สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชำแหละบัญชีจำนำข้าว (ตอน4)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



วิบากกรรมจำนำข้าว "กรุงเทพธุรกิจ"ร่วมเกาะติด ชำแหละบัญชีจำนำข้าว (ตอน 4) "ข้าวสารธงฟ้า"ช่วยค่าครองชีพ รัฐขาดทุน-เปิดช่อง"ล่องหน"

โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล มีจุดที่ไม่มีความชัดเจนในหลายประเด็น นอกจากเรื่อง"ข้อมูล"และ"สต็อกข้าว"ที่อ้างว่าเป็น"ความลับทางการค้า"แล้ว อีกเรื่องที่เกี่ยวโยงกับโครงการนี้คือ โครงการข้าวสารธงฟ้า

คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) และคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวมีมติรวม 4 ครั้ง โดยการจำหน่ายให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) ดำเนินการข้าวโครงการธงฟ้า รวม 2,500,000 ตันข้าวสาร

แต่จากข้อเท็จจริง โครงการดังกล่าวขาดรายละเอียดเอกสาร ยืนยันความถูกต้องและครบถ้วน

ข้อมูล ณ วันที่ 31พ.ค. 2556 อคส.ในฐานะหน่วยงานรัฐผิดชอบดำเนินโครงการข้าวธงฟ้า ได้ว่าจ้างเอกชน รวม 7 ราย เพื่อปรับปรุงสภาพข้าวพร้อมบรรจุถุงสำหรับโครงการธงฟ้า จำนวนรวม 1,500,000 ตันข้าวสาร แต่ผู้แทนอคส. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เอกชนได้รับปริมาณข้าวสารไปปรับปรุงสภาพรวม 1,100,000 ตันข้าวสาร โดยมีการบรรจุถุงและจำหน่ายข้าวในโครงการธงฟ้าแล้ว 495,081.925 ตันข้าวสาร

ขณะที่ยังมีข้าวที่บรรจุถุงจำหน่ายเพิ่มเติม ประมาณ 20,000 ตันข้าวสารเศษ ส่วนที่เหลือที่ไม่ปรากฏข้อมูลที่ชัดเจนว่าอยู่ในขั้นตอนกระบวนการแปรสภาพหรือไม่ หรือผ่านขั้นตอนการปรับสภาพและบรรจุถุงแล้ว แต่รอส่งมอบคืนให้อคส.

"ข้าวสารธงฟ้า" เริ่มครั้งแรกในรัฐบาลนี้ เพื่อผู้ประสบภัยน้ำท่วมและพี่น้องมุสลิมภาคใต้ ตามมติกขช. เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2554 จำนวน 2.25 ล้านตัน โดยใช้ข้าวเก่าในโกดัง ปี 2542-2552 ซึ่งมีจำนวน 2.189 ล้านตัน ส่วนส่วนที่เหลือให้อคส.และอตก. จัดส่ง

แต่มีการนำส่งข้าวถุงไปจำหน่ายราว 10,000 ตัน จึงมีข้าวเหลือค้างที่ อคส.และอตก.ไม่ได้จัดส่งจำนวนมาก

ต่อมา การประชุมกขช. ครั้งที่ 2/2554 เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2554 อนุมัติให้มีการเปลี่ยนคุณสมบัติของข้าวที่นำไปช่วยเหลือประชาชน จากเดิมกำหนดให้ใช้ข้าวสต็อกเก่า คือ ข้าวนาปรังของปี 2552 ไปเป็นสต็อกใหม่ คือ ข้าวนาปีที่รับจำนำปี 2554/55

ต่อมา การประชุม กขช. ครั้งที่ 1/2555 เมื่อเดือนก.พ. 2555 อนุมัติให้ อคส. นำข้าวสาร 5% จำนวน 1 แสนตัน ซึ่ง อคส. บอกว่าได้ ว่าจ้างผู้ปรับปรุงคุณภาพข้าว การบรรจุข้าว และกระจายสินค้าไว้แล้วเพื่อให้มาจัดทำข้าวถุงธงฟ้าราคาประหยัด 50,000 ตัน คิดในราคา 38.125 บาทต่อถุง 5 กิโลกรัมจำหน่ายในราคาปลายทางไม่เกินถุงละ 70 บาท เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน

ตรงจุดนี้เองเป็น"แรงจูงใจ"อย่างสำคัญ

จากราคาขายส่งข้าวสาร 5% ของกรมการค้าภายในและสมาคมโรงสีข้าวไทยเฉลี่ย ณ วันที่ 9 ก.พ. 2555 ตันละ 15,250 บาท ต้นทุนที่ประมาณ 76.25 บาทต่อถุง 5 กิโลกรัม แต่เมื่อรัฐบาลลดราคาครึ่งหนึ่ง เท่ากับต้นทุนอยู่ที่ 38.125 บาทต่อถุง เท่ากับ หากเข้าสู่ตลาดปกติ จะสร้างกำไรได้ถุงละกว่า 31 บาท

รายชื่อบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกให้ปรับปรุงข้าว คือ บริษัทเจียเม้ง จำนวน 50,000 ตัน, บริษัทนครสวรรค์ค้าข้าว50,000 ตัน, บริษัทโชควรลักษณ์1.25 แสนตัน และ บริษัทสิงห์โตทอง 1.25 แสนตัน ขณะที่ ผู้แจกจ่ายไปยังร้านถูกใจทั่วประเทศ ให้ บริษัท นิ่ม ซี่ เส็ง จำกัดเป็นผู้ดำเนินการ และการจำหน่ายไปยังร้านค้าทั่วไปให้ บริษัทสยามรักษ์เป็นผู้จัดส่ง

ในบางล็อต ก็จะมีชื่ออีก 2 บริษัท คือ บริษัทพงษ์ลาภและ บริษัทนครหลวงค้าข้าวซึ่งเป็นบริษัทในแวดวงค้าข้าวมานาน รวมทั้งอีก 2 บริษัทที่ปรากฏชื่อคือ บริษัทคอนไรซ์เทรดดิ้งและบริษัท ร่มทอง จำกัด

คณะอนุกรรมการ ได้ตั้งประเด็นสำคัญเกี่ยวกับโครงการข้าวธงฟ้า ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกับที่เกิดข้อสงสัยมานานเกี่ยวกับโครงการ คือ

1. ราคาข้าวที่จำหน่ายให้แก่อคส. เพื่อนำไปจำหน่ายในโครงการธงฟ้าเป็นราคาต่ำกว่าราคาต้นทุนมากเกินไปหรือไม่

2. ค่าจ้างปรับปรุงสภาพก่อนบรรจุเป็นข้าวถุง ขนาดถุงละ 5 กิโลกรัม และจำหน่ายราคาถุงละ 70 บาท ซึ่งผู้รับจ้างปรับปรุงสภาพข้าวได้รับค่าจ้างปรับปรุงเป็นข้าวสารในอัตราถุงละ 26 บาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินการในสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของราคาจำหน่ายข้างต้น คิดเป็นสัดส่วนค่อนข้างสูง ซึ่งควรพิจารณาว่าจำเป็นต้องปรับลดลงหรือไม่ และการชำระค่าปรับปรุงสภาพข้าวด้วยข้าวสาร ทำให้เกิดข้อจำกัดในการคำนวณต้นทุนและควบคุมยาก

3. การนำข้าวโครงการธงฟ้าไปจำหน่ายโดยตัวแทนจำหน่าย แต่มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถยืนยันว่ามีการกระจายถึงจุดจำหน่ายอย่างทั่วถึง และครบถ้วนตามวัตถุประสงค์หรือไม่ ดังนั้น หากไม่มีการกำกับควบคุมการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ อาจมีผลให้ข้าวที่จำหน่ายให้ประชาชนในโครงการธงฟ้าในราคาประหยัดจถูกนำไปจำหน่ายในราคาตลาดปกติได้

4. การนำข้าวให้เอกชนผู้รับจ้างนำข้าวไปปรับปรุง ไม่ควรอนุมัติให้เบิกข้าวไปปรับปรุง ในแต่ละคราวเป็นปริมาณมาก โดยควรให้ทยอยเบิกเป็นคราวๆ ขึ้นกับขีดความสามารถของผู้รับจ้างทั้งในด้านกำลังการผลิตและสถานที่เก็บรักษาว่ามีเพียงพอหรือไม่ เพื่อมิให้เกิดการส่งข้าวกลับคืนอคส. อันจะมีผลต่อความเสี่ยงเกี่ยวกับปัญหาการตรวจรับปริมาณและคุณภาพของข้าวที่จะรับคืน

5. กรณีหากต้องมีการส่งมอบข้าวจากผู้รับจ้างกลับคืน อคส. ควรกำหนดให้มีคณะกรรมการตรวจนับ มิใช่หัวหน้าคลังสินค้าเพียงผู้เดียว เพื่อลดความเสี่ยงในความคลาดเคลื่อนของปริมาณ ชนิด และคุณภาพของข้าว ที่ผู้รับจ้างรับไปดำเนินการ

ประเด็นที่คณะอนุกรรมการสรุป เป็นประเด็นที่เกิดคำถามกับโครงการนี้มาก่อนแล้ว แต่ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรนั้นอาจต้องรอการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพราะได้นำเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับโครงการนี้ เข้าเป็นสำนวนเดียวกับการกล่าวโทษอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ข้าราชการ และเอกชนรวม 15 ราย ในเรื่องการขยายข้าว"จีทูจี"

ล่าสุดป.ป.ช.ได้เรียกนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ชี้แจงข้อกล่าวหาว่าละเว้นปฏิบัติหน้าที่ กรณีที่ไม่ทบทวนหรือยุติโครงการ ทั้งๆที่รับทราบว่ามีปัญหา

"ข้าวธงฟ้า"เป็นหนึ่งในประเด็นที่มีการกล่าวหา และผลของคดีนี้จะพิสูจน์ว่าโครงการนี้เกิดปัญหาอะไรขึ้น


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ชำแหละบัญชีจำนำข้าว (ตอน4)

view