อาหารทะเลและประมงไทยในยุโรป : สดใสหรือน่าห่วง
โดย : ดร.อาจารี ถาวรมาศ
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ล่าสุดได้เดินทางไปร่วมงาน Expo ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรปเป็นที่น่าภาคภูมิใจที่ได้เห็น Thai Pavilion นำอุตสาหกรรมอาหารทะเลและประมงไทย
เข้าร่วมและตั้งตระหง่านในงาน European Seafood Exposition ประจำปี 2557 ระหว่างวันที่ 6-8 พ.ค. ณ กรุงบรัสเซลส์ ท่ามกลางผู้เข้าร่วมชมงานที่เป็นนักธุรกิจในวงการอาหารทะเลและประมงที่มาเยี่ยมชมงานจากทุกมุมโลกกว่าหลายหมื่นคน
European Seafood Exhibition (ESE) เป็นงานแสดงผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคยุโรป จัดเป็นประจำทุกปี ณ ศูนย์แสดงสินค้า Brussels Expo โดยเริ่มจัดมาตั้งแต่ปี 2536 มีผู้ประกอบการเข้าร่วมออกบูธแสดงสินค้ากว่า 1700 ราย จากประเทศต่างๆ มากกว่า 75 ประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้นำเข้า ผู้ส่งออกจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้มาพบปะและหารือข้อธุรกิจการค้ากัน ในแต่ละปีมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 30,000 คน ประเทศไทยในฐานผู้ส่งออกสินค้าอาหารทะเลและประมงสำคัญของโลกก็เป็นประเทศที่เข้าร่วมงาน Expo นี้อย่างสม่ำเสมอและมีบทบาทสำคัญในงานดังกล่าวติดต่อกันมาหลายปี
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเฮก ได้นำคณะผู้ประกอบการอาหารทะเลของไทยและสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยเข้าร่วมจัดแสดงสินค้าพบปะลูกค้าและเจรจาธุรกิจเพื่อรักษาและขยายตลาดสินค้าประมงไทย โดยได้รับเกียรติจากเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ นายนพปฎล คุณวิบูลย์ ร่วมสาธิตการทำอาหารไทยและปรุงอาหารไทยแจกจ่ายให้แก่ผู้เข้าร่วมงานได้ชิม ร่วมกับเชฟโจซึ่งเป็นเชฟมือหนึ่งของร้าน Blue Elephant ณ กรุงบรัสเซลส์
อาหารทะเลและประมงไทยในตลาดยุโรป
สินค้าอาหารทะเลและประมง ไม่ว่าจะเป็นกุ้งแช่แข็ง กุ้งแปรรูป หรือปลาทูน่ากระป๋อง เป็นสินค้าส่งออกประเภทเกษตรและอาหารที่สำคัญลำดับต้นๆ ของไทย มีศักยภาพในการผลิตประมาณ 3 ล้านเมตริกตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าการส่งออกประมาณ 8.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีตลาดยุโรปเป็นตลาดหลัก
ตลาดยุโรปไม่ใช่ตลาดที่ง่ายสำหรับผู้ส่งออกไทย แม้จะเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูงของผู้บริโภคจำนวนหลายร้อยล้านคนแต่ก็เป็นตลาดที่มีความท้าทายและเรียกได้ว่า demanding มาก ไม่เฉพาะเพียงแต่มาตรฐานสูงด้านความปลอดภัยของอาหารตามกฎระเบียบอียูที่เข้มงวดแล้ว ผู้ซื้อยุโรปยังต้องการสินค้าคุณภาพ สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม และสินค้านวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุโรปที่สำคัญ ผู้บริโภคยุโรปยังใส่ใจประเด็นด้านสังคม การใช้แรงงาน และการรักษาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจของผู้ส่งออกสินค้ามาขายยังตลาดยุโรปอย่างมากด้วย อาจกล่าวได้ว่าผู้บริโภคยุโรปอาจนำปัจจัยด้านภาพลักษณ์ที่ดีหรือไม่ดีของประเทศผู้ส่งออกเกี่ยวกับประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมมาตัดสินว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อสินค้าดังกล่าวเลยก็ว่าได้สำคัญไม่น้อยไปกว่าปัจจัยด้านราคาเลยทีเดียว ดังนั้น Theme งานปีนี้ของประเทศไทยจึงเน้นการให้ความมั่นใจภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ และผู้ซื้อยุโรป ว่าสินค้าอาหารทะเลไทยนั้นปลอดภัยได้มาตรฐาน มีความเป็นธรรม และรักษาสิ่งแวดล้อม “Safe, Fair, and Environmental Friendly”
เราปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็นด้านแรงงานและสวัสดิการสังคมมีความเกี่ยวพันกับการค้าระหว่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในการดำเนินความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศไทยกับประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ และอียู โดยบางครั้งนำประเด็นด้านแรงงานและสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสภาพในการทำงานการใช้แรงงานเด็กและแรงงานชนกลุ่มน้อย หรือประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนมาผูกพันกับการให้สิทธิพิเศษทางการค้าแก่ประเทศผู้ส่งออก (ในกรณีสหรัฐฯ) หรือบางครั้งนำมาผสมกลมกลืนไว้ในบางข้อบทของการเจรจาเขตการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าต่างๆ (ในกรณีของอียู)
ในระหว่าง European Seafood Exposition ครั้งนี้ ได้มีโอกาสพบปะกับภาครัฐและเอกชนไทยที่เกี่ยวข้องและรับฟังความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการของไทยในการแก้ไขปัญหาต่างๆ อาทิ การส่งเสริมเรื่องการใช้แรงงานและสภาพวะการทำงานที่ดีในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลไทยแล้วก็ใจชื้นว่าอนาคตสินค้าอาหารทะเลและประมงไทยสดใสแน่
ดร.วราภรณ์ พรหมพจน์ จากกรมประมง ได้ให้ความมั่นใจได้ว่าไทยได้มีการดำเนินการอย่างแข็งขันและมีระบบมาเป็นระยะเวลาหลายปี ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาประมงเถื่อนหรือที่อียูเรียกว่า IUU Fishing (Illegal, Unreported, Unregulated Fishing) ตามที่กฎระเบียบอียูเรียกร้อง โดยปัจจุบันหน่วยงานที่รับผิดชอบของไทยได้แก่กรมประมงได้ดำเนินการจดทะเบียนเรือประมงจากที่มีจำนวนเพียง 159 ลำในปี 2553 ปัจจุบันเป็น 42,000 ลำ ในปี 2557 และได้จัดตั้งระบบ Catch Certification Scheme ตามที่อียูเรียกร้องตามกฎระเบียบได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับจากอียู
ที่สำคัญ ด้วยความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมประมง กระกรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงแรงงาน องค์กร InternationalLabourOrganisation (ILO) สมาคมแช่เยือกแข็ง และสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดตั้งโครงการส่งเสริมสภาวะการทำงานที่ดี (Better Working Conditions) และจัดทำ Good Labour Practices (GLP) ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้ง อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารทะเล และอุตสาหกรรมการประมงไทยซึ่งเน้นการต่อต้านการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ การค้ามนุษย์ ในอุตสาหกรรมอาหารทะเลและประมงไทย
1 ม.ค. 2558 ไทยหมดสิทธิได้รับ GSP จากอียู
แต่ประเด็นที่น่าห่วงกังวลของอุตสาหกรรมอาหารทะเลและประมงไทยก็คือการที่ไทยจะหมดสิทธิพิเศษทางภาษี GSP จากอียูสำหรับทุกตัวสินค้าตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2558 เป็นต้นไป เนื่องจากไทยได้รับการจัดอันดับโดย World Bank ตาม GNI per capita ให้เป็น upper-middle income country ติดกันมาเป็นระยะเวลา 3 ปี ส่งผลให้ประเทศไทยต้อง “จบการศึกษา” จากระบบ GSP จากอียูในที่สุด ซึ่งอียูเน้นว่าจะให้สิทธิ GSP แก่ประเทศพัฒนาน้อยเท่านั้น
สำหรับสินค้าอาหารทะเลและประมงที่จะได้รับผลกระทบก็คือกุ้งแช่แข็งที่อัตราภาษีจะเพิ่มจาก 4.2 % ภายใต้ GSP กลายเป็น 12% ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2558 ในขณะที่กุ้งแปรรูปได้หมดสิทธิ GSP (ในลักษณะ section graduation) ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2557 (จาก 7% กลายเป็น 20%) อัตราภาษีที่สูงขึ้นแบบก้าวกระโดดแบบนี้จะส่งผลกระทบต่อตัวเลขการส่งออกสินค้าอาหารทะเลและประมงของไทยไปยังตลาดอียูในปี 2557 - 2558 อย่างแน่นอน และส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยที่มีราคาสูงขึ้นแข่งขันกับคู่แข่งที่ยังได้ GSP ไม่ได้และต่อการจ้างงานในอุตสาหกรรมกุ้งและอาหารทะเลไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในการประชุมในหัวข้อ Fishery Trade in the Thai-EU FTA ในวันที่ 7 พ.ค. 2557 ที่จัดโดยสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ที่กรุงบรัสเซลส์ ณ สถานที่จัดงาน Seafood Expo Global อัครราชทูต พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้ช่วยทูตฝ่ายการพาณิชย์ได้ให้ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับสถานะการเจรจาเอฟ ที เอ ไทย-อียู และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสินค้าประมงไทยโดยได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนไทยและยุโรปเกี่ยวกับการร่วมมือกับภาครัฐไทยเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อปกป้องผลประโยชน์และส่งเสริมการส่งออกสินค้าอาหารทะเลและประมงไทยในตลาดอียูผ่านการเจรจาเอฟ ที เอ ไทย-อียู ได้รับความสนใจจากภาครัฐและเอกชนไทยและยุโรปเป็นอย่างมาก
สุดท้าย อาจกล่าวได้ว่า การเจรจาเอฟ ที เอ ไทย-อียู เป็นทางออกเดียวที่จะช่วยเยียวยาผลกระทบจากการถูกจัดสิทธิ GSP ดังกล่าว โดยต้องมีการเจรจาเพื่อเปิดตลาดและลดอัตราภาษีสำหรับสินค้าอาหารทะเลและประมงสำคัญของไทย ไม่ว่าจะเป็นกุ้ง ปลาทูน่า ให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และให้มีการปรับใช้ภาษีต่ำ (กว่า MFN rate) ภายใต้เอฟ ที เอ ให้เร็วที่สุด เพื่อรักษาตลาดและประกันอนาคตที่สดใสของอุตสาหกรรมอาหารทะเลและประมงไทยในยุโรปไว้ให้ได้ แต่อย่างไรก็ดี ก็ทราบว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอุตสาหกรรมอาหารทะเลและประมงในยุโรปก็จับตาและมีท่าทีปกป้องตลาดภายในของตนเองอยู่ไม่น้อย
การเจรจาเอฟ ที เอ ไทย-อียู รอบล่าสุด (รอบที่ 4) มีขึ้นเมื่อ เม.ย. 2557 ณ กรุงบรัสเซลส์ และคาดว่ารอบต่อๆ ไปจะมีขึ้นที่กรุงเทพฯ และกรุงบรัสเซลส์ในปี 2557 นี้ คงต้องติดต่อกันต่อไปว่าการเจรจาการเดินไปในทิศทางใด การประสานผลประโยชน์และ trade-off ระหว่างไทยและอียูในการเจรจาดังกล่าวจะเป็นอย่างไร และจะปิดการเจรจาได้รวดเร็วเพียงไร เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าของทั้งสองฝ่าย
----------------------
ดร. อาจารี ถาวรมาศ เป็นผู้บริหารบริษัท Access-Europe บริษัทที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และนโยบายเกี่ยวกับสหภาพยุโรปสำหรับภาครัฐและเอกชนไทยที่สนใจเปิดตลาดยุโรป www.access-europe.euหรือติดตามได้ที่ www.facebook.com/AccessEuropeCoLtd
ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต