สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เครือข่ายปฏิรูปแนะช่วยชาวนาระยะสั้น

จาก โพสต์ทูเดย์

เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปแนะแก้ปัญหาระยะสั้นให้ชาวนา ชี้โครงการรับจำนำข้าวทุจริตทุกขั้นตอน

 
"เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป" (RNN- Reform Now Network) ร่วมกับ สภาเกษตรกรแห่งชาติ  จัดเสวนาแนะแนวทางการแก้ปัญหาในระยะสั้น ให้ชาวนาที่ไม่ได้รับเงินจำนำข้าวสามารถยังชีพ และมีเงินทุนเพื่อทำการผลิตในฤดูกาลที่จะมาถึง โดยวงเสวนาได้ข้อสรุปว่า การแก้ปัญหาระยะสั้น ต้องเร่งหาวิธีนำเงินมาให้ชาวนาเร็วที่สุดภายใต้อำนาจที่รัฐบาลทำได้ การดำเนินการที่เสี่ยงผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 (1) (2) (3) (4) ไม่ควรทำ  ดังนั้นในการหาแหล่งเงินที่จะมาช่วยชาวนาในระยะสั้นมี 3 แนวทาง หนึ่ง ระบายขายข้าว สอง ขอมติคณะรัฐมนตรีอนุมติใช้งบกลาง และสาม ให้ธ.ก.ส. ช่วยผ่อนปรนการชำระหนี้สินเชื่อเดิม กับปล่อยสินเชื่อหมุนเวียนช่วยสภาพคล่องสำหรับฤดูการผลิตใหม่
 
นอกจากนี้ ยังข้อเสนอร่วมกันว่า รัฐบาลจำเป็นต้องประกาศรับผิดชอบเรื่องภาระดอกเบี้ยให้ชาวนา  ทั้งภาระดอกเบี้ยนอกระบบที่ชาวนาต้องไปกู้เงินนอกระบบเพราะไม่ได้รับเงินค่าจำนำข้าว และดอกเบี้ยที่ต้องกู้สินเชื่อใหม่กับธ.ก.ส. เพื่อนำไปเป็นเงินหมุนเวียนปลูกข้าวฤดูการต่อไป รวมถึงการชดเชยดอกเบี้ยจากค่าเสียโอกาสที่ได้เงินจากใบประทวนล่าช้ากว่ากำหนด  โดยภาระดอกเบี้ยดังกล่าว มีข้อเสนอว่า ให้นำงบกลางมาดำเนินการจ่ายภาระดอกเบี้ยดังกล่าว

นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ อดีตรองผู้จัดการ ธ.ก.ส. เสนอว่า การคิดอัตราดอกเบี้ยชดเชยค่าเสียโอกาสที่ไม่ได้เงินจากใบประทวน ในหลักการคิดชดเชยดอกเบี้ยต้องเริ่มคิดตั้งแต่ ณ วันที่ออกใบประทวนถึงวันที่ได้รับเงิน  และเชื่อว่าการนำงบกลางมาใช้ในการดำเนินการช่วยเหลือชาวนาเรื่องดอกเบี้ย น่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวนาได้
 
“รัฐบาลไม่ควรดำเนินการใดๆ ที่เสี่ยงต่อการผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 (1) (2) (3) (4) เช่น การออกพันธบัตร ซึ่งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย เพราะเป็นการสร้างภาระหนี้ใหม่ให้กับรัฐบาลชุดต่อไป” นายเอ็นนูกล่าว
 
ด้านนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ มั่นใจว่า รัฐบาลสามารถใช้งบกลางมาดำเนินการเพื่อช่วยเหลือภาระดอกเบี้ยให้ชาวนาได้โดยไม่ผิดกฎหมาย เนื่องจากเป็นงบประมาณปี 2557 ซึ่งไม่เกี่ยวกับรัฐบาลชุดหน้า ดังนั้น รัฐบาลชุดนี้อนุมัติงบประมาณนี้เอง แต่การออกพันธบัตรใหม่เสี่ยงเข้าข่ายผิดกฎหมาย
 
“อัตราดอกเบี้ยที่ชาวนาต้องรับภาระทั้งหมดเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ4.5% ดังนั้น รัฐบาลต้องรับภาระจ่ายดอกเบี้ยให้ชาวนาประมาณ 4,500 บาท เป็นเงินจำนวนไม่มากที่รัฐบาลน่าจะดำเนินการได้” นายประพัฒน์กล่าว
นายธวัชชัย ยงกิตติคุณ เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ย้ำว่า การแก้ปัญหาระยะสั้นนอกจากรัฐบาลจะเร่งระบายขายข้าว และนำงบกลาของรัฐที่ยังพอมีอยู่มาดำเนินการแล้ว รัฐบาลควรออกมาค้ำประกันว่า สินเชื่อที่ชาวนาค้างอยู่ รัฐบาลจะรับผิดชอบร้อยเปอร์เซนต์สำหรับหนี้ที่ค้างอยู่บวกดอกเบี้ย จากนั้นก็ทำโครงการเงินหมุนเวียนช่วยเหลือสำหรับการปลูกในฤดูการใหม่

 “เรื่องนี้มีทางแก้ แต่นักการเมืองต้องกล้ารับผิดชอบ” นายธวัชชัยกล่าว
 
ต่อด้วยเวทีเสวนา “โครงการจำนำข้าว : บทเรียนและข้อเสนอแนะสำหรับประเทศไทย"  เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาระยะกลาง เพื่อให้ชาวนาที่ไม่ไดรับเงินจำนำข้าวสามารถยังชีพ และมีเงินทุนเพื่อทำการผลิตในฤดูกาลที่จะมาถึง วิทยากรได้แก่ นายสมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการ สถาบันคลังสมองของชาติ นางสิริลักษณา คอมันตร์ อาจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ วิทยากรต่างให้ข้อสรุปที่ตรงกันคือ นโยบายจำนำข้าวที่กำหนดราคาจำนำสูงกว่าราคาตลาดประมาณร้อยละ 40-50 เป็นการแทรกแซงกลไกตลาดที่ทำลายอุตสาหกรรมข้าวไทยพัง ไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก  และการทำนโยบายแทรกแซงกลไกตลาดไม่สามารถเป็นนโยบายเดี่ยวๆ ได้ ต้องมีกลไกตัวอื่นมาเสริม  และบทเรียนครั้งนี้กว้างไกลกว่าเรื่องข้าว คือส่งผลกระทบต่อฐานะการคลังของรัฐ และธรรมาภิบาลในองค์กรของรัฐด้วย
 
นายสมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการ สถาบันคลังสมองของชาติ เสนอทางออกในระยะกลางและยาวเพื่อแก้ปัญหาชาวนาไทย 5 ข้อ  ได้แก่ 1) รัฐบาลต้อมีนโยบายลดต้นทุนเพื่อเพิ่มกำไรและเพิ่มการแข่งขันในระยะยาว เพราะปัจจุบันต้นทุนการปลูกข้าวเปลือกของชาวนาไทยอยู่ที่ 9,266 บาทต่อตัน สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนามต้นทุนอยู่ที่ 5,615 บาทต่อตัน และพม่าอยู่ที่ 4,353 บาทต่อตัน   2) ต้องรวมกลุ่มเป็นชุมชนเข้มแข็ง เพื่อสร้างสินค้าข้าวเฉพาะให้กับท้องถิ่นภายใต้การผลิตรูปแบบเฉพาะ (niche product) เช่น การผลิตแบบอินทรีย์ เป็นต้น

3) การสร้างกลไกทางเลือกในกิจกรมการผลิตที่ดีกว่าการปลูกข้าว โดยจูงใจให้เกิดการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไปปลูกพืชที่ได้ราคาดีกว่า 4) รัฐต้องให้การอุดหนุนเชิงสวัสดิการกับเกษตรกรที่มีรายได้อย่างแท้จริง โดยอาจให้ความช่วยเหลือผ่านทางส่วนต่างราคา เป็นต้น 5) พลิกฟื้นกลไกตลาดโดยการใช้หลักการประกันความเสี่ยงจากราคา รวมถึงสนับสนุนการประกันภัยพืชผล โดยรัฐบาลอาจช่วยเหลือจ่ายค่าเบี้ยประกันให้กับชาวนา ซึ่งถูกกว่าการนำเงินไปใช้ในโครงการจำนำข้าว
 
“ถ้าปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน โดยรัฐไม่เข้าไปแทรกแซง และใช้กลไกการประกันความเสี่ยงราคา และประกันภัยพืชผล เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องข้าวได้ในระยะกลางและระยะยาว” นายสมพรกล่าว
 
นางสิริลักษณา คอมันตร์ อาจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอว่าการแก้ปัญหาระยะสั้นควรใช้ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้ามาเป็นกลไกหลัก โดยให้ชาวนา “ซื้อสิทธิ์ในการขายข้าว” ในระดับราคาต่างๆ  ซึ่งถ้าต้องการได้ราคาสูง ก็ต้องจ่ายเบี้ยประกันสูง แต่ถ้าถึงกำหนดเวลาครบสัญญาราคาตลาดสูงกว่าราคาซื้อสิทธิ์ ชาวนาก็ขายข้าวในตลาดแทน ถ้าต่ำกว่าราคาซื้อสิทธิ์ ก็ให้ใช้สิทธิ์ นอกจากนี้หากมีส่วนต่างราคาเกิดขึ้น ก็ให้ธ.ก.ส. อุดหนุนจ่ายส่วนต่าง โดยรัฐบาลให้ความช่วยเหลือ
 
ส่วนมาตรการระยะยาว นางสิริลักษณาเสนอว่า ต้องแก้ปัญหารายได้ของชาวนา โดยรัฐบาลต้องลงทุนเรื่องการแปรรูปสินค้า หรือแปรสภาพผลิตภัณฑ์ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ยกระดับราคาสินค้าเกษตร  รวมทั้งรัฐบาลจำเป็นต้องอุดหนุนภาคเกษตรในลักษณะที่ขัดต่อกฎขององค์การการค้าโลก (WTO) ด้วยการอุดหนุนภาคเกษตรที่เน้นดูแลสิ่งแวดล้อม
 
นอกจากนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดนโยบายประชานิยมแบบไม่มีความรับผิดชอบอย่างกรณีโครงการจำนำข้าว นางสิริลักษณาเสนอว่า ควรมีการพิจารณากำหนดเพดาน หรือจำกัดวงเงินสำหรับการอนุมัติงบประมาณของคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือไม่ เพราะปัจจุบันไม่มีกรอบเพดานในการอนุมัติ
 
ขณะที่ในการกฎหมายเลือกตั้งเสนอว่า ควรกำหนดว่า การประกาศนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง ควรระบุที่มาของเงินด้วยหรือไม่ว่า นโยบายที่หาเสียงจะหาเงินมาจากไหน และด้วยวิธีใด เพื่อให้มีความรับผิดชอบต่อการดำเนินนโยบาย และอีกข้อเสนอคือ เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลในองค์กรรัฐวิสาหกิจ  เสนอว่าอัยการไม่ควรเข้าไปนั่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานรัฐที่เป็นผู้กำกับรัฐวิสาหกิจนั้นๆ ก็ไม่ควรเข้าไปนั่งเป็นกรรมการเช่นเดียวกัน หากจำเป็นจะต้องระบุว่า ไม่รับผลตอบแทน เพื่อป้องกันเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน
 
“นโยบายจำนำข้าวที่ทำทุกวันนี้ ขอยืนยันว่าในหลักการไม่ถูกต้อง เป็นนโยบายเลว เพราะทุกจริตทุกขั้นตอน” นางสิริลักษณากล่าว


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : เครือข่ายปฏิรูปแนะช่วยชาวนาระยะสั้น

view