สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เลี้ยงไส้เดือนดินผลิตปุ๋ย ขจัดขยะ ผลงานเยี่ยม ของ ดร.อานัฐ ตันโซ แม่โจ้

จาก เทคโนโลยี่ชาวบ้าน มติชนกรุ๊ป

ไชย ส่องอาชีพ

เลี้ยงไส้เดือนดินผลิตปุ๋ย ขจัดขยะ ผลงานเยี่ยม ของ ดร.อานัฐ ตันโซ แม่โจ้

ไส้เดือน ตามพจนานุกรมของมติชนระบุไว้ว่า เป็นชื่อของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหลายชนิด บางชนิดลำตัวมีปล้อง บางชนิดไม่มี เช่น ไส้เดือนดิน ลำตัวเป็นปล้องมักมีชุกชุมตามดินชื้นร่วนซุย ตามใต้กองขยะมูลฝอย ไส้เดือนฝอยรากปน ลำตัวเป็นริ้วไม่เป็นปล้อง เป็นปรสิตตามรากผัก ถั่ว และต้นไม้

ประโยชน์ของไส้เดือนดิน ไม่เพียงช่วยปรับปรุงคุณสมบัติของดินให้ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ อาทิ ปลา นก เป็ด และไก่ ฯลฯ ได้อีกด้วย

อาหารของไส้เดือนดินนั้น จะไม่กินของมีชีวิต แต่เข้าย่อยสารอินทรีย์ที่เริ่มเน่าเปื่อย โดยเฉพาะสารอินทรีย์ที่มีปริมาณไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบอยู่สูง เช่น ในขยะอินทรีย์หรือเศษอาหารจากตลาดหรือจากชุมชน

มิแปลกที่พบเห็นไส้เดือนดินจำนวนมากในบริเวณใต้กองปุ๋ยหมัก กองเศษพืช และกองปุ๋ยคอก ที่กำลังเน่า ซึ่งช่วยให้ดินมีการปรับปรุงอย่างถาวร และเป็นเกษตรอินทรีย์อีกรูปแบบหนึ่ง

ในต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาได้นำไส้เดือนดินมาศึกษาอย่างจริงจัง ทั้งนี้ เพื่อช่วยกำจัดขยะ และสร้างปุ๋ยบำรุงดิน

เมื่อ ปี 2541 ดร.อานัฐ ตันโซ แห่งภาควิชาทรัพยากรดินและสิ่งแวดล้อม คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้เล็งเห็นประโยชน์ของไส้เดือนดิน จึงได้ทำการศึกษาวิจัย โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เครือข่ายภาคเหนือ ซึ่งปรากฏว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก กล่าวคือ ไส้เดือนดินสามารถกำจัดขยะได้อย่างเร็วรวด และยังถ่ายมูลเป็นปุ๋ยที่มีคุณภาพอีกด้วย

"เมื่อ ปี 2540 เกิดปัญหาขยะที่จังหวัดเชียงใหม่มีจำนวนมาก ทำให้เกิดแนวความคิดและความรู้ที่เคยศึกษามาว่า ทำอย่างไร ถึงจะกำจัดขยะได้ โดยไม่ต้องใช้งบประมาณมหาศาลสร้างเตาเผาขยะ รวมถึงไม่เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมด้วย จึงได้ศึกษาเรื่องไส้เดือนดินขึ้นมา ซึ่งในต่างประเทศอย่างเช่น อเมริกา เบลเยียม และออสเตรเลีย เป็นต้น ทำมานานแล้ว และได้ผลเป็นอย่างดี แต่ในเมืองไทยเพิ่งเริ่มและเป็นเรื่องยากในการของบประมาณเพื่อทำให้โครงการลุล่วงไปอย่างสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังหลายๆ ฝ่ายให้ความสนใจและสนับสนุนค่อนข้างดีแล้ว" ดร.อานัฐ กล่าว

งานศึกษาวิจัยดังกล่าวของ ดร.อานัฐ ช่วงแรกนำสายพันธุ์ไส้เดือนดินจากต่างประเทศมาทดลองเลี้ยง ปรากฏว่า ได้ผลดีมาก กล่าวคือ เลี้ยงไส้เดือนดิน 1 กิโลกรัม ภายใน 24 ชั่วโมง สามารถกำจัดเศษผักหรือขยะ1 กิโลกรัม เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ดร.อานัฐ ไม่สามารถขยายผลสู่ผู้ที่สนใจได้ ด้วยเหตุผลสองประการคือ ราคาซื้อขายไส้เดือนพันธุ์ต่างประเทศแพง และที่สำคัญอาจจะทำให้ระบบนิเวศวิทยาหรือสายพันธุ์ไส้เดือนพื้นเมืองเปลี่ยนแปลงไปได้

"ห้องเลี้ยงไส้เดือนดินพันธุ์ต่างประเทศนั้น ผมจะกั้นผนังทั้งสี่ด้าน และล็อกประตูเข้าออกด้วย เพราะว่ากลัวมีใครเข้าไปขโมย ซึ่งจริงๆ แล้วผมไม่ได้เสียดายพันธุ์ แต่กลัวหลุดออกไปสู่ธรรมชาติ เดี๋ยวมันสร้างความเสียหายเหมือนกับหอยเชอรี่ หรือผักตบชวา เป็นต้น" ดร.อานัฐ กล่าว

ระยะหลัง ดร.อานัฐ แก้ปัญหาดังกล่าวโดยเสาะหาไส้เดือนดินสายพันธุ์ไทยจากทุกภาคมาศึกษาการเพาะขยายพันธุ์และคัดเลือกพันธุ์ เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่กินอาหารเก่งและทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดี ปรากฏว่าไส้เดือนดินของไทยที่ดีที่สุด ตอนนี้อยู่ข้างๆ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ชื่อ "คิตะแร่"

"เมื่อเปรียบเทียบพันธุ์ไทย หรือ คิตะแร่ กับพันธุ์ต่างประเทศนั้น ของเราสู้เขาไม่ได้เลย คือกินอาหารน้อยกว่าเกือบเท่าตัวทีเดียว อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ผมกำลังทำโครงการปรับปรุงพันธุ์ไส้เดือนไทย เพื่อคัดพันธุ์ที่กินอาหารเก่งๆ เหมือนกับต่างประเทศ หากได้สายพันธุ์ที่ดีแล้ว ต่อไปจะขยายพันธุ์ให้เกษตรกรหรือผู้สนใจทั่วไป เพื่อช่วยกันผลิตปุ๋ยราคาถูกและช่วยกำจัดขยะอีกทางหนึ่งด้วย" ดร.อานัฐ กล่าว



ลักษณะของไส้เดือนดิน

ไส้เดือนดิน จัดอยู่ในไฟลั่มแอนเนลิดา (Phylum Annelida) ชั้นซีโตโพดา (Class Chaetopoda) ตระกูลโอลิโกซีตา (Order Oligochaeta) วงศ์แลมบริซิลี (Family Lambricidae) ไส้เดือนดินชนิดต่างๆ เท่าที่รู้จักกันมีประมาณ 1,800 ชนิด ไส้เดือนดินที่พบมากในแถบยุโรปและอเมริกาเป็นไส้เดือนดิน ชนิด Lumbricus terrestris ส่วนไส้เดือนดินที่พบมากในประเทศไทยและแถบเอเชียอาคเนย์ ได้แก่ Pheretima peguana และ Pheretima posthum

ลักษณะภายนอกของไส้เดือนดินจะเป็นปล้องตั้งแต่หัวจนถึงส่วนท้ายของร่างกาย มีรูปร่างทรงกระบอกยาว หัวท้ายเรียวแหลม ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร เมื่อโตเต็มที่จะมี 120 ปล้อง มีช่องระหว่างปล้องคั่นแต่ละปล้องไว้ แต่ละปล้องมีเดือยเล็กๆ เรียงอยู่ประมาณ 56 อัน ไม่มีส่วนหัวที่ชัดเจน ไม่มีตา ไม่มีหนวดเหมือนในตัวแม่เพรียง แต่มีไคลเตลลัม เมื่อถึงระยะสืบพันธุ์ไคลเตลลัมจะเห็นได้ชัดเจนอยู่ตรงปล้องที่ 14-16 บนร่างกายมีส่วนต่างๆ ดังนี้

- โพรสโตเมียม มีลักษณะเป็นเนื้อยืดหดได้อยู่บริเวณหน้าสุดของไส้เดือนดิน ยังไม่ถือเป็นปล้อง ทำหน้าที่คล้ายริมฝีปากเท่านั้น

- เพอริสโตเมียม ส่วนนี้นับเป็นปล้องแรกของไส้เดือนดิน อยู่ถัดจากโพรสโตเมียม มีลักษณะเป็นแผ่นเนื้ออยู่ล้อมรอบปากและยืดหดได้

- ปากอยู่ใต้โพรสโตเมียม เป็นช่องทางผ่านเข้าของอาหารเข้าสู่ร่างกาย

- เดือย มีลักษณะเป็นแท่งแข็งคล้ายขนสั้นๆ ช่วยในการเคลื่อนที่และขุดรู

- รูกลางหลัง อยู่ตรงร่องระหว่างปล้องที่ 12/13 เมื่อถูกรบกวนของเหลวในช่องตัวจะถูกปล่อยออกมาทำให้ชุ่มชื้น

- รูขับถ่าย ในแต่ปล้องจะมี 1 คู่ ยกเว้นสามปล้องแรกจะไม่มี ซึ่งทำหน้าที่เป็นทางออกของเสียจากร่างกาย

- รูตัวผู้ เป็นรูสำหรับปล่อยสเปิร์ม มีอยู่ 1 คู่ อยู่ตรงด้านท้องของปล้องที่ 18 ซึ่งมีลักษณะเป็นตุ่มเล็กๆ สำหรับยึดติดกันระหว่างผสมพันธุ์

- รูตัวเมีย เป็นรูออกไข่ มีอยู่เพียงรูเดียว อยู่กลางลำตัวด้านท้อง ปล้องที่ 14

- รูสเปิร์มมาติกา เป็นรูรับสเปิร์มจากไส้เดือนดินอีกตัวหนึ่ง ขณะมีการผสมพันธุ์แลกเปลี่ยนสเปิร์มซึ่งกันและกัน มีอยู่ 3 คู่ ตรงร่องระหว่างปล้องที่ 6/7,7/8 และ 8/9

- ทวารหนัก เป็นรูค่อนข้างแคบ เปิดออกในปล้องสุดท้าย

ดร.อานัฐ ให้ความรู้เพิ่มเติมว่า ไส้เดือนดินมีเพศเป็นกะเทย มีทั้งรังไข่และอัณฑะอยู่ในตัวเดียวกัน แต่ไม่ผสมในตัวเอง เนื่องจากตำแหน่งของอวัยวะสืบพันธุ์ทั้งสองเพศไม่สัมพันธ์กัน และมีการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ไม่พร้อมกัน ไส้เดือนดินทั้งสองตัวจึงต้องมีการแลกเปลี่ยนสเปิร์มซึ่งกันและกัน และเกิดการปฏิสนธิแบบข้ามตัว

"การผสมพันธุ์เริ่มด้วยไส้เดือนดินสองตัวจับคู่กลับหัวกลับหางเอาท้องประกบกัน โดยให้รูตัวผู้ของตัวหนึ่งไปตรงกับรูสเปิร์มมาติกาช่องใดช่องหนึ่งของไส้เดือนดินอีกตัวหนึ่ง จากนั้นแต่ละฝ่ายก็จะปล่อยสเปิร์มเข้าไปเก็บไว้ในถุงสเปิร์มมาติกาของอีกตัวหนึ่ง เสร็จแล้วจึงแยกออกจากกัน ลักษณะเช่นนี้จึงเป็นการผสมข้ามตัวต่อมาเมื่อไข่สุก ไคลเตลลัม จะเริ่มสร้างถุงไข่ขึ้น ถุงไข่เกิดขึ้นจากไคลเตลลัม ปล่อยน้ำเมือกออกมานอกร่างกาย เมื่อถูกกับอากาศจะแห้งกลายเป็นถุงไข่ที่สุกแล้วจะออกจากรูออกไข่ตรงปล้องที่ 14 เข้าไปอยู่ในถุงไข่ที่สร้างเสร็จแล้ว จากนั้นถุงไข่จะค่อยๆ เลื่อนออกมาทางส่วนหัวและรับสเปิร์มมาติกา ตรงปล้องที่ 9,8 และ 7 มาผสมกับไข่ในถุงไข่ ต่อมาถุงไข่จะไปข้างหน้าจนหลุดออกจากหัว แล้วผนึกติดกันกลายเป็นถุงตกอยู่บนพื้นดิน และเจริญเติบโตเป็นไส้เดือนดินต่อไป โดยไม่มีระยะตัวอ่อนเลย"



เตรียมโรงเรือนผลิตปุ๋ยหมักจากมูลไส้เดือนดิน

ในการสร้างโรงเรือนเพื่อผลิตปุ๋ยหมักจากมูลไส้เดือนดินนั้น ดร.อานัฐ บอกว่า สามารถออกแบบได้ตามสะดวกของพื้นที่และงบประมาณ แต่ต้องมีการพรางแสง เนื่องจากไส้เดือนดินไม่ชอบแสงสว่างมากนัก ในบริเวณบ่อเลี้ยงต้องมีตาข่ายปิดด้านบนด้วย เพื่อป้องกันศัตรูของไส้เดือน เช่น หนู นก และมด นอกจากนี้ ด้านล่างของบ่อควรมีท่อ เพื่อรองรับน้ำหมักที่ได้จากการย่อยสลายขยะของไส้เดือน

"ตามปกติไส้เดือนดินเป็นสัตว์รักสงบชอบอยู่ในธรรมชาติ การที่จะนำไส้เดือนมาเลี้ยงเพื่อกำจัดขยะอินทรีย์ รวมถึงกำจัดวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ถ้ารู้จักดัดแปลงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเจริญของไส้เดือนดิน ซึ่งภาชนะที่นำมาเลี้ยงไส้เดือนนั้น จะมีทั้งที่เป็นบ่อดินถัง กระถาง กล่อง ถุง หรือ ถังขยะ ร่องน้ำ กระบะ หรือวัสดุอีกหลายๆ ชนิดก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสะดวก"

ดร.อานัฐ บอกว่า สมมุติว่าต้องการกำจัดขยะสดจากชุมชนที่มีอัตรา 5 ตัน ต่อวัน เราต้องเตรียมพื้นที่บ่อหมักประมาณ 100 ตารางเมตร (โดยคิดค่าความหนาแน่นของขยะสด เท่ากับ 0.5 ตัน ต่อลูกบาศก์เมตร)ความสูงของกระบะควรอยู่ตั้งแต่ 0.8-1.0 เมตร เพื่อให้ปฏิบัติงานได้ง่าย โดยมีความกว้าง ประมาณ 1 เมตร และความยาวที่ไม่จำกัด

"ขยะสดจะมีน้ำเป็นองค์ประกอบไม่น้อยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ในขณะที่หมักและการสลายขยะอินทรีย์โดยไส้เดือนดิน จะมีของเหลวหรือน้ำหมักจากมูลไส้เดือนไหลออกมาจากกองขยะจำนวนมาก การสร้างบ่อรวบรวมน้ำหมักจากมูลไส้เดือนดินจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก จะทำให้น้ำหมักไม่แช่ขังอยู่ในโรงผลิตปุ๋ยหมัก ซึ่งทำให้ไส้เดือนจะหนีขึ้นมาอยู่เหนือน้ำ เนื่องจากหายใจไม่ออก ซึ่งน้ำหมักเหล่านี้มีแร่ธาตุอาหารและปริมาณจุลินทรีย์อยู่เป็นจำนวนมาก โดยทั่วไปการหมักที่สมบูรณ์จะทำให้น้ำหมักที่ได้ไม่มีกลิ่นเหม็น และสามารถนำไปใช้ในการผลิตพืชได้อย่างสมบูรณ์" ดร.อานัฐ กล่าว



เตรียมวัสดุรองพื้น เพื่อเป็นที่อาศัยของไส้เดือนดิน

โดยทั่วไปมักจะใช้วัสดุอินทรีย์สดๆ เป็นวัสดุรองพื้นหนาประมาณ 6 นิ้ว โดยเน้นส่วนที่เป็นผักสีเขียว วัชพืช ขยะสด โดยจะใช้ปุ๋ยคอก โรยบนหน้าให้หนาประมาณ 2 นิ้ว โรยปูนขาวให้ทั่วบริเวณ แล้วจึงให้ความชื้นเล็กน้อย ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักขยะสดหรือให้เปียกชุ่ม แต่ไม่ให้มีน้ำแช่ขังทิ้งไว้ ประมาณ 2-3 วัน จะพบว่าเกิดกระบวนการหมัก สังเกตได้โดยมีความร้อนที่สูงขึ้น ทิ้งไว้ประมาณ 4-6 สัปดาห์ ความร้อนที่เกิดขึ้นจะหายไปหรืออาจเร็วกว่านี้

"การสร้างกองหมักที่หนาเกินไป จะทำให้ระยะเวลาในการหมักนานออกไปเนื่องจากจะเป็นการหมัก โดยกระบวนการที่ไม่ใช้ออกซิเจน ซึ่งมีผลทำให้ยังไม่พร้อมที่จะเป็นที่อยู่อาศัยของไส้เดือนดิน"

ดังนั้น การเตรียมที่อยู่สำหรับไส้เดือนก่อนเริ่มกระบวนการผลิตปุ๋ยหมักจากมูลสัตว์ชนิดนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญและต้องเตรียมการอย่างระมัดระวัง



เลี้ยงไส้เดือนดิน

ดร.อานัฐ กล่าวว่า ปริมาณเริ่มต้นเลี้ยงไส้เดือนดินที่ควรใช้เพื่อเชื่อมกระบวนการกำจัดขยะอินทรีย์ โดยไส้เดือนดินควรเป็นเท่าไร เป็นคำถามยอดฮิตที่ผู้สนใจเทคนิควิธีการกำจัดขยะด้วยวิธีนี้จะถามเป็นคำถามแรก ตามปกติการกำจัดขยะอินทรีย์จะมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อไส้เดือนดินมีน้ำหนัก 2 กิโลกรัม ต่อจำนวนขยะอินทรีย์ที่เริ่มบูดแล้ว ปริมาณ 1 กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม การเริ่มต้นด้วยปริมาณไส้เดือนในอัตรานี้จะเป็นวิธีการที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ดังนั้น ในระยะเตรียมการจึงควรมีปริมาณไส้เดือนดินอย่างน้อย 1 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ ก็จะทำให้ปริมาณไส้เดือนเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และทวีจำนวนมากขึ้นตามสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

"ปริมาณอาหารที่ไส้เดือนต้องการจะแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ และจำนวนไส้เดือน ในสภาพแวดล้อมนั้นๆ โดยปกติไส้เดือนดินชอบอาหารที่มีปริมาณโปรตีนสูง ซึ่งรวมถึงในดินที่มีปริมาณอินทรียวัตถุจำนวนมาก จากการศึกษาของนักวิจัยต่างประเทศพบว่า ปริมาณของถุงไข่ไส้เดือนจะเพิ่มขึ้นมากตามปริมาณอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น จากมูลสัตว์จะมีอัตราการเพิ่มถุงไข่ดีกว่าการให้ตอซังข้าวเป็นอาหารกับไส้เดือน และในอาหารที่มีปริมาณไนโตรเจนสูง ไส้เดือนจะโตเร็ว และสืบพันธุ์ออกลูกได้เป็นจำนวนมากรุ่นกว่าการเลี้ยงในอาหารที่มีปริมาณไนโตรเจนต่ำ"

ดร.อานัฐ กล่าวว่า ปริมาณขยะสดที่ควรเตรียมให้ไส้เดือนดิน ควรจะมีการเตรียมการหมักให้เริ่มบูดเสียก่อน ก่อนที่จะนำมาใส่ในกระบะเลี้ยงไส้เดือน เนื่องจากไส้เดือนไม่กินของสด ไส้เดือนกินอาหารด้วยการดูดเข้าไปในร่างกายจึงกินได้เฉพาะของที่เริ่มบูดเน่าและกำลังสลายตัวเป็นของเหลว ดังนั้น การเตรียมปริมาณขยะสดที่เริ่มบูดเน่าในปริมาณที่พอดีกับจำนวนไส้เดือนดิน หรือมากกว่าเล็กน้อยจึงเป็นสิ่งที่ควรจะนำมาปฏิบัติ เนื่องจากจะเป็นวิธีที่เพิ่มจำนวนออกถุงไข่ของไส้เดือนดิน โดยปกติไส้เดือนดินสายพันธุ์ไทยจะตกถุงไข่ทุกๆ 14 วัน ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ในวัสดุที่ใช้เป็นอาหารของไส้เดือนที่มีปริมาณสารโพลีพีนอล (ใบสน,รากสน) และมีปริมาณลิกนินเป็นองค์ประกอบที่มาก ซึ่งมักจะมีในพืชที่ยืนต้น จะมีส่วนในการลดจำนวนประชากรของไส้เดือน เมื่อนำมาใช้เป็นอาหารของไส้เดือนดิน

ดร.อานัฐ กล่าวอีกว่า ไส้เดือนสายพันธุ์ไทย Pheretima peguana และ Pheretima posthum จะกินอาหารเฉลี่ย 120-150 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กรัม ต่อวัน ทั้งนี้เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในเขตร้อน โดยปกติไส้เดือนดินสายพันธุ์ไทย 1 กิโลกรัม จะมีจำนวนประมาณ 1,200 ตัว จึงควรได้รับอาหารประมาณ 120-150 กรัม ต่อวัน ส่วนไส้เดือนดินสายพันธุ์ต่างประเทศนั้นจะกินอาหารประมาณ 240-300 กรัม ต่อวัน ต่อน้ำหนักไส้เดือน 1 กิโลกรัม ซึ่งเป็นจำนวน 2 เท่า ของอาหารไส้เดือนดินสายพันธุ์ไทย

"เราศึกษาแล้วว่า พันธุ์ต่างประเทศกินอาหารเก่ง แต่เราจะไม่ส่งเสริมให้เลี้ยงกัน เพราะว่าหากหลุดไปอยู่ในดินตามธรรมชาติ อาจจะทำให้ระบบนิเวศวิทยาเปลี่ยนไป ซึ่งในอนาคตเป็นเรื่องไม่แน่นอน เราไม่อยากเห็นเหมือนกับการระบาดของหอยเชอรี่ ซึ่งเป็นสัตว์ที่นำเข้ามา แล้วกลับเป็นโทษ"

"ใครอยากเลี้ยงไส้เดือนเพื่อการค้าหรือเพื่อผลิตปุ๋ยหมักหรือกำจัดขยะ อยากแนะนำให้เป็นสายพันธุ์ไทยมากกว่า แม้ว่ากินอาหารไม่เก่ง แต่ก็ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับสภาพแวดล้อมหรือระบบนิเวศวิทยา ซึ่งขณะนี้ผมพยายามเสาะหาสายพันธุ์ที่กินอาหารเก่งๆ มาขยายพันธุ์ คิดว่าอีกไม่นานคงได้สายพันธุ์ที่กินอาหารเก่งขึ้น" ดร.อานัฐ กล่าวย้ำถึงสายพันธุ์ไส้เดือนดิน



การจัดการโรงเรือน

ในขณะที่ไส้เดือนกำลังกินขยะสดที่ให้ในปริมาณที่เหมาะสม จะพบว่าชั้นของไส้เดือนในกระบะจะมีความสูงมากขึ้นเรื่อยๆ การจัดการอาหารที่ให้กับไส้เดือนดินกินหมดในระยะเวลา 2-3 วัน จึงเป็นสิ่งที่เหมาะสม ทำให้สามารถคำนวณจำนวนของไส้เดือนดินที่มีอยู่ในโรงเรือนได้ อีกทั้งยังทำให้กำหนดปริมาณของปุ๋ยหมักจากมูลไส้เดือนดิน และน้ำหมักจากมูลไส้เดือนดินที่สามารถผลิตได้อีกด้วย

"หลักการในการจัดการโรงเรือนก็คือ การพยายามควบคุมไม่ให้เกิดความร้อนขึ้นในกระบะที่ไส้เดือนดินอาศัยอยู่ เนื่องจากจะเป็นสิ่งที่จำกัดการเจริญเติบโตของไส้เดือนดิน และลดจำนวนไส้เดือนดิน รวมถึงลดการกินขยะสดที่จัดเตรียมเอาไว้ด้วย"

สำหรับเทคนิคการแยกไส้เดือนดินออกจากปุ๋ยหมักมูลสัตว์ชนิดนี้นั้น ดร.อานัฐ บอกว่าสามารถทำได้หลายเทคนิค เช่น การใช้แสงไฟไล่ เนื่องจากไส้เดือนดินไม่ชอบแสง หรือใช้ตะแกรงร่อนด้วยมือก็ได้

ใครอยากเห็นการเลี้ยงไส้เดือนดินด้วยสายตาตัวเอง โปรดติดต่อไปได้ที่ ภาควิชาทรัพยากรดินและสิ่งแวดล้อม คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม้โจ้ ที่นี่มีโรงเรือนเลี้ยงไส้เดือนดินทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่

ไม่แน่ขยะที่เป็นปัญหาของสังคมเมือง อาจแก้ไขได้ด้วยไส้เดือนดิน สัตว์ที่หลายคนรังเกียจ แต่มีประโยชน์มหาศาล



*ศัตรูของไส้เดือนดิน

สำหรับศัตรูไส้เดือนดินนั้น ดร.อานัฐ บอกว่า เป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกล่าโดยศัตรูหลายชนิด ซึ่งรวมถึงมนุษย์ด้วยเช่นกัน ในบางประเทศจะนำไส้เดือนดินมาเป็นอาหารของมนุษย์ เนื่องจากมีโปรตีนสูง มีสารบำรุงที่เหมาะสมสำหรับคนเป็นโรคหัวใจ อีกทั้งยังมีสรรพคุณในการเป็นยาบำรุงเพศในตำราจีน รวมถึงสรรพคุณในการแก้ช้ำใน ที่นักโทษในเรือนจำหลายแห่งในประเทศไทยรู้จักสรรพคุณกันดี

"ไส้เดือนดิน จะถูกล่าโดยสัตว์ปีก โดยจะเป็นอาหารของเป็ด ไก่ นก สุกร พังพอน และสัตว์อีกหลายชนิด ดังนั้น ในการสร้างโรงเรือนจึงจำเป็นที่จะต้องมีตาข่ายมิดชิดในการป้องกันไม่ให้สัตว์เหล่านั้นเข้ามาในโรงเรือน และทำให้ปริมาณไส้เดือนลดลง" ดร.อานัฐ กล่าว



*ประโยชน์ของไส้เดือนดิน

- ไส้เดือนช่วยพลิกกลับดินโดยการกินดิน ทำให้แร่ธาตุในดินผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน ช่วยทำลายชั้นดิน

- ช่วยในการย่อยสลายสารอินทรีย์ที่รวมถึงซากพืชซากสัตว์และอินทรียวัตถุต่างๆ ในดิน

- ส่งเสริมการละลายธาตุอาหารพืชที่อยู่ในรูปอนินทรียสารที่พืชใช้ประโยชน์ไม่ได้ไปอยู่ในรูปที่พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้

- ช่วยในการปรับปรุงโครงสร้างของดิน

- การไชชอนของไส้เดือน ทำให้ดินร่วนซุย



*การกำจัดขยะสดในครัวเรือน

การกำจัดเศษอาหารในครัวเรือน รวมถึงจากวัสดุที่สลายตัวได้ เป็นสิ่งที่นิยมทำกันในหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและมาตรการลดภาษีสิ่งแวดล้อมกับครัวเรือนในชุมชนที่มีรูปแบบการกำจัดขยะสดด้วยตนเอง เป็นแรงผลักดันโดยรูปแบบการจัดการจะสามารถทำได้โดยใช้ชุดเลี้ยงไส้เดือนดินที่เป็นการค้า และออกแบบดัดแปลงเองจากวัสดุหาง่ายที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น ตู้ลิ้นชักพลาสติก ท่อคอนกรีต บ่อดิน กระถาง เป็นต้น



*ระบบย่อยอาหาร

ทางเดินอาหารมีลักษณะเป็นท่อตรง เริ่มตั้งแต่ปากจนถึงทวารหนัก ทางเดินอาหารแบ่งเป็นส่วนๆ และแบ่งหน้าที่กันโดยเฉพาะ ดังนี้

1. ปาก อยู่ใต้ริมฝีปากบน (prostomium) นำไปสู่ช่องปาก (buccal cavity) จนถึงปล้องที่ 3

2. คอหอย (pharynx) เป็นกล้ามเนื้อใหญ่แข็งแรง ช่วยในการดูดอาหารเข้าปาก อยู่ระหว่างปล้องที่ 3 ถึงปล้องที่ 6 บริเวณนี้มีต่อมน้ำลายสร้างน้ำลายซึ่งช่วยหล่อลื่นอาหารด้วย

3. หลอดอาหาร (esophagus) อยู่ระหว่างปล้องที่ 6 ถึงปล้องที่ 14 ตอนต้นๆ ของหลอดอาหารจะพองโตออกเป็นที่พักอาหาร (crop) และกึ๋น (gizzard) กึ๋นเป็นกล้ามเนื้อแข็งแรง ทำหน้าที่บดอาหารให้ละเอียด หลอดอาหารส่วนท้ายจะเป็นท่อขนาดเล็ก

4. ลำไส้ (intestine) ตั้งต้นจากปล้องที่ 14 ไปจนถึงทวารหนักในปล้องสุดท้าย ลำไส้ตรงปล้องที่ 25 มีงวงลำไส้ (intestinal caeca) หรือไส้ติ่งยื่นออกมาทั้งสองข้างของลำไส้ยื่นขึ้นไปทางด้านหน้าจนถึงปล้องที่ 22 ภายในงวงลำไส้มีน้ำย่อย สามารถย่อยและดูดซึมอาหารได้ด้วย

ผนังลำไส้ของไส้เดือนดินค่อนข้างบางและผนังลำไส้ด้านบนจะยื่นเข้าไปข้างในช่องทางเดินอาหาร เรียกว่า ไทโฟลโซล (typhlosole) ทำให้มีพื้นที่ในการย่อยและดูดซึมอาหารได้มากขึ้น ผนังลำไส้ประกอบด้วยชั้นต่างๆ คล้ายผนังลำตัวคือเยื่อบุช่องท้องวิสเซอรอล (visceral peritoneum) อยู่ชั้นนอกสุดของลำไส้ ติดกับช่องตัว เซลล์บางเซลล์บนเยื่อนี้จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์พิเศษ เรียกว่า เซลโคลราโกเจน (chloragogen cells) ทำหน้าที่คล้ายตับ คือสร้างไขมัน และเก็บสารไกลโคเจน (glycogen) และยังทำหน้าที่รวบรวมของเสียจากเลือด และของเหลวในช่องตัว แล้วขับถ่ายออกนอกร่างกายทางรูด้านหลัง หรือเนฟริเดียถัดจากเยื่อบุช่องท้องวิสเซอรอล ของลำไส้เข้าไปเป็นชั้นของกล้ามเนื้อ ชั้นในสุดของลำไส้เป็นเยื่อบุลำไส้ซึ่งประกอบด้วย เซลล์รูปแท่งทรงกระบอก เยื่อชั้นนี้มีเซลล์ต่อม (gland cells) ทำหน้าที่ผลิตน้ำย่อยชนิดต่างๆ เพื่อย่อยอาหารจากโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน

อาหารของไส้เดือนดินเป็นเศษใบไม้และหญ้า เมื่อกินเข้าไปแล้วจะเก็บไว้ที่ถุงพักอาหารชั่วคราว แล้วส่งให้กึ๋นทำหน้าที่บดอาหารให้ละเอียด ภายในกึ๋นมีเม็ดทรายช่วยทำให้อาหารละเอียดยิ่งขึ้น อาหารจะถูกย่อยและดูดซึมภายในบริเวณลำไส้ ส่วนกากอาหารจะถูกขับออกทางทวารหนัก (จำนง, 2527)

ส่วนมากไส้เดือนดินกินพวกพืช เศษหญ้า เศษผัก เป็นอาหาร ทั้งนี้ สังเกตได้ว่าหลังจากที่ไส้เดือนดินขึ้นมาบนพื้นดินเพื่อหาอาหารกินแล้ว จะมีเศษหญ้าเศษพืชต่างๆ ปกคลุมอยู่ตามรูที่มันอาศัยอยู่ นอกจากกินเศษพืชต่างๆ เป็นอาหารแล้ว ไส้เดือนดินยังกินสัตว์เล็กๆ เช่น แมลงและตัวอ่อนของแมลงเป็นอาหารอีกด้วย ดังนั้น จึงจัดไส้เดือนดินอยู่ในสัตว์จำพวกกินทั้งพืชและสัตว์ (omnivorous) ในช่วงฤดูแล้ง ไส้เดือนดินออกหากินลำบาก เพราะผิวดินแห้งแข็ง ไส้เดือนดินไม่สามารถที่จะโผล่ขึ้นมาหากินบนพื้นดินได้ในช่วงเวลานี้ ไส้เดือนดินจะต้องแยกอาหารที่มีปะปนอยู่ในดินภายในลำตัวของมันเอง โดยแยกกากอาหารหรือดินที่ย่อยไม่ได้ออกทางทวารหนัก จะสังเกตได้ว่ากองดินที่อยู่เหนือรูที่ไส้เดือนดินอาศัยอยู่นั้นจะสูง ทั้งนี้ เพราะมีกากอาหารถ่ายออกมามาก อีกประการหนึ่งจะสังเกตได้ว่าในเวลาอาหารสมบูรณ์ เช่น ในฤดูฝน ไส้เดือนดินมักจะขุดรูอยู่ตามผิวดินตื้นๆ เพื่อสะดวกต่อการหาอาหาร แต่เมื่อถึงฤดูหนาวหรือฤดูร้อนไส้เดือนดินจะยิ่งอยู่ลึกลงไปทุกที ทั้งนี้ ก็เพราะว่ามันแยกอาหารจากดินลึกลงไป เมื่ออาหารที่บริเวณตื้นๆ ไม่พอ มันก็จำเป็นต้องขุดลึกลงไปอีก (อาจ, 2505)

ระบบขับถ่าย

อวัยวะขับถ่ายของไส้เดือนดินคือ ไต หรือเนฟรีเดีย (nephridia) มีประจำอยู่ทุกปล้อง ปล้องละ 1 คู่ ยกเว้น 3 ปล้องแรกและปล้องสุดท้ายจะไม่มี เนฟริเดียแต่ละอันประกอบด้วยส่วนต่างๆ เนโฟรสโตม (nephrostome) เป็นรูเปิดอยู่ภายในช่องตัว บริเวณนี้มีซีเลียสำหรับโบกพัดของเสียจากช่องตัวเข้าไปในรูเปิดนี้ต่อจากเนโฟรสโตม เป็นท่อยาวแคบ เรียกว่า ท่อไตหรือท่อขับถ่าย (nephriduct) ขดไปมาปลายท่อขับถ่ายเป็นกระเปาะโตขึ้น ทำหน้าที่กระเพาะปัสสาวะ (bladder) และเปิดออกภายนอกตัวที่รูขับถ่าย (nephridiopore) ตรงบริเวณด้านท้องค่อนมาทางด้านข้างทั้งสองข้าง เนฟริเดียตรงส่วนของเนโฟรสโตมจะเกาะติดกับเยื่อกั้น (septum) และทะลุไปทางด้านหน้า ส่วนท่อขับถ่ายและรูขับถ่ายจะอยู่ในปล้องหลังถัดมา

เนฟริเดียนอกจากจะรับของเสียที่เป็นของเหลวจากช่องตัวแล้ว ยังรับของเสียจากเส้นเลือดฝอยที่มาพันรอบๆ ท่อขับถ่าย โดยวิธีซึมแพร่ด้วย

การหายใจ

ไส้เดือนดิน ยังไม่มีอวัยวะสำหรับหายใจ โดยเฉพาะการหายใจเกิดขึ้นที่ผิวหนัง โดยกระแสเลือดในเส้นเลือดฝอยบริเวณคิวติเคิลของผนังลำตัว จะทำหน้าที่รับก๊าซออกซิเจนพร้อมกับปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาทางผิวของผนังร่างกายเช่นกัน ก๊าซออกซิเจนจะรวมตัวกับฮีโมโกลบินในน้ำเลือด และถูกนำไปยังเนื้อเยื่อต่างๆ ทั่วร่างกาย

ระบบประสาท

ระบบประสาทของไส้เดือนดินซึ่งประกอบด้วยปมประสาทสมอง (suprapharyngeal ganglia) 1 คู่ อยู่เหนือคอหอยปล้องที่ 3 จากสมองมีเส้นประสาทรอบคอหอย (circumpharyngeal connectives) 2 เส้น อ้อมรอบคอหอยข้างละเส้น เส้นประสาททั้งสองเส้นนี้ลงมาเชื่อมกันกลายเป็นปมประสาทใต้คอหอย (subpharyngeal ganglion) ซึ่งมีสองปมอยู่ตรงปล้องที่ 4 ทั้งหมดนี้ จึงมีลักษณะเป็นประสาทวงแหวนรอบคอหอย จากปมประสาทใต้คอหอยติดต่อกับเส้นประสาทใหญ่ด้านท้อง (ventral nervecord) ทอดไปตามความยาวของลำตัวด้านท้องจนถึงปล้องสุดท้าย เส้นประสาทใหญ่ด้านท้องนี้จะมีปมประสาทที่ปล้อง (segmental ganglion) ประจำอยู่ทุกปล้อง ปล้องละ 1 ปม และแต่ละปมมีแขนงประสาท (Iateral nerves) แยกออกไป 3 คู่ แขนงประสาทที่ประจำอยู่แต่ละปล้องจะยื่นเข้าไปในชั้นของกล้ามเนื้อของผนังลำตัวติดต่อกับใยประสาทรับความรู้สึก (sensory fiber) นำกระแสความรู้สึกจากผิวของร่างกายเข้าสู่เส้นประสาทและติดต่อกับใยประสาทส่งความรู้สึก (motor fiber) เพื่อนำกระแสความรู้สึกจากเส้นประสาทไปยังกล้ามเนื้อและผิวหนัง แขนงประสาทจากปมประสาทที่ปล้องยังควบคุมการทำงานของเนฟริเดีย และอวัยวะภายในอื่นๆ ด้วย

อวัยวะรับความรู้สึกของไส้เดือนดินปรากฏว่า ยังไม่มีอวัยวะรับความรู้สึกใดๆ มีเพียงเซลล์รับความรู้สึก (sensory cells) ที่อยู่กระจายตามผิวหนัง ริมฝีปากบนและในช่องปาก เซลล์รับความรู้สึกเหล่านี้ติดต่อกัน ระบบประสาท นอกจากเซลล์รับความรู้สึกแล้ว ยังมีเซลล์รับแสงสว่าง (photoreceptor cells) ในชั้นของเอปิเดอร์มิส มีมากอยู่ที่ริมฝีปากบนปล้องที่อยู่ทางด้านหน้าและปล้องท้ายๆ ของร่างกาย เซลล์รับแสงแต่ละเซลล์ประกอบด้วยออร์กาเนลล์ที่ทำหน้าที่เป็นเลนส์รวมแสงไปยังใยประสาท (neuro fibrils) ซึ่งทำหน้าที่เป็นเรตินา (retina) และส่งความรู้สึกเกี่ยวกับแสงสว่างไปยังระบบประสาท ถ้ามีแสงสว่างมากเกินไปมันจะเคลื่อนที่หนีเข้าไปอยู่ในที่มืดหรือขุดรูหลบหนีไป

Tags : เลี้ยงไส้เดือนดิน ผลิตปุ๋ย ขจัดขยะ ผลงานเยี่ยม ดร.อานัฐ ตันโซ แม่โจ้

view