จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
นิวไซแอนทิสต์/เนเจอร์ – พฤติกรรมประหลาดใน การเลี้ยงลูกของ “ไส้เดือน” ช่างน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อนักวิทยาศาสตร์ได้มีโอกาสบันทึกภาพไส้เดือนตัวลูกกำลังแทะกินผิวหนัง ของแม่ ประหนึ่งการให้นมลูก แต่ทว่าเป็นผิวหนังพิเศษอุดมไปด้วยสารอาหาร ที่สร้างขึ้นมายามเป็นแม่ไส้เดือน เชื่อยังมีสัตว์เลื้อยคลานอีกหลายชนิดที่มีพฤติกรรมแปลกๆ แตกต่างกันไป
ใครที่ไม่ชอบไส้เดือนอาจจะต้องทนหรี่ตาดูเล็กน้อย แล้วจะพบทั้งความน่าประทับใจและความพิศวง เมื่อนักวิทยาศาสตร์สามารถบันทึกวิดิโอภาพ “บัวเลนเกรูลา ไททานัส” (Boulengerula taitanus) หรือ “ไส้เดือน” แอฟริกัน ที่พบมากในแถบภูเขาไททานัสของเคนยา โดยตัวแม่ไส้เดือนที่มีลูกฟักออกมาแล้ว จะผลัดผิวหนังชั้นบนสุด ซึ่งเป็นเซลล์ที่ตายแล้วให้กลายเป็นชั้นผิวหนังที่หนาอุดมไปด้วยโปรตีนและ ไขมัน เพื่อจะกลายเป็นอาหารให้แก่ลูกน้อยเหมือนกับ “น้ำนม” ที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมป้อนแก่ทารก
ไส้เดือนวัยทารกที่เพิ่งฟักออกมาจากไข่ที่แม่ไส้เดือนประคบประหงมไว้ จะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากไส้เดือนแม่ประมาณ 2 เดือนก่อนที่จะแยกตัวออกไปใช้ชีวิตได้ตามลำพัง โดยในช่วง 2 เดือนนี้ฟันชนิดพิเศษของไส้เดือนน้อยจะงอกขึ้นมาเพื่อกัดงับที่ผิวหนังชั้น บนสุดของแม่อันเป็นแหล่งอาหารของไส้เดือนน้อย แต่ฟันดังกล่าวยังไม่แข็งแรงพอที่จะขุดเจาะดินได้
อเล็กซ์ คุปเฟอร์ (Alex Kupfer) แห่งพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ (Natural History Museum) ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ พร้อมทีมงานได้ค้นพบพฤติกรรมอันน่าประหลาดของไส้เดือนที่มีลักษณะกินเนื้อ พวกเดียวกัน โดยไส้เดือนน้อยมีขนาดตัวยาวเพิ่มขึ้น 11% ต่อสัปดาห์ขณะที่กินผิวหนังของแม่
อย่างไรก็ดี สัตว์จำพวก “คาอีซิเลียนส์” (Caecilians) ซึ่งเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่มีลักษณะคล้ายงู และยังเชื่อมโยงกับกบและตัวนิวต์ (รวมถึงไส้เดือน) ต่างมีวิวัฒนาการในการให้กำเนิดลูกที่หลากหลาย ซึ่งนักธรรมชาติวิทยาเชื่อว่าอาจนำไปสู่การอธิบายถึงวิวัฒนาการการให้กำเนิด สิ่งมีชีวิตจากการออกไข่สู่การออกลูกเป็นตัวอย่างในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ทั้งหลายได้
“ประมาณ 30% ของสัตว์จำพวกนี้ ฟักตัวอ่อนตั้งแต่ยังอยู่ในท้องแม่ และกินอาหารจากเนื้อเยื่อท่อรังไข่ของตัวแม่ จากนั้นจึงคลอดออกมาเป็นตัว (เหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม) ขณะที่บางพันธุ์ก็ให้ตัวอ่อนคลอดออกมาแล้วประคบประหงม หรือบางพันธุ์ก็ฟักออกมาเป็นตัวโตเต็มวัยได้เลย” คุปเฟอร์อธิบายถึงความหลากหลายในการให้กำเนิดชีวิตของสัตว์เหล่านี้
ทว่ายังมีอีกมากมายหลายชนิดในตระกูลคาอีซิเลียนส์ที่นักวิทยาศาสตร์ ยังไม่รู้จักวงจรชีวิต ที่วิวัฒนาการมามากกว่า 150 ล้านปี โดยเชื่อว่ายังมีอีกจำนวนมากที่กินเนื้อพวกเดียวกัน และสามารถเจริญเติบโตได้ยาวกว่า 150 เซนติเมตร ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ก็พยายามเสาะหาต่อไป เพื่อวิเคราะห์ถึงวิวัฒนาการและค้นหาทางแยกของความแตกต่างที่เกิดขึ้นให้ได้
ลูก ไส้เดือนเกิดใหม่ตัวใสยังไม่มีชั้นผิวหนังที่แข็งแรงพอ จะต้องได้รับการดูแลจากแม่เป็นเวลา 2 เดือนถึงจะแกร่งกล้าท้าโลกกว้างได้เพียงลำพัง |
ภาพขยายให้เห็นถึงฟันของลูกไส้เดือนที่พัฒนาขึ้นมาเป็นพิเศษเพื่อกินอาหารจากผิวหนังของแม่ ก่อนที่จะผลัดฟันชุดใหม่ที่ใช้งานจริง |