สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิกฤตปลาทูไทยแหล่งโปรตีนราคา-แสน-แพง

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...นรินทร์ ใจหวัง

ในอดีต "ปลาทู" ได้ชื่อว่าเป็นอาหารคู่ครัวของคนที่เบี้ยน้อยหอยน้อย เพราะราคาเพียงเข่งละไม่กี่บาท แต่มีคุณค่าทางอาหารสูงโดยเฉพาะโปรตีน ทว่าปัจจุบัน ปลาทูไม่ใช่โปรตีนราคาถูกที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่ายเสียแล้ว เพราะราคาปลาทูหนึ่งตัวที่วางจำหน่ายอยู่ในตลาดสดนั้นสูงพอๆกับอาหารสำเร็จรูปหนึ่งจาน หรืออาจจะมากกว่าเสียด้วยซ้ำ

ปัจจุบันราคาปลาทูไม่ว่าแผงค้าขายภาคใดก็แล้วตาม ล้วนแต่มีราคาเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ปลาทูทอดตัวโตราคาตัวละ 70 บาทก็มีให้เห็นมาแล้ว

ภัทรพร คำวัน พนักงานบริษัทเอกชนในย่านกลางกรุง ระบุว่า ราคาปลาทูเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้บางครั้งต้องเลือกซื้อเมนูอื่นไปรับประทานแทน เพราะราคาปลาทูเดี๋ยวนี้ไม่ต่างจากกับข้าวถุงหนึ่ง หลายครั้งยอมรับว่า ซื้อไม่ลงจริงๆ

"ปลาทูแพงขึ้นมากจริงๆ ครับ คือมันตัวใหญ่ก็จริงแต่ราคามันสูงมากเช่นกัน โดยเฉพาะตอนปลาทูทอดสำเร็จ ราคาแพงมากว่าแกงถุงราคา 25-35 บาทเสียอีก แต่บางครั้งเราอยากกินจริงๆ ก็ต้องซื้อครับ"

จากแหล่งโปรตีนหาง่าย ทำไมถึงแพง?

"ปิยารมย์ ผ่องแผ่ว" เจ้าของห้องแช่เย็นปลาทูทวีทรัพย์ ให้ความเห็นถึงราคาปลาทูที่เปลี่ยนแปลงไปมาก ว่า ทุกวันนี้ปลาทูไทยไม่เพียงพอต่อการบริโภค เราจึงนำเข้าปลาทูจากหลายประเทศ ทั้ง โอมาน ปากีสถาน อินเดีย และอินโดนีเซีย ซึ่งเจ้าชนิดหลังสุดดูจะเป็นที่ชื่นชอบของคนไทยมากเป็นพิเศษ เพราะตัวโต เนื้อเยอะ น่ากิน และรสชาติดีไม่แพ้ปลาทูไทยมากนัก

"ปลาทูอินโด หนังบาง มัน เกล็ดแทบไม่มองไม่เห็น ปลาอินเดียก็คล้ายกันแต่ราคาสูงกว่า แต่ถ้าเป็นปลาจากประเทศ โอมาน ปากีสถาน แถบทะเลทราย ตัวจะใหญ่ เกร็ดจะเยอะ นิยมเอามาทำปลาทูเค็มมากกว่าทอดกิน เพราะเกล็ดหนาเป็นแผ่นเลย สำหรับคนไทยจะชอบกินปลาทูอินโดฯมากที่สุด ราคามันใช้ได้ ตลาดรองรับ คนนิยมตัวที่อ้วนสั้น เพราะเวลาหักคอลงเข่งมันจะดูตัวใหญ่ ขายได้ราคา

ปิยรมณ์ ยอมรับว่าปลาทูอินโดฯ กำลังยึดครองใจคนกินปลาทูได้มากขึ้น อาจเป็นเพราะตัวโต ดูน่าทานและอีกประเด็นก็เพราะราคานำเข้านั้นถูกว่าปลาทูจากประเทศอื่นมาก

"เรือที่ประเทศไทย ไปทำสัมปทานกับอินโดฯ เราก็ไปลากปลา ถ่ายใส่เรือเล็กแล้วก็ลากมาขาย น้ำหนักถุงละ 12-15 กิโลกรัมมีคนนำเข้ากว่า30 บริษัท ราคามันจะเบากว่านำเข้าจากที่อื่น เพราะประเทศอื่นอยู่นอกเขต ทำให้ราคาปลาทูมันต่างกัน คุณภาพก็ต่างกัน เพราะการแช่แข็งปลามันมีหลายเกรด  ราคาก็ยังแล้วแต่ไซส์ แต่ละฤดูก็ไม่เหมือนกัน ช่วงนี้ก.ย.- ต.ค. เรากำลังเข้าหน้าปลาอินเดีย  หลังจากต.ค.จะเป็นปลาทูปากีสถาน แต่ปลาอินโดฯจะมีมาตลอด

ถึงแม้จะคว่ำหวอดในวงการนำเข้าปลาทู แต่ปลาทูแม่กลองก็ยังเป็นหนึ่งที่คนไทยหลายคนลืมไม่ลง ถึงแม้ที่ผ่านมาลูกค้าจะเลือกซื้อปลาทูต่างสัญชาติมากขึ้น แต่ก็ยังมีจำนวนมากที่ยังนิยมปลาทูไทยอยู่

"มันบอกไม่ได้ว่าปลาที่ไหนอร่อยกว่ากัน เพราะขึ้นอยู่กับรสนิยมของคนมากกว่า แต่สำหรับพี่ปลาอ่าวไทย อร่อยที่สุด ตัวเล็กๆ 3 ตัว 10 บาท ลาก ทอดกรอบๆ กินได้ทั้งตัว ส่วนใหญ่ขึ้นจากประจวบ ชะอำ แม่กลอง คุณภาพก็จะต่างกันตามคุณภาพการจับ ปลาทูไทยก็มีขายตลอดเกือบทั้งปี ยกเว้นช่วงที่เขาปิดอ่าว แต่สำหรับปลาต่างชาติ คนไทยคงชอบปลาอินโดฯมากที่สุด เพราะเนื้อมันเยอะ คนละสไตล์กับปลาทูไทย" เจ้าของห้องแช่เย็นปลาทู กล่าว

แล้วปลาทูไทยหายไปไหน?

สุรจิต ชิรเวทย์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสมุทรสงคราม แกนนำเครือข่ายประชาชนคนรักแม่กลอง กล่าวว่า ปลาทูไทยไม่ได้หายไปไหนแต่กำลังลดจำนวนลงมาก รวมทั้งขนาดก็เล็กลงไปเรื่อยๆ ซึ่งอาจมาจากหลายปัจจัยเช่น อาจจะเกิดจากการถูกจับมาเกินศักยภาพในการขยายพันธุ์ และมาตรการอนุรักษ์ยังไม่ได้ผล ถึงจะมีการปิดอ่าวในช่วงปลาทูวางไข่ซึ่งทำมาแล้วเป็น 10 ปี แต่ก็ยังไม่ได้ผลมากนัก ส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจากการพัฒนาเครื่องมือของเรือพาณิชย์ที่ใช้จับปลารุดหน้า กว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบจะตามทันได้ ขนาดของปลาจึงเล็กลง

เมื่อสมัย 20-30 ปี ก่อนที่จะมีอวนลาก ขนาดปลาทู 8-10 ตัวต่อกิโลกรัม มันเยอะนะ ยุคที่ใช้เครื่องมือประจำที่ หรือกึ่งประจำที่ เช่นโป๊ะ เรายังสามารถหาได้ปลาขนาดนั้นได้อยู่  ประกอบกับสมัยนั้นยังไม่มีการทำเขื่อนมากนัก ไม่มีตัวกั้นน้ำจืดที่พาสารอาหารให้ลงมาสู่ทะเล ทุกๆฤดูน้ำหลาก น้ำในแผ่นดินจะมาเติมตะกอนดินชายฝั่ง จริงๆ 40-50 กิโลเมตรจากชายฝั่งจะเป็นระยะแนวที่น้ำจืดจะพุ่งลงมายังทะเลได้ แต่มันก็มีหลายๆ อย่างที่ทำให้น้ำจืดที่พัดลงมาสู่ทะเลไม่เหมือนเดิม รวมทั้งสารเคมีที่มากขึ้นด้วย จากที่เคยไหลลงมาตามไหล่ทวีปก็มรปรมาณน้อยลง  หดสั้น ความอุดมสมบูรณ์ก็น้อยลงตามไปด้วย

เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้วรายงานของจังหวัดสมุทรสงครามระบุว่า โป๊ะจับปลาทูลูกสุดท้ายเคยอยู่ไกลถึง25 กิโลเมตรจากฝั่งและเคยมีเป็นร้อยลูกต่อมาเหลืออยู่ประมาณ 50 ลูก จนปัจจุบันโป๊ะปลาทูที่แม่กลองเหลืออยู่ 3 โป๊ะ ทำจากไม้รวกเป็นโป๊ะขนาดเล็กลงมาก และอยู่ห่างฝั่งแค่10 กิโลเมตรเท่านั้น

ปลาทูก็เป็นสัตว์เคลื่อนที่ คนก็ยังพัฒนาเครื่องมือการตามจับปลาทูขึ้นมา ทั้งอวนตังเก ซึ่งเป็นอวนล้อมจับชนิดหนึ่ง แต่ไม่ไฮเทคมาก จนมาถึงอวนลากที่เริ่มจากพ.ศ. 2510 เป็นต้นมาเพิ่มจำนวนมากขึ้น มาตรการทางรัฐที่ตามไม่ทันทำให้ปลาทูลดลงไปมาก ถึงแม้พิษจากยุคปัจจุบันที่น้ำมันแพง จะทำให้เรืออวนลากเปลี่อนไปจับสัตว์น้ำอย่างอื่นแทนปลาทู แต่กลายเป็นคนก็พัฒนาอวนล้อมจับ อวนคอก ให้ยาวขึ้น จับปลาได้มากขึ้นตาข่ายถี่ขึ้นจับปลาตัวใหญ่ไปหมด มันทำให้เรากำลังสงสัยว่าปลาตัวใหญ่ที่มียีนเด่นถูกไล่ล่าไปมาก เหลือแต่ยีนที่ด้อยลง เพราะกลุ่มตัวใหญ่มันหายไปหมด ทำให้จำนวนและขนาดของปลาทูไทยลดลงอีกประเด็นหนึ่งด้วย

"แม้แต่ในงานกินปลาทูที่เราจัดทุกปี เราก็อยากจำกัดขนาดปลานะ ให้ต่ำกว่า12 ตัวต่อกิโลกรัม เราอยากให้เป็นแบบนั้น แต่สภาพจริงๆ มันยากมาก มันต้องถึง 15 - 20 ตัวต่อกิโลกรัมเลยที่เดียว แต่พอปลาตัวเล็กกว่านี้ คนก็เอาไปแล่ตากแดดเดียวซะอีก คนก็ได้กินปลาทูไซส์นี้ในรูปแบบอื่นได้อีก มันคงเป็นเพราะประชากรที่มากขึ้น ความต้องการก็มากขึ้นนั่นเอง"สุรจิตกล่าว

ทางรอดปลาทูไทย

ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอย่าง กรมประมง ก็พยายามที่จะพัฒนาให้ปลาทูกลับมามีขนาดที่พอเหมาะ และจำนวนเพียงพอต่อความต้องการของคนไทยเอง แต่ต้องยอมรับว่าการวิจัยในทุกเรื่องย่อมต้องใช้งบประมาณสูง ทำให้ยังประสบความสำเร็จมากนัก ที่ผ่านมากรมประมงได้ทำการเพาะพันธุ์ปลาทู อยู่แต่ยังไม่สามารถควบคุมไปจนถึงช่วงเวลาการวางไข่ของปลาทูได้

"ปลาทู กินแพลงตอนพืช 70 %กินแพลงตอนอื่น 30 % วางไข่หลังน้ำหลาก ร่างกายสมบูรณ์เต็มที่ตอนตุลาคม - พฤศจิกายน หลังจากนั้นก็วางไข่ เติบโต หน้าฝน ขยายพันธุ์หน้าหนาว เราจะปิดอ่าวทุกปีตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. -15 พ.ค. ใช้มาตรการนี้เป็นสิบปีแล้ว 2 ปีให้หลังที่ผ่านมาก็ทดลองมีการปิดอ่าว กไก่ ซึ่งเป็นอ่าวชั้นในด้วย บริเวณตั้งแต่หน้าอำเภอเมืองประจวบ ลงไปจนถึงสมุย พงัน ขนอม ต้องรอดูผลว่าจะออกมาเป็นอย่างไร"

ปลาทูแม่กลองจากวันละ2ตันเหลือ300ก.ก.

ปลาทูแม่กลอง ปลาทูโป๊ะที่โด่งดัง ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงข้ามคืน แต่เป็นวัฒนธรรมชายทะเลที่ทำให้รสชาติปลาทูที่นี่กระฉ่อนไปทั่วประเทศ นอกจากเคยเป็นแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ของเหล่าฝูงปลาทูแล้ว วิธีในการจับปลาที่ปราศจากความรุนแรงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้ปลาอร่อย


"ที่เราเห็นไซส์ใหญ่ 10 ตัวต่อโลกรัม ขึ้นไปมันเป็นปลานำเข้า มันอยู่ในน่านน้ำที่ลึกกว่าเรา อย่างอินโดนีเซีย ปาปัวนิวกินี เพราะเขาก็มีป่าชายเลนเยอะเหมือนกัน  จริงๆ ไม่ใช่ว่าเขาจะอร่อยน้อยกว่าเรา แต่อาจจะเป็นเรื่องของกรรมวิธีจับ เราไปหากินไกล เรือแม่จะอยู่ในทะเล 45 วัน พอนำอวนขึ้นมาบนดาดฟ้าเรือ ก่อนที่จะเลือกเกรด ขนาดปลาใส่ห้องแช่แข็ง มันกองอยู่บนดาดฟ้านานแค่ไหน ใส่ห้องเย็นไปแล้วก็กว่า 15 ชม. ที่ความเย็นถึงจะเข้าไปทั่วถึง สภาพปลาจึงจะหยุดนิ่ง มาตรการในการถนอมอาหาร มันใช้แรงงานระดับล่าง ไม่ใช่แรงงานฝีมือ กว่าจะมาถึงเรา มันเทียบกับประมงพื้นบ้านไม่ได้ ที่เราอร่อย เพราะสด ของวันต่อวัน และการจับที่นุ่มนวล ไม่ใช่อวนลาก 4 ชม. จะเอาขึ้นมาครั้งหนึ่ง ปลาก็เครียด บาดเจ็บหรือช้ำ

แต่ปลาทูโป๊ะที่แม่ค้าไปโฆษณาทุกตลาดเนี่ย มันอร่อยกว่าเขาก็ตรงกระบวนการล้อมจับที่ไม่มีความรุนแรงอะไรเลย โป๊ะเป็นการหลอกให้ปลาเข้ามาในโป๊ะ ค่อยกระชับพื้นที่เข้ามา แล้วเอาอวนไปยกขึ้นเฉยๆ ฉะนั้นปลาโป๊ะปลาสดๆ เนี่ย จะไม่มีรอยอะไรเลย ตัวดำสนิท  หลังเขียวบรอนส์เงิน เนื้อขุ่น มัน ถือเป็นปลาเกรดเอ แต่ตอนนี้ มีโป๊ะเหลืออยู่แค่ 3 ที่ จับปลาได้วันละ 300 กิโลกรัมเท่านั้นจากเมื่อก่อนจับได้วันละ 2ตัน มันหายไปเป็น 10 เท่า คนแม่กลองก็ได้กินกันเอง กิโลกรัมละ70-80 เขาก็กินเพราะเขาเลือกจากวิธีการจับ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปลาอินโดฯที่เข้ามาชดเชยจะไม่อร่อยนะ อย่างไรก็ดีเป็นการกระจายอาหารทะเลเข้าสู่หัวเมืองชั้นใน ให้ได้รับไอโอดีน ไปในรูปปลานิ่ง ปลาเค็มไป" นายสุรจิตกล่าว


ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต



Tags : วิกฤตปลาทูไทย แหล่งโปรตีน ราคาแสนแพง

view