จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ Smart SMEs โดย พัชร สมะลาภา ผู้บริหารสายงานธุรกิจลูกค้าผู้ประกอบการ ธนาคารกสิกรไทย
ถ้าถามถึงธุรกิจในฝันอันดับต้น ๆ ของใครหลาย ๆ คน ผมเชื่อว่าหนึ่งในนั้นต้องมีธุรกิจร้านอาหารอยู่ด้วย และมีการคาดกันว่า มูลค่าตลาดรวมของธุรกิจในกลุ่มร้านอาหารรวมถึงเชนร้านอาหารในปี 2558 จะมีมูลค่าถึง 385,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณ 4.0-6.8% จากปีที่แล้ว เมื่อมีจำนวนธุรกิจเพิ่มขึ้น แน่นอนว่าการแข่งขันก็ต้องตามมา เพราะลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น จึงเป็นโจทย์สำคัญที่ทำอย่างไรที่จะทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารขนาดกลางและขนาดเล็กอยู่รอดได้ ดังนั้นผมจึงขอนำวิธีการปรับตัวมาให้ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารขนาดกลางและเล็กลองนำไปใช้ดู เพราะจะเป็นการช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ธุรกิจได้มากขึ้นครับ
เริ่มที่ "การรักษาต้นทุนธุรกิจให้ดี" เพราะธุรกิจร้านอาหารขนาดกลางและเล็ก ส่วนใหญ่จะมีข้อจำกัดในเรื่องเงินทุนหมุนเวียนได้ง่าย โดยเฉพาะหากร้านมีลูกค้ามาใช้บริการน้อยหรือแม้ว่าเพียงเวลาสั้น ๆ ก็ส่งผลกระทบต่อธุรกิจได้ เพราะมีค่าใช้จ่ายที่รออยู่มากมาย ดังนั้นผมจึงอยากให้ผู้ประกอบการใส่ใจและจดบันทึกต้นทุนรายรับรายจ่าย รวมทั้งจัดทำสต๊อกสินค้าให้เป็นระบบ เพื่อจะทำให้เราสามารถบริหารต้นทุนในการทำธุรกิจได้ดีขึ้น อีกทั้งยังไม่ต้องเผชิญกับภาวะขาดสภาพคล่องของธุรกิจได้
ต่อมา "สร้างสัมพันธ์ที่ดีกับ Supplier" เพราะการมีสัมพันธ์ที่ดีกับ Supplier จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารขนาดกลางและขนาดเล็กได้ เพราะสามารถจัดหาวัตถุดิบที่สดใหม่ มีคุณภาพ และได้ในราคาส่ง ซึ่งถูกกว่าซื้อแบบปลีกมาก นอกจากนี้ในช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาวทำให้วัตถุดิบจะหายาก แต่หากสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับ Supplier ได้แล้วก็จะสามารถหาวัตถุดิบได้เพียงพอสำหรับลูกค้า
ประการต่อมา "นำเสนอความคุ้มค่าให้ลูกค้า" เพราะความคุ้มค่าเป็นสิ่งที่ลูกค้าทุกคนต้องการ ถึงแม้ว่าธุรกิจร้านอาหารขนาดกลางและเล็กจะไม่สามารถแข่งในเรื่องของราคาประเภทให้ส่วนลด หรือโปรโมชั่นเหมือนร้านอาหารขนาดใหญ่ได้ แต่ก็มีทางเลือกที่จะนำเสนอความคุ้มค่าในรูปแบบอื่น ๆ ให้กับลูกค้าได้เช่นกัน เช่น เน้นเรื่องรสชาติอาหารที่อร่อย นำเสนอความหลากหลายของอาหาร ให้ความสำคัญในการตกแต่งร้านให้สวยงามสบายตา รวมทั้งต้องยกระดับการให้บริการให้มีมาตรฐาน ซึ่งก็มีผลต่อการตัดสินใจในการเลือกร้านอาหารไม่น้อยกว่าเรื่องของราคาเช่นกัน
รวมถึงต้องคิดถึง "การขยายบริการให้หลากหลายและครอบคลุมมากขึ้น" ด้วยการเพิ่มไลน์บริการเป็นทางออกที่ดี ผมจึงขอแนะนำให้ผู้ประกอบการลองหันมาเพิ่มบริการอื่น ๆ นอกจากการขายอาหารเฉพาะหน้าร้าน เช่น มีบริการให้ลูกค้าสามารถสั่งซื้ออาหารบนออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดียได้ มีบริการส่งอาหารดีลิเวอรี่ให้ลูกค้า บริการรับทำอาหารกล่อง หรือรับทำจัดเลี้ยงนอกสถานที่ เป็นต้น
ข้อแนะนำสุดท้าย "เจาะตลาดในช่วงเทศกาล" เพราะเป็นช่วงเวลาทำเงินของธุรกิจร้านอาหาร เพราะจะได้ทั้งลูกค้าประจำและลูกค้าที่เดินทางท่องเที่ยวซึ่งธุรกิจร้าน อาหารขนาดกลางและเล็กผมว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจและยังสามารถตอบโจทย์ สำหรับช่วงเวลาสังสรรค์ได้เป็นอย่างดีดังนั้นในช่วงของเทศกาลธุรกิจร้าน อาหารขนาดกลางและเล็กควรมีการวางแผนเพื่อสำรองวัตถุดิบและเตรียมแรงงานเพื่อ รองรับให้เพียงพอกับจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้นเพื่อให้ลูกค้าที่มาใช้บริการ ได้รับความพึงพอใจและกลับมาใช้บริการอีก
ทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของแนวทางการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจร้านอาหารขนาดกลางและเล็กเท่านั้น
สิ่งสำคัญที่ผมอยากฝากไว้คือ ผู้ประกอบการในยุคนี้ไม่ว่าจะอยู่ในธุรกิจไหน จะต้องไม่อยู่นิ่ง เพราะเมื่อไหร่คุณหยุดนิ่งเท่ากับธุรกิจของคุณกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงได้ครับ
ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย