะมีขนาดตัวใหญ่ เจริญเติบโตได้รวดเร็ว ให้ลูกมาก และกินอาหารได้มาก ทำให้เกิดประโยชน์ด้านอื่นไปพร้อมๆ กันด้วยคือ กำจัดขยะอินทรีย์ และการผลิตปุ๋ยหมักจากไส้เดือนที่มีคุณภาพสูง
สำหรับไส้เดือนแอฟริกามีชื่อสามัญ African Nightcrawler ชื่อวิทยาศาสตร์ Eudrilus eugenine เป็นไส้เดือนชนิดหนึ่งจากไส้เดือนจำนวน 6 ชนิด ที่นิยมเลี้ยงกันทั่วโลกในขณะนี้ เพื่อผลิตไส้เดือนเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงเป็นเหยื่อตกเบ็ด เพื่อกำจัดขยะอินทรีย์ และผลิตปุ๋ยหมัก ไส้เดือนแอฟริกาชนิดนี้มีกำเนิดในทวีปแอฟริกาตอนกลาง แต่ปัจจุบันมีการนำไส้เดือนชนิดนี้เข้าไปเลี้ยงในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก อังกฤษ ฝรั่งเศษ สเปน ออสเตรเลีย และ ในทวีปเอเชีย เช่น ประเทศอินเดีย ฟิลิปปินส์ และไทย ในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งมีการเลี้ยงไส้เดือนเป็นการค้ามานาน มีมูลค่าทางการตลาดหลายล้านดอลลาร์ต่อปี ไส้เดือนแอฟริกา ได้รับความนิยมใช้เป็นเหยื่อตกเบ็ดและขายได้ในราคาสูง เป็นพิเศษเมื่อเทียบกับไส้เดือนชนิดอื่น ทั้งนี้ เพราะไส้เดือนแอฟริกาตัวใหญ่เกี่ยวเบ็ดได้ง่าย ปลาชอบ และเลี้ยงได้ค่อนข้างยากในสหรัฐอเมริกาเพราะเป็นไส้เดือนจากเขต ร้อน
สนใจไส้เดือนแอฟริกาและการ เลี้ยงไส้เดือนเพื่อการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุสอบถามข้อมูลได้ที่ รศ.ดร.สมชัย จันทร์สว่าง โทร 0-2579-1120 ,0-2579-0649
แหล่งที่มาของภาพ : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ