จากประชาชาติธุรกิจ
นายศรไกร แน่นศรีนิล หรือช่างไก่ ได้เล่าความประทับใจที่ได้เป็นช่างซ่อมฉลองพระบาทว่า ปกติตนได้เปิดร้านซ่อมร้องเท้าเล็กๆ อยู่ที่สี่แยกพิชัย เปิดซ่อมทุกวัน แล้วอยู่มาวันหนึ่งได้สังเกตเห็นมีรถตู้คันหนึ่งขับมาจอดที่หน้าร้าน พอเปิดประตู เห็นมีคนๆ หนึ่งลงมาประคองของบางสิ่งที่อยู่บนรถลงมา ตนก็ไม่เข้าใจว่าเขาประคองอะไร แล้วเดินตรงเข้ามาที่ร้าน
ภาพจากคลิป"รองเท้าพ่อ" ช่างไก่ ช่างซ่อมฉลองพระบาท -Springnews
จากนั้นก็นำมาวางไว้บนโต๊ะที่ทำงาน แล้วก็ได้ถามว่า ไม่ทราบว่าทำได้หรือเปล่า เราก็เลยถามกลับว่าคืออะไร..."ฉลองพระบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" พอตนได้ยินตนก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นของในหลวง จึงได้ถามซ้ำอีกรอบ แต่คำตอบก็เหมือนเดิมคือ "ฉลองพระบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" ได้ยินครั้งที่สองนี้ก็มั่นใจว่าฟังไม่ผิดแน่ ในช่วงเวลานั้นตนเองก็ขนลุกซู่ขึ้นมาทันที เพราะเป็นเรื่องที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อน
"รีบตอบ ได้ๆ โดยไม่ลังเลย เพราะเป็นเรื่องที่ต้องการรับใช้พระองค์ท่านอยู่แล้ว " นายศรไกรกล่าว
หลังจากตอบตกลงที่จะซ่อมฉลองพระบาทแล้ว ก็ได้บอกกับทหารที่นำรองเท้ามาว่า เราซ่อมได้ แต่ต้องขอเวลานานหน่อย ทั้งที่ความจริงซ่อมไม่ถึงชั่วโมงก็เสร็จ ที่ตอบไปแบบนั้นเพราะว่าอยากให้ฉลองพระบาทคู่นี้อยู่ที่ร้านนานๆ เพราะไม่ทราบว่าจะได้มีโอกาสได้ซ่อมฉลองพระบาทอีกหรือเปล่า
"ผมจึงทำสุดความสามารถ พอซ่อมรองเท้าเสร็จ เราก็คิดว่า เราจะนำรองเท้าคู่นี้ไปวางไว้ตรงไหนดี เพราะเป็นของในหลวง จะไปวางปนกับของลูกค้าคนอื่นก็ไม่ได้ ดูจะไม่เหมาะไม่ควร จึงได้สั่งให้ลูกน้องในร้านไปซื้อพานมาใบหนึ่ง พร้อมกับผ้าสีเหลืองมารอง แล้วนำไปวางไว้ที่สูงที่สุดในร้าน"
"ท่านคงทรงโปรดมาก สภาพรองเท้าชำรุดมาก ซับในรองเท้าหลุดออกมาหมดแบบนี้ ถ้าเป็นพวกมหาเศรษฐีทั่วไปคงจะไม่นำมาใช้แล้ว แต่นี่พระองค์ยังทรงใช้คู่เดิมอยู่"
เขากล่าวต่อว่า จากนั้นไม่นานทรงมีพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงออกมา ตนถึงเข้าใจว่าพระองค์ไม่เพียงแต่สอนประชาชนให้พอเพียงเท่านั้น แต่พระองค์ยังทรงปฏิบัติเป็นตัวอย่างให้ลูกๆ ดูด้วย
หลายวันต่อมาเจ้าหน้าที่ในวังมารับฉลองพระบาทกลับ ตนจึงได้ถามนายทหารว่า "ถ้าหากจะตัดรองเท้าทรงแบบนี้ ฝากถวายได้หรือไม่"
ต่อมาช่างไก่ก็ได้ตัดฉลองพระบาทถวายไปอีกคู่หนึ่งแต่อาจจะเล็กไปสักหน่อย จึงได้แก้ขนาดจากขนาด 42 ให้เป็น 43
ภาพจากคลิป"รองเท้าพ่อ" ช่างไก่ ช่างซ่อมฉลองพระบาท -Springnews
ผ่านไปหลายเดือนนายทหารก็ได้นำรองเท้าที่ถวายไปกลับมาที่ร้านอีกครั้ง ตนตกใจนึกว่าเราทำอะไรผิดพลาดไปหรือเปล่า แต่ปรากฏว่า พระองค์อยากให้ติดกันลื่นให้เท่านั้น ก็ทำให้ตนโล่งอกและดีใจเป็นที่สุดว่า พระองค์ฉลองรองเท้าของตนแน่แล้ว
เขายังเล่าต่อว่า ได้ซ่อม และตัดฉลองพระบาทถวายมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันได้ถวายถึง 15 คู่แล้ว
"ตั้งใจจะตัดถวายให้ครบ 19 คู่ในวันที่ 5 ธันวาคมนี้ แต่พระองค์ท่าน..." ช่างไก่พูดด้วยเสียงสั่นและเงียบไปสักพักหนึ่ง และกล่าวทิ้งท้ายว่า
"ผมไม่เสียใจที่ไม่ได้ซ่อมฉลองพระบาทถวายอีกแล้ว รู้สึกภูมิใจที่ได้มีโอกาสตรงนี้ เพราะที่ร้านก็ยังมีรอยพระบาทของพระองค์อยู่ ถึงไม่ได้ใกล้ชิดพระองค์ท่าน แต่เราก้มีกราบรอยพระบาทอยู่ทุกวันและพร้อมจะนำคำสอนของพระองค์มาใช้ และเชื่อว่าทุกคนในประเทศก็สามารถนำคำสอนของพระองค์ในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ได้เช่นกัน"
ขอบคุณที่มาไลฟ์สตรีมมิ่งเพจข่าวสดออนไลน์
ภาพจากคลิป"รองเท้าพ่อ" ช่างไก่ ช่างซ่อมฉลองพระบาท -Springnews
อี.โอ.เอส เกียร์,ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต,#มีดดามัสกัส,#เหล็กดามัสกัส