จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ แว่นขยายเศรษฐกิจ โดย ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ppuapan@gmail.com
ในช่วงชีวิตหนึ่ง มนุษย์เราจะสามารถมีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ถือได้ว่ามีผลกระทบในวงกว้าง และเรียกได้ว่ามาเปลี่ยนแปลงอารยธรรมของโลกเลยก็ว่าได้ เช่น วงล้อและคันไถในยุคเกษตรกรรมเมื่อหลายพันปีก่อน เครื่องพิมพ์ในปลายยุคกลางของยุโรป เครื่องจักรไอน้ำในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยีการสื่อสารและอินเทอร์เน็ตในยุค Digital Age ที่เราใช้กันทุกวันนี้อย่างแพร่หลาย จนทำให้เรานึกกันไม่ออกเลยถึงในอดีตเมื่อ 20-30 ปีก่อนที่เราไม่มีสิ่งเหล่านี้ว่ามันเหมือนยุคอดีตที่ล้าหลังมาก
มองไปข้างหน้า ผมอยากจะให้พวกเราทราบถึงนวัตกรรมอันหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นและขยายตัวอย่างรวดเร็ว คือ "การพิมพ์ 3 มิติ" หรือ 3D Printing ที่มีศัพท์ทางเทคนิคว่า "Additive Manufacturing" ซึ่งในวันนี้หากเราจะยังไม่ได้ตื่นเต้นกับการพิมพ์ 3 มิติ อาจเป็นเพราะเราไม่ได้คิดการใหญ่พอที่จะเข้าใจว่าเทคโนโลยีนี้กำลังจะเปลี่ยนทุกชีวิตบนโลกในเร็ววันข้างหน้า
นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าการพิมพ์ 3 มิติจะทำให้โลกในอีก 50-75 ปีข้างหน้าเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงจากชีวิตในวันนี้
ในอนาคตมนุษย์เราจะมีชีวิตอยู่ถึง 100 ปี เพราะเทคโนโลยีการแพทย์กำลังจะสามารถ "พิมพ์" อวัยวะชีวภาพขึ้นมาทดแทนอวัยวะที่ชำรุดเสื่อมโทรมได้ โดยที่นักวิทยาศาสตร์เริ่มศึกษาทดลองการพิมพ์ผิวหนัง ไต แบบจำลองของหัวใจมนุษย์ ซึ่งในอนาคตถ้าคนที่ต้องสูญเสียแขนขาเราก็จะสามารถที่จะพิมพ์ขึ้นใหม่แทนได้
ในอนาคตบริษัทสามารถที่จะผลิตสินค้าในประเทศด้วยวัตถุดิบและวัสดุที่แทบจะไม่มีการสูญเสีย และความจำเป็นในการ Outsource จากประเทศพัฒนาแล้วไปให้ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ อาจจะลดลงหรือหายไปเลยก็ได้ เช่น ถ้าหากคนสหรัฐอเมริกาสามารถพิมพ์รองเท้าได้ พวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องไปจ้างการผลิตรองเท้าที่ประเทศจีนหรือประเทศไทย
ทั้งนี้ หากการใช้การพิมพ์ 3 มิติแพร่หลายมากขึ้น อาจจะเกิดการสูญสิ้นของหลายๆ อุตสาหกรรมที่ปรับตัวไม่ทัน ที่ยังใช้วิธีการแบบเดิมๆ ของการสร้างและการผลิตที่ล้าสมัย ในวันนี้เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติกำลังก้าวหน้าไปเรื่อยๆ
โดยที่นักออกแบบชาวอเมริกันกำลังออกแบบและผลิตรถในรูปแบบเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ ในขณะที่ในประเทศจีนเครื่องพิมพ์ 3 มิติกำลังสร้างบ้านทั้งหลังให้คนจีนอีกหลายร้อยล้านคนที่กำลังต้องการบ้านอยู่อาศัยในอนาคต ในประเทศอังกฤษมีการพิมพ์ 3 มิติสำหรับเมนูอาหารแฮมเบอร์เกอร์
นอกจากนี้ องค์กรและบริษัทชั้นนำของโลก เช่น NASA Boeing และ GE ต่างก็ลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน โดยใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติในการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ
ผมคิดว่าเราต้องหันกลับมาดูโครงสร้างการผลิต และความสามารถแข่งขันของประเทศไทยว่า เราควรจะหาตำแหน่งยืนตรงไหนในโลกแห่งการพิมพ์ 3 มิติ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อจากนี้
Disclaimer : คอลัมน์นี้เผยแพร่เพื่อให้ความรู้ และเป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่ใช่ความเห็นของ สศค.
ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต