การปฏิรูปประเทศด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม
โดย : พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วิกฤติสังคมที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันทำให้หลายฝ่ายเริ่มตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องทำอะไรสักอย่างให้ประเทศดีขึ้นในระยะยาว
แวดวงนักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ และวิศวกรก็รู้สึกเช่นเดียวกัน ความห่วงใยดังกล่าวในจังหวะนี้จะว่าไปแล้วเป็นพลัง และเป็นโอกาสที่สามารถคิด หรือช่วยกันผลักดัน ให้เข้าสู่จุดที่ประเทศไทยจะเจริญก้าวหน้าได้ ด้วยการร่วมกันเดินฝ่าวงล้อมของปัญหาทางการเมือง ปัญหากับดักประเทศรายได้ปานกลาง และกับดักความเหลื่อมล้ำของรายได้และความไม่เป็นธรรมในสังคม
เมื่อเร็วๆ นี้ สวทน. ได้เสนอการปฏิรูปประเทศด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยังรัฐบาลปัจจุบัน และคงจะเสนอรัฐบาลชุดต่างๆ ในอนาคตอย่างต่อเนื่อง ในรอบแรกนี้เป็นแนวทางการพัฒนาเชิงระบบ เพื่อชี้ให้เห็นว่า เป้าหมายในการพัฒนาประเทศที่สำคัญนั้นหลีกเลี่ยงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไม่ได้ แต่หากยังไม่เห็นความสำคัญหรือไม่เอาใจใส่ อาจเกิดผลเสียอย่างรุนแรง สังเกตดูจากประเทศอื่นๆ ล้วนแต่เร่งพัฒนา เร่งลงทุน เพื่อสร้างฐานนวัตกรรมในกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจและการลดช่องว่างในสังคม ด้วยสิ่งที่เรียกว่า วทน.
หากเอาเป้าหมายของประเทศเป็นตัวตั้งทางเศรษฐกิจเราประสงค์จะสร้างขีดความสามารถให้กับภาคเอกชน ทางสังคมเราประสงค์จะลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และทางสิ่งแวดล้อมเราประสงค์ให้เป็นสังคมเขียวที่พัฒนาอย่างยั่งยืนก็ต้องยืนยันกันเสียแต่ต้นว่า ไม่มี วทน. ก็จะไม่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้แน่นอน !
แน่ล่ะ รัฐมีเครื่องมือหลายชิ้นในการขับเคลื่อนเป้าหมายประเทศดังกล่าวแต่รัฐมักจะคุ้นเคยกับการพัฒนาระบบการศึกษา สาธารณสุข การค้าการลงทุน การพลังงานและสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงความมั่นคง แต่ไม่เคยมีครั้งใดที่รัฐบาลชุดต่างๆ จะประกาศให้การพัฒนานวัตกรรมของชาติ ซึ่งรวมถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นเป้าหมายหลักของประเทศ และลงมืออย่างเอาจริงเอาจัง
สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และอีกหลายประเทศ มีตัวอย่างที่ชัดเจน จากที่ผู้นำลงมาชี้ทางและสนับสนุน วทน. อย่างจริงจังแข็งขัน ผู้นำที่ว่ายังต้องเป็นผู้นำสูงสุดจึงจะเกิดการปฏิบัติที่แท้จริง นำไปสู่การวางเป้าหมายที่ชัดเจน มีเม็ดเงินที่ลงทุนจริงเพื่อสร้างความเข้มแข็งในภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคการวิจัย และที่สำคัญคือมีการใช้แรงกระตุ้นเพื่อให้ภาคเอกชนลงมือลงไม้ในการสร้างและนำเอาความรู้ทางด้าน วทน. ไปใช้ให้เกิดผลเชิงพาณิชย์ และหากเข้าใจถูกต้องว่าเรื่อง วทน. นี้ไม่ใช่เรื่องระยะสั้น แต่เป็นการสร้างความเข้มแข็งระยะยาวแล้ว การสร้างความต่อเนื่องให้กับการลงทุนทั้งของรัฐและเอกชนจึงจะบรรลุเป้าหมายได้จริง
ในหลายประเทศ การจัดสรรงบประมาณด้าน วทน. จึงมอบหมายให้ผู้รู้หรือหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเชิงนโยบายทางด้าน วทน. เป็นผู้ดูแลการจัดสรรงบประมาณ วทน. สามารถลดทอนความไร้ประสิทธิภาพในการทำโครงการ วทน. ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณรายปีได้
สำหรับคำว่า วทน. เองนั้นยังต้องอธิบายกันอยู่มาก ด้วยยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่า วทน.คือการวิจัย ทั้งที่จริง วทน. หรือ ระบบ วทน. นั้น มีขอบเขตครอบคลุมกว้างขวาง และมีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่หลายส่วนที่ระบบวิจัยเอื้อมมือไปไม่ถึง
ระบบ วทน.ที่ว่านี้ อย่างน้อยประกอบด้วยห้าองค์ประกอบสำคัญ คือ การวิจัย, การสร้างกำลังคนทางด้าน วทน., การเชื่อมโยงการวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชิงพาณิชย์, การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน วทน., และการเชื่อม วทน. ในระดับโลก
วันนี้สังคมเริ่มซึมซับความเข้าใจว่าประเทศต้องลงทุนในการวิจัยซึ่งส่วนใหญ่เป็นการวิจัยทางด้าน วทน. ในวงเงินลงทุนร้อยละหนึ่ง ของจีดีพี ก้าวต่อไปคือการจัดสรรการลงทุนดังกล่าวร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยลงทุนให้ครอบคลุมทั้งโครงการวิจัยที่มีประโยชน์ ลงทุนในคน ลงทุนบางเรื่องให้เอกชนเพื่อให้เอกชนเข้มแข็ง ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ในห้องปฏิบัติการ ในสถานีทดลอง และเครื่องไม้เครื่องมือที่ต้องทันสมัยขึ้น และลงทุนในกิจกรรมที่จะทำให้ประเทศไทยอยู่ในแผนที่โลกทางด้าน วทน. หากประเมินแล้วพบว่าการลงทุนไม่คุ้มค่าก็เลิก แต่หากพบว่าทำให้ไทยเข้มแข็งและสามารถแข่งขันกับโลกได้ ก็ต้องลงทุนอย่างต่อเนื่อง ยุติธรรมดี
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต