สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ข่าวดี "นกแต้วแล้วท้องดำ" ยังไม่สูญพันธุ์จากเมืองไทย

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ข่าวดี พบการตอบสนองของนกแต้วแล้วท้องดำ ทำให้เชื่อว่ายังไม่สูญพันธุ์ไปจากเมืองไทย (ภาพ : เพจกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)
ข่าวดี พบการตอบสนองของนกแต้วแล้วท้องดำ ทำให้เชื่อว่ายังไม่สูญพันธุ์ไปจากเมืองไทย (ภาพ : เพจกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)



กรมอุทยานฯ ระบุ นกแต้วแล้วท้องดำยังไม่สูญพันธุ์จากป่าเมืองไทย พบการตอบสนองถึง 2 จุด ที่เขตรักษาพันธุ์ฯ เขาประ-บางคราม จ.กระบี่

เพจ “กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช” รายงานสถานการณ์นกแต้วแล้วท้องดำ หรือ นกแต้วแร้วท้องดำ ในเมืองไทย (ที่มา : สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า) ระบุว่า ยังไม่สูญพันธุ์จากป่าเมืองไทย ล่าสุด พบการตอบสนองถึง 2 จุดที่ เขานอจู้จี้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นพื้นที่ความเหมาะสมในการอาศัยหลักของนกชนิดนี้ 

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า พันธุ์พืช เปิดเผยว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าได้จัดทำโครงการฟื้นฟูประชากรและพื้นที่ถิ่นอาศัยของนกแต้วแล้วท้องดำ และระหว่างวันที่ 19 เมษายน - 3 มิถุนายน 2562 ได้มีการสำรวจประชากรนกแต้วแล้วท้องดำ ในพื้นที่ป่าที่ราบต่ำเขานอจู้จี้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ - บางคราม จังหวัดกระบี่ โดยวางแผนการสำรวจออกเป็น 4 ช่วง คือ 

(1) วันที่ 19 - 28 เมษายน 2562 
(2) วันที่ 1-10 พฤษภาคม 2562 
(3) วันที่ 13-22 พฤษภาคม 2562 
(4) วันที่ 25 พฤษภาคม - 3 มิถุนายน 2562


ทั้งนี้คณะผู้สำรวจประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ประจำโครงการฯ นกแต้วแล้วท้องดำเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม เจ้าหน้าที่สถานีวิจัยสัตว์ป่า และเจ้าหน้าที่กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า รวม 32 คน 

แต่ละช่วงสำรวจมีเจ้าหน้าที่เข้าร่วมดำเนินงานช่วงละประมาณ 10-12 คน โดยกำหนดขอบเขตพื้นที่สำรวจในบริเวณพื้นที่อาศัยหลักของนกแต้วแล้วท้องดำ คือ

1.บริเวณพื้นที่อาศัยสระมรกต 2. พื้นที่หย่อมป่าหินคอกวาง และใช้วิธีการเดินสำรวจโดยใช้เส้นสำรวจถาวรเป็นแนวเส้น baseline จำนวน 42 เส้น และเดินสำรวจตามแนวซ้าย-ขวาของเส้นให้กระจายทั่วพื้นที่ พร้อมทั้งเปิดเทปเสียง (Radio playback) เพื่อฟังการตอบสนองต่อเสียงเทปของนกแต้วแล้วท้องดำจากการสำรวจในพื้นที่ถิ่นอาศัยหลักของนกแต้วแล้วท้องดำทั้ง 2 โซน พบการตอบสนองของนกแต้วแล้วท้องดำ 2 จุด เป็นนกเพศเมีย 1 จุด และไม่ทราบเพศ 1 จุด 

นอกจากนี้จากการสำรวจยังพบนกในกลุ่มของนกแต้วแล้วอีก 3 ชนิด คือ นกแต้วแล้วลาย ที่เป็นนกประจำถิ่น และนกแต้วแล้วธรรมดา นกแต้วแล้วอกเขียว ที่เป็นนกอพยพ และยังพบว่าในพื้นที่สำรวจมีความหลากหลายของนกที่พบในพื้นที่ป่าที่ราบต่ำในพื้นที่ภาคใต้ เช่น นกเงือกหัวหงอก กินแมลงหัวแดงใหญ่ ขมิ้นหัวดำเล็ก ฯลฯ 

ทั้งนี้ในการเดินสำรวจในพื้นที่ได้มีการประเมินสถานภาพของพื้นที่ถิ่นอาศัยที่เหมาะสมของนกแต้วแล้วท้องดำร่วมด้วยพบว่าพื้นที่หย่อมป่าในบริเวณป่าที่ราบต่ำเขานอจู้จี้ยังมีสภาพพื้นที่ที่มีความเหมาะสมและมีศักยภาพเป็นถิ่นอาศัยของนกแต้วแล้วท้องดำ

เขตรักษาพันธุ์ฯ เขาประ-บางคราม แหล่งอยู่อาศัยของนกแต้วแล้วท้องดำในบ้านเรา (ภาพ : เพจกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)
เขตรักษาพันธุ์ฯ เขาประ-บางคราม แหล่งอยู่อาศัยของนกแต้วแล้วท้องดำในบ้านเรา (ภาพ : เพจกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)


ในส่วนของแผนการดำเนินงานในระยะต่อไป ทางกรมอุทยานฯ เปิดเผยว่า จะมีการดำเนินการดังนี้ 

1. เจ้าหน้าที่ประจำโครงการฯนกแต้วแล้วท้องดำ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า จำนวน 3 คนปฏิบัติงานประจำในพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าคลองแสง 1 คนทำการสำรวจหารังนกแต้วแล้วท้องดำ เน้นในพื้นที่ที่สำรวจพบเสียงนกแต้วแล้วท้องดำ และตามบริเวณที่มีสภาพเป็นร่องห้วยในพื้นที่ป่าที่ราบต่ำเขานอจู้จี้

2. เจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) ดำเนินงานด้านงานส่งเสริมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้กับชุมชนรอบแนวเขตและในพื้นที่ป่าที่ราบต่ำเขานอจู้จี้ด้านการอนุรักษ์นกแต้วแล้วท้องดำ

3. เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม ดำเนินงานด้านงานป้องกันดูแลพื้นที่ถิ่นอาศัยหลักของนกแต้วแล้วท้องดำ

สีสันความสวยงามของนกแต้วแล้วท้องดำ (ภาพ : เพจกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)
สีสันความสวยงามของนกแต้วแล้วท้องดำ (ภาพ : เพจกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)


สำหรับนกแต้วแล้วท้องดำ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า พิตตา เจอนีอาย (Pitta gurneyi) มีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า Gurney's Pitta หรือ Black-breasted Pitta เป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 

นกแต้วแล้วท้องดำเป็นนกขนาดเล็ก ลำตัวสั้นป้อมยาวประมาณ 20 ซม. ตาสีดำโตใส ปากแหลมแต่สั้นเนื่องจากกินเมล็ดพืช แมลง และไส้เดือนเป็นอาหาร เป็นนกที่มีความสวยงาม มีสีสันจัดจ้านโดยเฉพาะตัวผู้ ที่จะมีทั้งขนสีดำ น้ำตาล เหลืองสด และน้ำเงินแซมอยู่เป็นสัดส่วนสวยงาม 

นกแต้วแล้วท้องดำ กินแมลง ไส้เดือน และสัตว์มีกระดูกสันหลังเล็ก ๆ เป็นอาหาร พวกมันออกไข่เพียงคราวละ 3-4 ฟอง และมีอายุประมาณ 10 ปี เป็นนกที่ต้องการพื้นที่ป่ามาก เพราะมักอยู่เป็นตัวเดี่ยว ๆ มีอาณาเขตของตัวเอง เป็นนกประจำถิ่นไม่มีการอพยพ 


นกแต้วแล้วท้องดำ เพศผู้และเพศเมีย จะมีลักษณะคล้ายกันต่างที่สีขนและขนาดตัว นกตัวผู้จะมีสีสดส่วนหัวมีสีดำ กระหม่อมและท้ายทอยมีฟ้าน้ำเงิน คอมีสีเหลืองสด และบริเวณอกตอนล่างไปจนถึงท้องมีสีดำสนิท ลำตัวอ้อนสั้นในขณะที่ตัวเมียจะมีสีสดใสน้อยกว่า ส่วนหัวและหลังมีสีน้ำตาล ปลายหางมีสีฟ้า และไม่มีแถบสีดำบริเวณหน้าอกที่อาจทำให้สับสนได้ว่าเป็นนกชนิดอื่น ซึ่งในวงศ์ของนกแต้วแล้วเองก็มีด้วยกันหลายสายพันธุ์ อาทิ แต้วแล้วสีน้ำเงิน, แต้วแล้วเขียวเขมร หรือ แต้วแล้วลาย 

นกแต้วแล้วท้องดำมักสร้างรังอยู่บนต้นหวาย ต้นกะพ้อ และเถาวัลย์ มีการกระจายตัวอยู่บริเวณที่ราบต่ำมาก ๆ ขึ้นไปถึงที่ราบเชิงเขาที่ระดับความสูงไม่เกิน 200 เมตร หรือพื้นที่ป่าฟื้นตัวใหม่จากการแผ้วถางที่มีแหล่งน้ำและความชื้น

ลูกนกแต้วแล้วท้องดำ ที่เพิ่งลืมตาขึ้นมาดูโลกได้ไม่นาน (ภาพ : เพจกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)
ลูกนกแต้วแล้วท้องดำ ที่เพิ่งลืมตาขึ้นมาดูโลกได้ไม่นาน (ภาพ : เพจกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)


สำหรับชื่อของนกชนิดนี้ สามารถเขียนได้ทั้ง 2 แบบ คือ นกแต้วแล้วท้องดำ และ นกแต้วแร้วท้องดำ โดยคำว่า ท้องดำนั้น เกิดจากสีของเส้นขนบริเวณส่วนอกตอนปลายและท้องของนกตัวผู้ซึ่งมีลักษณะเด่นจนผู้ค้นพบนำมาตั้งเป็นชื่อสามัญ 

ปัจจุบันมีรายงานการพบนกชนิดนี้ ที่ประเทศไทยและพม่าเท่านั้น ซึ่งในประเทศไทยคาดว่าพบได้เพียงแห่งเดียว คือ บริเวณป่าที่ราบต่ำเขานอจู้จี้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม จ.กระบี่ ซึ่งในช่วงปี 2556 มีรายงานการสำรวจพบประชากรนกแต้วแล้วท้องดำมากถึง 13 คู่ แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมา ก็ไม่มีใครพบนกแต้วแล้วท้องดำในเมืองไทยอีก ซึ่งคาดว่าสาเหตุสำคัญมาจากการบุกรุกที่ป่าเพื่อทำสวนยาง และการท่องเที่ยวสระมรกตที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเกินไปจนทำให้เกิดความวุ่นวายเสียงดัง นกแต้วแล้วท้องดำจึงอพยพหนีไป 

อย่างไรก็ดีในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2561 มีรายงานการได้ยินเสียงของนกแต้วแล้วท้องดำที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม ซึ่งก็สร้างความยินดีแก่บรรดานักดูนก นักอนุรักษ์ และนักนิยมไพรจำนวนมาก กระทั่งล่าสุดมีรายงานการตอบสนองของนกแต้วแล้วท้องดำจากกรมอุทยานฯ ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น ก็ถือเป็นอีกหนึ่งข่าวดีที่ทำให้เชื่อว่านกชนิดนี้ยังไม่สูญพันธุ์ไปจากเมืองไทย


#eosgear,#ถุงมือกันบาด,#อะไหล่ victorinox, #victorinox มือสอง,#มีดเดินป่า ตราจรเข้,#Ralph Martindale,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดภาวะวิกฤต

Tags : #ข่าวดี #นกแต้วแล้วท้องดำ ไม่สูญพันธุ์ เมืองไทย

view