สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ข้าวเปลือก ข้าวสาร การตั้งกอง การตรวจคุณภาพและปริมาณ

ข้าวเปลือก ข้าวสาร การตั้งกอง การตรวจคุณภาพและปริมาณ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ข้าวที่ปลูกและบริโภคในประเทศไทย และที่ส่งออกไปต่างประเทศ เกือบทั้งหมดเป็นข้าวพันธุ์ อินดิก้า ที่เป็นข้าวเมล็ดยาว

ที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวหอมพันธุ์ที่เป็นหลัก คือข้าวหอมมะลิ และข้าวหอมปทุมธานี ข้าวเหนียว และข้าวเจ้า ซึ่งมีมากมายหลายร้อยพันธุ์ สำหรับข้าวเจ้าหรือที่เรียกกันในวงการค้าข้าวเรียกว่าข้าวขาว นั้น จะมีทั้งพันธุ์ที่มีระยะเวลาเพาะปลูกสั้นประมาณ 90 วันก็เก็บเกี่ยวได้ บางท้องที่เรียกกันว่าข้าวเบาก็มี ส่วนมากจะปลูกนอกฤดูนาปี ที่เรียกกันว่า นาปรัง และข้าวที่ระยะเวลาเพาะปลูกยาวประมาณ 120 วันจึงเก็บเกี่ยวได้ เป็นข้าวที่ปลูกในฤดูนาปี เป็นข้าวคุณภาพดี เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว และข้าวเจ้าพันธุ์ดีต่างๆ

นอกจากนี้หลายท่านอาจเคยได้ยินที่มีการเรียกกันว่า เป็นข้าวไวแสง หรือเป็นข้าวไม่ไวแสง ข้าวไวแสง เป็นข้าวที่ตอบสนองต่อช่วงแสง คือต้องการแสงแดดปริมาณพอเหมาะจึงจะออกรวง เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวพันธุ์พื้นเมือง ที่ปลูกในฤดูนาปี โดยข้าวเหล่านี้จะออกรวงช่วงฤดูหนาว ที่กลางวันสั้นกว่ากลางคืน ส่วนข้าวไม่ไวแสง เป็นข้าวที่ไม่ตอบสนองต่อช่วงแสง สามารถปลูกในช่วงไหน ฤดูไหนก็ได้ เช่น ปลูกในฤดูนาปรัง

เมื่อชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวแล้วจะนำข้าวเปลือกไปขายที่ท่าข้าว เพื่อขายให้โรงสีต่อไป หรือนำไปขายที่โรงสีโดยตรง หรือโรงสีมารับซื้อที่ท้องนาโดยตรงก็มี โรงสีที่รับซื้อข้าวเปลือกไว้ จะแยกกองข้าวเปลือกตามประเภทข้าว แม้แต่ข้าวเจ้าโรงสีบางแห่งก็อาจแยกตามพันธุ์ข้าว ซึ่งเมื่อสีเป็นข้าวสารสามารถแยกข้าวสารตามพันธุ์ข้าวได้

โรงสีที่รับซื้อข้าวเปลือกไว้ จะสีข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร แยกตามประเภทของข้าว สำหรับโรงสีที่เป็นโรงข้าวนึ่งด้วยก็จะใช้ข้าวพันธุ์ที่คุณภาพไม่ดีนัก เช่น ข้าวนาปรังหรือข้าวเบาผลิตข้าวนึ่งด้วย วิธีการทำข้าวนึ่งโดยสรุปคือ เอาข้าวเปลือกแช่น้ำ แล้วนำไปนึ่งทั้งเปลือก เสร็จแล้วตากหรืออบให้แห้ง แล้วนำข้าวเปลือกนั้นไปสี ออกมาเป็นข้าวนึ่ง

ข้าวสารที่สีได้จะบรรจุในกระสอบป่าน น้ำหนักสุทธิ กระสอบละหนึ่งร้อยกิโลกรัม ตั้งกองไว้เตรียมส่งมอบให้ผู้ซื้อ ทั้งผู้ซื้อที่นำไปจำหน่ายในประเทศหรือผู้ส่งออก ส่วนข้าวนึ่ง มีทั้งที่บรรจุในกระสอบป่านกระสอบละร้อยกิโลกรัม หรือกระสอบจัมโบ้กระสอบละหนึ่งตัน หรือเทกอง (Bulk) เพื่อขายให้ผู้ส่งออกนำไปส่งออกต่อไป คนไทยไม่เคยและไม่ชินกับการบริโภคข้าวนึ่ง ข้าวนึ่งที่ผลิตได้ จึงส่งออกทั้งหมด

ข้าวเปลือก 100 กิโลกรัม จะสีเป็นข้าวสารได้ประมาณ 65 กิโลกรัม ข้าวสารที่สีได้จะเป็นข้าวเต็มเมล็ด และต้นข้าว ประมาณ 42 กิโลกรัม ปลายข้าว 23 กิโลกรัม ซึ่งขึ้นอยู่กับคุณภาพของข้าวเปลือก ทั้งพันธุ์ข้าว การเก็บเกี่ยว การเก็บรักษา และประสิทธิภาพของโรงสี น้ำหนัก ส่วนที่หายไปคือ ส่วนที่เป็นแกลบ รำ และส่วนที่สูญเสียไประหว่างสี

การตั้งกองข้าวสารที่บรรจุกระสอบ ขนาด 100 กิโลกรัม ไม่ว่าในขั้นตอนที่เก็บที่โกดังของโรงสี หรือโกดังของผู้ส่งออก จะคล้ายกัน คือ ต้องมีวิธีการตั้งกองและเรียงกระสอบตามวิธีการที่ได้จากประสบการณ์ที่สั่งสมกันมานาน เพราะถ้าตั้งกองไม่ดีและเรียงกระสอบไม่ดีไม่ถูกต้อง โอกาสที่กองข้าวจะพังลงมามีสูง กองข้าวที่พังลงมาอาจเกิดอันตรายและจะเกิดความเสียหายเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น การตั้งกองข้าว จะเรียงกระสอบทางด้านขวางของกระสอบจากด้านในสุดของกองไล่ออกมาเรื่อยจนถึงหน้ากอง เมื่อเต็ม 5-6 ชั้นกระสอบ ชั้นต่อไปต้องสลับเรียงทางด้านยาวของกระสอบหนึ่งชั้น ที่เรียกกันว่าโพคา เป็นภูมิปัญญาของคนงานที่ใช้กระสอบด้านยาวเป็นตัวยึด ทำให้กองข้าวเกาะกันไม่ล้ม หากไม่ทำวิธีนี้ โอกาสที่กองข้าวจะล้มมีสูงมาก ความสูงของกองข้าวสูงสุดประมาณ 30 ชั้นกระสอบ ซึ่งขึ้นอยู่กับความสูงของโกดังด้วย ส่วนขนาดความกว้างความยาวของกอง ขึ้นอยู่กับปริมาณข้าวที่ต้องตั้งกอง และขนาดของโกดัง โดยสามารถตั้งกองให้เต็มโกดังก็ได้

สำหรับคุณภาพของข้าวสารในแต่ละกอง หากเป็นการค้าขายกันตามปกติโดยสุจริต คุณภาพจะเป็นแบบเดียวกันทั้งกอง แต่ถ้าเป็นไปโดยทุจริต เช่น การทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว จะมีการนำข้าวคุณภาพดีล้อมข้าวที่คุณภาพต่ำหรือที่เสื่อมคุณภาพที่ยัดไส้อยู่ชั้นใน โดยอาจล้อมไว้สองหรือสามชั้นกระสอบ การตรวจสอบคุณภาพกองข้าวในลักษณะเช่นนี้ต้องใช้วิธีการเจาะกองโดยการขนข้าวด้านริมกองออกมาบางส่วน ซึ่งผู้ที่มีประสบการณ์ในการตรวจสอบคุณภาพข้าว จะทราบวิธีการที่ต้องปฏิบัติในเรื่องนี้ว่าควรทำอย่างไร

เป็นธรรมชาติของข้าวที่เก็บไว้นาน จะมีมอดมีแมลงและไรมาไต่ตอมกินข้าวที่เก็บไว้นั้น จึงต้องมีการรมยาฆ่าแมลงตามหลักวิชา ตามระยะที่กำหนด หากไม่มีการรมยาหรือรมยาโดยไม่ถูกต้องตามระยะเวลา ข้าวก็จะถูกทำลายเสื่อมคุณภาพเสียหาย

การตรวจนับปริมาณข้าวที่ตั้งกองเช่นนี้ สามารถทำได้ง่ายและถูกต้องใกล้เคียงมากที่สุด แม้จะมีส่วนแตกต่างอยู่บ้างสำหรับชั้นกระสอบที่เป็นโพคาแต่ก็แตกต่างกันไม่กี่กระสอบ คือนับจำนวนกระสอบด้านขวาง คูณด้วยจำนวนกระสอบด้านยาว คูณด้วยจำนวนชั้นกระสอบด้านความสูง ได้ตัวเลขรวมทั้งหมดกี่กระสอบ หารด้วยสิบ ก็จะเป็นจำนวนตันของข้าวกองนั้น


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ข้าวเปลือก ข้าวสาร การตั้งกอง การตรวจคุณภาพ ปริมาณ

view