จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ทีมข่าวเศรษฐกิจภาครัฐโพสต์ทูเดย์
การปูพรมตรวจโกดังเก็บข้าวในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกเมื่อสัปดาห์ก่อนปรากฏหลักฐานชัดเจนว่ามีข้าวเสื่อมสภาพข้าวสวมตอ และมีข้าวหายจำนวนมาก
ที่สำคัญ เป็นที่น่าสังเกตว่าข้าวเน่า ข้าวหาย ส่วนใหญ่จะเป็นข้าวสารที่ได้มาจากโครงการรับจำนำข้าวปีการผลิต 2554/2555 และปีการผลิต 2555/2556
"สัญญาเช่าโกดังข้าวปีการผลิต 2554/2555 และ 2555/2556 เป็นสัญญาเช่าโกดัง เจ้าของโกดังไม่ต้องรับผิดชอบต่อปริมาณและคุณภาพข้าว ต่างจากสัญญาเช่าโกดังเก็บข้าวปีการผลิต 2556/2557 ที่เป็นการเก็บฝากรักษา ซึ่งเจ้าของโกดังจะต้องรับผิดชอบ หากมีข้าวหายหรือข้าวเน่า" นิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย ระบุ
และเมื่อพลิกสัญญาว่าจ้างเอกชนเช่าโกดังเก็บข้าวระหว่างองค์การคลังสินค้า (อคส.) โครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/2556 ก็พบเงื่อนปมที่เปิดช่องให้เกิดการทุจริตตามที่นิพนธ์ตั้งข้อสังเกตจริง
นั่นเพราะเนื้อหาสัญญาทั้ง 12 ข้อ มีสาระสำคัญเช่น สัญญาข้อ 1-3 กำหนดให้ อคส.จะเป็นผู้เช่าคลังสินค้าจากเจ้าของโกดัง เพื่อใช้เป็นสถานที่เก็บรักษาข้าวสารที่สีแปรจากโรงสีที่เข้าร่วมโครงการ โดย อคส.จะจ่ายค่าเช่าให้เจ้าของโกดังในอัตรา 2 บาท/กระสอบระยะเวลาเช่าไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันเก็บข้าว
สัญญาข้อ 5 วรรคแรก ระบุว่า เจ้าของโกดังจะต้องรับรองว่าโกดังเหมาะสมกับการเก็บรักษาข้าว คือปลอดภัย ปลอดเชื้อปนเปื้อน และปลอดจากความเสียหายใดๆ เช่น ความชื้นของพื้นโกดัง สัตว์ที่จะเข้าไปทำความเสียหายแก่ข้าวสารหรือกระสอบบรรจุ น้ำท่วมฝนตกไหลนองหรือสาดกระเซ็นเข้าไปในโกดัง
แต่ถ้าปรากฏว่าข้าวสารและกระสอบข้าวสารที่เก็บอยู่ในโกดังเสื่อมคุณภาพและเสียหายอันมีสาเหตุจากสัญญาข้อ 5 วรรคแรก หรือเสียหายอันเนื่องจากโกดังเก็บข้าวชำรุด เจ้าของโกดังจะต้องชดใช้ค่าเสียหาย
หากพิจารณาตัวสัญญาจะเห็นว่าเจ้าของโกดังเก็บข้าวไม่ต้องมีส่วนรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นข้าวเน่า ข้าวหาย ยกเว้นกรณีข้าวปนเปื้อนเชื้อรา ข้าวถูกมอดกิน และข้าวเสียหายจากน้ำท่วมหรือน้ำฝน
"เมื่อโกดังไม่ต้องรับผิดชอบทั้งปริมาณและคุณภาพข้าว ส่งผลให้มีการส่งข้าวคุณภาพต่ำเข้าโกดัง เช่น โรงสีที่สามารถซื้อข้าวจีทูจีจากพ่อค้าที่นำข้าวเก่าในสต๊อกรัฐบาลได้ในราคาถูก จะนำข้าวเก่าเวียนเข้าโกดัง แล้วนำข้าวใหม่ที่ได้จากโครงการไปขายในตลาด โดยเฉพาะกรณีข้าวเปลือก ซึ่งแทนที่โรงสีจะสีเป็นข้าวสารแล้วส่งเข้าโกดัง ก็นำข้าวเปลือกไปทำเป็นข้าวนึ่งส่งออก เห็นได้จากเมื่อปี2556 ไทยส่งออกข้าวนึ่งกว่า 2 ล้านตัน ทั้งๆที่ข้าวเปลือกส่วนใหญ่เข้าโครงการ" นิพนธ์บอก
ขณะเดียวกัน สัญญาว่าจ้างบริษัทผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าว (เซอร์เวเยอร์) พบที่มีช่องโหว่ คือ เซอร์เวเยอร์จะรับผิดชอบในการตรวจสอบเฉพาะคุณภาพและปริมาณข้าวสารที่เข้าโกดังเท่านั้น แต่ไม่ต้องรับผิดชอบปริมาณและคุณภาพข้าวขาออก จึงเป็นที่มาว่าเหตุใดในการขายข้าวของกระทรวงพาณิชย์จะขายข้าว "ตามสภาพ"แทนที่จะ "รับรองคุณภาพข้าว"ให้ผู้ซื้อ และทุกวันนี้ก็ยังไม่มีการปรับปรุงสัญญาในส่วนนี้เลย
ทั้งยังเป็นต้นตอของเงิน "ค่าเหยียบแผ่นดิน" "ก่อนปีการผลิต 2556/2557 หากโรงสีจะส่งข้าวเข้าโกดังกลางจะต้องจ่ายค่าเหยียบแผ่นดินให้เซอร์เวเยอร์10-20 บาท/กระสอบ ไม่เช่นนั้นเซอร์เวเยอร์จะหาเหตุที่ทำให้โรงสีส่งข้าวเข้าโกดังไม่ทันตามกำหนด และต้องเสียค่าปรับ 0.5% ของมูลค่าข้าว และปรับกันรายวัน จากนั้นเซอร์เวเยอร์จะนำเงินที่ได้ไปแบ่งกับเจ้าของคลังและหัวหน้าคลัง" เจ้าของโกดังกลางแห่งหนึ่ง กล่าว
แม้ต่อมาจะมีการปรับปรุงสัญญาเช่าโกดังเก็บข้าวในโครงการรับจำนำข้าว ปีการผลิต 2556/2557 จาก"สัญญาเช่าคลัง"เป็นการ "สัญญาฝากเก็บรักษาข้าว"คือ "1.เจ้าของโกดังต้องตรวจสอบคุณภาพ ชนิดจำนวน และน้ำหนักข้าวสารก่อนที่จะรับฝากเก็บในคลังสินค้า และ 2.เจ้าของโกดังต้องรับผิดชอบคุณภาพชนิด จำนวน และน้ำหนักข้าวสารตลอดระยะเวลาที่เก็บรักษาหรือฝากเก็บในคลังสินค้าและจ่ายออกจากคลังสินค้า" ซึ่งสามารถป้องกันการทุจริตได้ระดับหนึ่งแต่การจ่ายเงินค่าเหยียบแผ่นดินก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม
"ตั้งแต่โครงการรับจำนำข้าวปีการผลิต2556/2557 โรงสีต้องต้องจ่ายค่าเหยียบแผ่นดินเป็น30 บาท/กระสอบ สำหรับการส่งข้าวขาวเข้าโกดังกลาง และต้องจ่าย 50 บาท/กระสอบ สำหรับการส่งข้าวหอมมะลิเข้าโกดังกลาง เพราะโกดังกลางบอกว่าต้องรับผิดชอบปริมาณและคุณภาพข้าวสาร บางโรงสีรับต้นทุนไม่ไหวก็ลงทุนสร้างโกดังกลางเอง แม้ว่าตอนที่เอาข้าวสารเข้าโกดังต้องจ่าย 7-10 บาท/กระสอบก็ตาม" แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการโรงสี ระบุ
เรียกว่าโครงการรับจำนำข้าว จับจ้องตรงไหนก็เจอทุจริตโกงกินกันตรงนั้นเลยทีเดียว
ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต