สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปลี่ยนตนเองเพื่อโลก

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ CSR talk โดย พร้อมบุญ พานิชภักดิ์ เลขาธิการมูลนิธิรักษ์ไทย

เมื่อวันที่ 2-3 มีนาคมที่ผ่านมา ผมไปคุยกับทีมทรัพยากรธรรมชาติ และการปรับเปลี่ยนภาวะโลกร้อน ภาคเหนือ สำนักงานเชียงใหม่ เรามองถึงการยกระดับการทำงาน จากการเป็นนักปฏิบัติมาเป็นนักพัฒนาองค์ความรู้ และการจับประเด็นเชิงสิทธิ์และเชิงนโยบาย

โดยเฉพาะการให้งานทรัพยากรธรรมชาติ และการปรับเปลี่ยนต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นงานที่เด่นระดับประเทศ

สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือการมองภาพงานของรักษ์ไทย ไม่ใช่องค์กรที่บริหารโครงการ แต่เป็นองค์กรที่พยายามแก้ไขวิกฤตที่เกิดกับชุมชนชาติพันธุ์ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ วิกฤตนี้ถ้าไม่ได้รับการแก้ไข คุณภาพชีวิตจะลดลง และความเป็นชุมชนที่อยู่กันมาเป็น 100 ปี อาจจะศูนย์สลาย

ยกตัวอย่างควันและอากาศเป็นพิษที่กำลังเกิดขึ้นที่เชียงใหม่ กระแสความคิดคนทั่วไปของประเทศมองไปที่ชุมชนของชนเผ่าต่าง ๆ ว่าเผาทำไม หยุดได้แล้ว ภาครัฐใช้เงินจำนวนมากในการรณรงค์แบบคนพื้นราบ เอาใจคนดู แต่ความพยายามแก้ปัญหาจริง ๆ ไม่ได้มีรูปธรรมของภาครัฐ หรือแม้กระทั่งภาค NGO ที่หลายองค์กรหันมามองแบบอนุรักษ์อย่างเดียว

มูลนิธิรักษ์ไทย ทำงานกับชุมชนมายาวนาน ต้องคิดถึงการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน และที่แก้วิกฤตของชุมชนอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นโครงการที่สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในการจัดการน้ำ และการทำงาน SMART Agriculture เกษตรที่ปรับตัวทันการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม ที่สนับสนุนโดย AXA และโครงการส่งเสริมอาชีพผู้หญิง ที่เกิดรายได้ และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่สนับสนุนโดย CHANEL และโครงการส่งเสริมชุมชนพัฒนาความสามารถการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องมือที่อยู่ในมือทีมงานรักษ์ไทย

แต่เป้าหมายคือการแก้วิกฤตชุมชนไม่ให้ล่มสลาย

ที่เชียงใหม่ผมเห็นความพยายามที่เจ้าหน้าที่อยากพัฒนาตนเองจากการบอกเล่าของสมาชิก เช่น การเริ่มต้นของการทำบ่อปลาในพื้นที่สูงที่อมก๋อย จากความคิดหนึ่งจนกลายเป็นกิจกรรมสร้างความมั่นคงทางอาหารที่สำคัญของชุมชน หรือเรื่องการเปลี่ยนแปลงในบทบาทผู้หญิง หรือตัวอย่างชุมชนม้งที่เป็นนักอนุรักษ์

ความสำเร็จในการพัฒนาศักยภาพของชุมชนสู่ผลสำเร็จทางสิ่งแวดล้อม ตลอดจนประสบการณ์เจ้าหน้าที่ที่มองเห็นช่องว่างความเข้าใจของนักวิชาการและคนเมืองทั่วไป ที่ไม่อาจสัมผัสได้จนมาเป็นนักพัฒนาในงานรักษ์ไทย

ทีมงานได้วิเคราะห์ช่องทางการพัฒนาด้านการสื่อสาร รวมทั้งการเริ่มต้นพัฒนาตนเองในการเล่าเรื่อง การเขียน และการใช้สื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ ความตั้งใจที่จับประเด็นเชิงนโยบาย เชิงสังคมให้ชัดเจนขึ้น เพื่อให้งานรักษ์ไทยและตัวตนของชุมชนมีความสำคัญในระดับประเทศ ในระดับภูมิภาค หรือในระดับโลก เพื่อตอบโจทย์รูปแบบการทำงานชุมชน ในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ Climate Change Adaptation และการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development

สิ่งที่ผมเรียนรู้และแลกเปลี่ยนจากสำนักงานเชียงใหม่ มีความคล้ายกับสำนักงานทุกสำนักงานของรักษ์ไทย ทั้งบริบทการมองงานของตนเอง และแนวทางการพัฒนาสู่องค์กรที่เข้มแข็ง หากเราแน่วแน่และกล้าทำการเปลี่ยนแปลงในทีมต่าง ๆ องค์กรและเจ้าหน้าที่ทุกคน รวมทั้งภาคีอาสาสมัครและชุมชน จะให้เกิดการเปลี่ยนระดับสังคมที่มีคุณค่ามหาศาลเช่นกัน


ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย

Tags : เปลี่ยนตนเอง เพื่อโลก

view