จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ปรับแผนปลูกข้าว'คุณภาพ' รับแนวโน้มราคาตลาดโลก'ขาลง'
ราคาข้าวเปลือกในประเทศที่ชาวนาขายได้ลดลงต่อเนื่องนับตั้งแต่การสิ้นสุดโครงการรับจำนำข้างของรัฐบาลเมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา จนราคาร่วงต่ำกว่าระดับราคารับจำนำเกือบ 3 เท่าตัว
แนวโน้มราคาข้าวเปลือกยังลดลงหรืออยู่ในระดับต่ำต่อไป เนื่องจากประเทศผู้ผลิตและบริโภครายใหญ่ในเอเชียต่างมีนโยบายสนับสนุนการเพาะปลูกและการส่งออก
นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่าในช่วงนี้ราคาข้าวเป็นไปตามกลไกการตลาด อยู่ที่ ตันละ 6,000-6,500 บาท ใกล้เคียงกับช่วงเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา แต่ต่ำกว่าราคาในโครงการรับจำนำที่กำหนดไว้สูงถึงตันละ 15,000 บาท
หากเทียบกับราคาข้าวช่วงที่ไม่มีโครงการรับจำนำ ถือว่าเป็นระดับที่สมเหตุสมผล
อย่างไรก็ตาม ระดับราคาข้าวนี้ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของเกษตรที่มีรายได้ต่ำลง ทำให้ต้องมีการวางแผนเพื่อปรับตัวในช่วงการทำนารอบใหม่ที่จะมีในช่วงเดือน พ.ค. นี้ โดยเกษตรกรจะต้องลดต้นทุนการผลิตให้เหลือน้อยที่สุด เพราะแนวโน้มราคาข้าวในระยะต่อไปคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นไม่มากนัก หากต้นทุนการผลิตยังสูงถึงไร่ละ 5,000 บาทขึ้นไป เกษตรกรจะอยู่ในภาวะที่ย่ำแย่มาก
นอกจากนี้ราคาข้าวที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับราคาในโครงการรับจำนำ ยังส่งผลให้ราคาข้าวในประเทศต่างๆ เช่น กัมพูชา เวียดนาม พม่า และอินเดียลดลงไปด้วย และประเทศเหล่านี้ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นผลมาจากข้าวของไทยเข้าไปดั้มราคาตลาดโลก
ดังนั้น ข้าวที่จะออกสู่ตลาดในฤดูกาลใหม่นี้ จะมีการแข่งขันด้านราคาสูงขึ้น เนื่องจากทุกประเทศจะต้องมีการปรับต้นทุนเช่นกัน
นายประสิทธิ์ กล่าวว่า การปรับตัวเรื่องข้าวของชาวนาไทยให้สามารถอยู่ได้จะต้องมีการกำหนดแผนใหม่ และจะต้องเริ่มจากลุ่มเล็กๆเป็นตัวอย่างนำร่องให้กลุ่มอื่นๆปฏิบัติตาม จะดีกว่าการกำหนดนโยบายให้ขับเคลื่อนพร้อมกันทั้งประเทศ ซึ่งไม่ประสบผลสำเร็จอย่างแน่นอน
ดังนั้นทางสมาคมจึงจะเริ่มส่งเสริมการปลูกข้าวคุณภาพในจ.ราชบุรีก่อน หลังจากนั้นจะทยอยไปแต่ละจุด เพื่อให้เห็นจุดด้อย แล้วปรับปรุงและจุดเด่นเพื่อใช้เป็นจุดแข็งในการสร้างความยั่งยืนต่อไป
ข้าวหอมมะลิราคาไม่ร่วง
ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ ในสัปดาห์นี้ ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) เฉลี่ยตันละ 11,400 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,260 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา หรือ 1.24 %
ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี. ข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,032 ดอลลาร์ หรือ 33,135 บาท/ตัน ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,026 ดอลลาร์ หรือ 33,047 บาท/ตัน ในสัปดาห์ก่อน หรือ 0.58% และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 88 บาท
ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 602 ดอลลาร์ (19,329 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 614 ดอลลาร์ (19,776 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อน หรือ 1.95% และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 447 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 396 ดอลลาร์ หรือ 12,715 บาท/ตัน ราคาสูงขึ้นจากตันละ 394 ดอลลาร์ (12,690 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อน หรือ 0.51% และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 25 บาท ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 355 ดอลลาร์ หรือ 11,398 บาท/ตัน ราคาสูงขึ้นจากตันละ 352 ดอลลาร์ (11,338 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อน หรือ 0.85% และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 60 บาท
ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 415 ดอลลาร์ หรือ 13,325 บาท/ตัน ราคาสูงขึ้นจากตันละ 406 ดอลลาร์ หรือ 13,077 บาท/ตัน ในสัปดาห์ก่อน หรือ 2.22% และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 248 บาท
ราคาที่เกษตรขายได้ตามตลาดโลก
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) รายงานว่าการซื้อขายข้าวในสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ ราคาค่อนข้างทรงตัว เนื่องจากเป็นข้าวคุณภาพ และตลาดยังคงมีความต้องการ
ส่วนข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาลดลง เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปรังออกสู่ตลาดมากขึ้น และผู้ประกอบการบางรายชะลอการสั่งซื้อข้าว เพราะรัฐบาลมีการระบายข้าวในสต๊อกจากโครงการรับจำนำ
ทั้งนี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,089 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 14,051 บาท หรือ 0.27% ส่วนราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 6,967 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,042 บาท หรือ 1.07%
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต