จากประชาชาติธุรกิจ
ผงะพบหลักฐานรัฐบาลขายข้าวต่ำติดดิน นาปรังปี 2555 เหลือแค่ตันละ 9,600 บาท ขาดทุนยับเยิน พบ "สยามอินดิก้า" อ้างกรมการค้าต่างประเทศ โผล่รับข้าวสต๊อกรัฐบาล ทั้ง ๆ ที่ถูก ป.ป.ช.สอบทุจริตขายข้าว G to G ด้านจำนำใบประทวน 50% หาเงินช่วยชาวนา "ล้ม" เหตุ ธ.ก.ส.ไม่เล่นด้วย วงนักวิชาการเสนอทางออก "ปู" ลาออกแก้ปัญหาเดดล็อกกู้เงินจำนำข้าว
รัฐบาล รักษาการยังคงวิ่งวุ่นหาเงินกู้ 130,000 ล้านบาท เพื่อมาจ่ายหนี้ค่าจำนำข้าวให้กับชาวนาต่อไป ในขณะที่ผลไต่สวนทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แห่งชาติ (ป.ป.ช.) ใกล้จะถึงการแจ้งข้อกล่าวหานักการเมืองและข้าราชการที่เกี่ยวข้องภายในสิ้น เดือนกุมภาพันธ์ โดยมีตัวเลขความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการขายข้าวตลอด 2 ฤดูกาลที่ผ่านมา (ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2556) สูงถึง 332,372.32 ล้านบาท ได้เงินจากการระบายข้าวแค่ 180,000 ล้านบาท
สยามอินดิก้าโผล่รับข้าวรัฐบาล
ผู้ สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานการออกสำรวจโกดังเก็บข้าวรัฐบาลใน 3 โกดัง ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ว่า คลังเก็บข้าวของบริษัท พงษ์ลาภ จำกัด ที่ อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี, คลังเก็บข้าวของ หจก.ศรีพรกิจอินเตอร์ไรซ์ และโรงสีบางขุนศรี ใน จ.นนทบุรี พบรถบรรทุกทยอยขนข้าวออกจากคลังอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญก็คือในระหว่างการขนย้ายข้าว ตรวจพบเอกสารใบส่งสินค้าระบุ กระทรวงพาณิชย์ขายข้าวในคลังรัฐบาลให้กับบริษัทผู้ส่งออกเฉลี่ยเพียงตันละ 9,600 บาท ซึ่ง "ต่ำกว่า" ต้นทุนราคาข้าวสารของรัฐบาลเฉลี่ยตันละ 24,000 บาท เท่ากับกระทรวงพาณิชย์ขายข้าวขาดทุนจากราคารับจำนำ ไม่ต่ำกว่าตันละ 18,000 บาท
และการขายข้าวราคานี้ยังขาย "ต่ำกว่า"ราคาข้าวขาว 5% (นาปรังปี 2555) ที่ปกติจะซื้อขายกันในตลาดเพียงตันละ 11,200-11,500 บาท จากราคากระดานประกาศโดยสมาคมโรงสีข้าวไทยที่ตันละ 13,000 บาท หรือขาดทุนจากราคาตลาดระหว่างตันละ 1,600-1,900 บาท ปัญหาก็คือทำไมกระทรวงพาณิชย์ถึงขายข้าวให้กับผู้ส่งออกในราคาต่ำถึงเพียง นี้ สุดท้ายจะกลายเป็นหลักฐานสำคัญที่ใช้ประกอบข้อกล่าวหาทุจริตของ ป.ป.ช.ในที่สุด
"ข้าวที่ถูกทยอยขนออกจาก 1 ใน 3 คลัง ปรากฏชื่อลูกค้า กรมการค้าต่างประเทศ แต่ปลายทางที่ข้าวขนออกไปกลับไปอยู่ที่คลังของบริษัทสยามอินดิก้า ซึ่งกำลังถูก ป.ป.ช.สอบสวนการทุจริตขายข้าวจีทูจี นั่นหมายความว่ากระบวนการนี้ไม่เกรงกลัวต่อการสอบสวนของ ป.ป.ช.เลย" แหล่งข่าวในวงการค้าข้าวกล่าว
ขาดทุนยับ ขายต่ำกว่าราคาตลาด
เป็น ที่น่าสังเกตว่า การอนุมัติขายข้าว "ต่ำกว่า" ราคาตลาดมาก ๆ ของกระทรวงพาณิชย์นั้น ไม่เพียงเกิดขึ้นกับการขายข้าวนาปรังปี 2555 ด้วยวิธีการยื่นเสนอซื้อแบบมีออร์เดอร์ แต่ยังเกิดกับการขายข้าวจำนวน 860,000 ตัน เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ด้วย เพียงแต่การขายข้าวต่ำกว่าราคาตลาดครั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ไม่มีทางเลือก เนื่องจากความจำเป็นที่จะต้องเร่งขายข้าวนำเงินไม่ต่ำกว่า 130,000 ล้านบาท มาจ่ายหนี้ค่าจำนำข้าวของชาวนานั่นเอง
ด้านนายสมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ ประธาน บริษัทเอเชียโกลเด้นไรซ์ กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กระทรวงอนุมัติขายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลให้กับบริษัทปริมาณ 300,000 ตัน จากที่ยื่นเสนอซื้อแบบมีคำสั่งซื้อ (ออร์เดอร์) ไป 500,000 ตัน เมื่อหลายเดือนก่อน โดยบริษัทได้วางหลักทรัพย์ค้ำประกัน 5% จากมูลค่าข้าวที่ซื้อประมาณ 3,400 ล้านบาท ส่วนระดับราคาที่เสนอซื้อมีหลายระดับพิจารณาตามชนิดและปีการรับจำนำข้าว โดยบริษัทยื่นซื้อข้าวขาว 5% เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีหลายราคา เช่น ข้าวขาว 5% เก่าเมื่อ 2 ปีก่อน ก็อาจจะให้ราคาต่ำกว่า 10,000 บาท แต่ก็มีข้าวที่คุณภาพดีที่ได้ระดับราคาสูงกว่า 10,600-10,700 บาท ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับราคาตลาดปัจจุบัน ส่วนการรับมอบมีกำหนดระยะเวลา 150 วัน และหลังจากนั้นจะทยอยส่งออกคงจะใช้เวลาอีกประมาณ 3-4 เดือน โดยนำเอกสาร B/L ไปแสดงต่อกรม
"ตอนนี้เหมือนเราทำอะไรก็ผิดไปหมด ทั้งที่ผมมีเจตนาดี อยากให้กระทรวงได้ระบายข้าวโดยเร็ว จะได้นำเงินไปหมุนเวียนจ่ายหนี้จำนำข้าวชาวนา เราเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ก็พยายามช่วยซื้อให้มาก 2 วัน
มานี้ ผมขนข้าวไปแล้วเป็นแสนตัน ซึ่งเราก็มีความเสี่ยงนะ เพราะเงินที่ซื้อมาจากธนาคาร เรายอมกู้มาจ่าย อีกด้านเราหวังว่าจะช่วยรักษาระดับเสถียรภาพราคา ถ้าไม่ซื้อ ราคาข้าวก็จะยิ่งทรุดไปกว่านี้ ส่วนคนอื่นจะว่าอย่างไร ผมไม่ทราบ เพราะทางกระทรวงพาณิชย์เปิดให้ยื่นซื้อและยื่นประมูล แต่ก็ไม่มีใครเข้าร่วม แม้กระทั่งคนในสมาคมยังมาต่อว่ากันอีก ผมไม่ทำอะไรที่ตอบสังคมไม่ได้ เพราะยังต้องการทำธุรกิจขายข้าวไปอีกนาน ไม่ใช่แค่วันนี้"
จีน ใบประทวนล้ม
ล่า สุด ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานผลการหารือระหว่างสมาคมโรงสีข้าวไทย กับนายยรรยง พวงราช ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์นี้ว่า ตัวแทน
โรงสีข้าวได้แจ้งโรงสีไม่สามารถรับจำนำใบ ประทวน 50% เนื่องจากธ.ก.ส.ไม่ยอมเซ็นสลักหลังใบประทวนเพื่อใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เงินกู้ของ ธ.ก.ส.เพราะเกินอำนาจของ ธ.ก.ส.
ทั้งนี้ วิธีการจำนำใบประทวน 50% ของมูลค่าข้าวที่ล่มไปแล้วก็คือ ชาวนาต้องนำใบประทวนไปให้ ธ.ก.ส.สลักหลังใบประทวนว่า ชาวนาติดหนี้ค่าข้าวของโรงสี หลังจากนั้นเมื่อโรงสีกู้เงินจาก ธ.ก.ส.มา ธ.ก.ส.จะโอนเงินครึ่งหนึ่งให้กับโรงสี อีกครึ่งหนึ่งจ่ายให้กับชาวนา โดยรัฐบาลจะเป็นผู้รับภาระเรื่องดอกเบี้ยจำนวน 1,200 ล้านบาท เท่ากับการนำเงินของ ธ.ก.ส.มาจ่ายหนี้จำนำข้าวให้กับชาวนา โดย ธ.ก.ส.ไม่ได้เป็นผู้จ่ายตรง แต่จ่ายผ่านโรงสี ประกอบกับการจ่ายดอกเบี้ยนั้น รัฐบาลจะต้องผ่านไปยัง กกต.อีกว่า สามารถดำเนินการได้หรือไม่
สำหรับ ในส่วนเงื่อนไขที่ผูกติดมากับการรับจำนำใบประทวน 50% ก็คือ ข้อเสนอของโรงสีข้าวในการยื่นขอซื้อข้าวในสต๊อกรัฐบาลเทียบเท่ากับที่รัฐบาล ยอมขายตามคำสั่งซื้อให้กับผู้ส่งออกข้าวนั้น ปรากฏมีโรงสีรวบรวมความต้องการซื้อข้าวสต๊อกรัฐบาลแจ้งความจำนงเข้ามาระ หว่าง 500,000-600,000 ตัน ภายใต้หลักการขอซื้อในราคาเท่ากับที่ผู้ส่งออกซื้อ (ข้าวขาว 5% ระหว่าง 10,000-10,700 บาท)
ทางกรมการค้าต่างประเทศกลับแจ้งให้กับโรงสีทราบ ว่า กรมจะไม่จำหน่ายข้าวแบบมีคำสั่งซื้อให้กับโรงสีข้าวแบบที่ขายให้กับผู้ส่ง ออก แต่กรมจะเปิดให้โรงสีข้าวยื่นซองประมูลข้าว โดยจะออกประกาศหลักเกณฑ์การประมูลข้าวฉบับใหม่ (ทีโออาร์) ซึ่งจะเป็นหลักเกณฑ์ที่มีมาตรฐานเดียวกับผู้ส่งออกที่จะยื่นประมูลในวันนี้ ( 12 ก.พ.) ปริมาณ 460,000 ตัน
"คำตอบของกรมการค้าต่างประเทศสร้าง ความไม่พอใจให้กับโรงสีข้าวที่ประสงค์จะซื้อข้าวในสต๊อกรัฐบาลมาก เพราะกลายเป็นกรมเลือกปฏิบัติ ทำไมขายให้กับผู้ส่งออกได้ แต่ไม่ยอมขายตรงให้กับโรงสีข้าว เดิมทีเราประเมินว่าจะยื่นซื้อข้าวขาว 5% ตันละ 11,000 บาท แต่ได้ข่าวว่า ทางกรมขายข้าวขาว 5% จากโครงการจำนำนาปรังปี 2555 และโครงการจำนำนาปี 2556/2557 บางส่วนให้ผู้ส่งออก 7 รายที่ยื่นซื้อตรงในราคาแค่ตันละ 9,500-11,000 บาท ซึ่งเมื่อสอบถามไปทางกรมก็ยอมรับ แต่บอกว่า แค่บางคลังเท่านั้น สุดท้ายผมบอกได้เลยว่า ข้าวในคลังรัฐบาลทั้งหมดจะถูกขายออกมาในราคาไม่เกินไปกว่านี้ ซึ่งก็ต้องขายเพราะต้องการเงินใช้หนี้ชาวนา แต่นั่นหมายถึงว่ารัฐบาลจะต้องขาดทุนจากโครงการรับจำนำมากขึ้นไปอีก" โรงสีข้าวรายหนึ่งให้ความเห็น
สัมมนาช่วยชาวนา
นาย อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ในมุมทางเศรษฐศาสตร์ เวลานี้รัฐบาลได้ซื้อข้าวจากชาวนาไปโดยไม่จ่ายเงินในทันที ทำให้รัฐบาลมีสถานะเป็นหนี้ชาวนา ซึ่งเมื่อรัฐบาลยุบสภาไปแล้วไม่ว่าอย่างไรภาระหนี้ก็จะผูกพันไปถึงรัฐบาลต่อ ไปอย่างไรก็ดี มองว่า หากขีดเส้นจากการตีความรัฐธรรมนูญมาตรา 181 (3) ก็จะมีข้าวที่มาจำนำก่อนยุบสภา คือก่อนวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ซึ่งส่วนนี้เห็นว่ารัฐบาลสามารถจ่ายเงินได้
ส่วนกรณีใบ ประทวนที่เกิดขึ้นหลังวันที่ 9 ธันวาคมนั้นจะเป็นภาระผูกพันรัฐบาลชุดต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ "ตรงนี้ผมยอมรับว่า คิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไร เพราะขึ้นอยู่กับการตีความทางกฎหมาย โดยหากตีความว่าเป็น ′โครงการ′ ต่อเนื่องก็สามารถทำได้จนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ แต่หากมองในแง่การออกใบประทวนก็ต้องถือว่าเป็นงานใหม่ หรือหนี้ใหม่ "โครงการจำนำข้าวทำวินัยการเงินการคลังพังตั้งแต่วันแรกที่ประกาศโครงการ เพราะการรับจำนำตามทฤษฎี ชาวนาจะต้องเป็นหนี้รัฐบาล แต่โครงการนี้กลับตาลปัตร เพราะรัฐบาลเป็นหนี้ชาวนา เนื่องจากโครงการได้แปรสภาพเป็น "การซื้อข้าว" ไม่ใช่การ "รับจำนำ"
ด้าน นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า วิธีแก้ปัญหาการจ่ายเงินจำนำข้าวแบ่งได้ 3 แนวทาง ได้แก่ 1) ด้านการเงิน การออกพันธบัตรโดยตรง โดยรัฐบาลไม่ค้ำประกัน น่าจะสามารถทำได้ แต่จะมีปัญหาว่า หน่วยงานใดจะกล้าเข้ามาซื้อ
2) ด้านการตลาดถือว่าทำได้และมีความปลอดภัยที่สุดสำหรับรัฐบาลรักษาการ แต่จะต้องขายข้าวในสต๊อกครั้งละ 2 ล้านตันขึ้นไป เพื่อให้สามารถจ่ายชาวนาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งหากขายที่ 2 ล้านตันก็จะต้องใช้เวลาถึง 6-8 เดือน กว่าจะชำระหนี้ชาวนาได้หมด แต่ปัญหาคือจะต้องมีการ "ตรวจนับสต๊อกข้าว" ด้วย ขณะเดียวกันยังมีอีกแนวทางที่มีนักวิชาการจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เสนอ ซึ่งตนเห็นด้วย คือการคืนข้าวให้ชาวนา โดยชดเชยเพิ่มให้อีก 1.5 เท่า ซึ่งจะเป็นการคืนกระบวนการขายข้าวให้กลับไปอยู่ในมือชาวนา
3) ด้านการเมือง รัฐบาลต้องหาทางผลักดันให้การเลือกตั้งจบได้โดยเร็วที่สุด โดยจะต้องเจรจากับ กปปส. เพื่อถอยคนละก้าว ซึ่งจะทำให้ได้รัฐบาลใหม่ที่มีอำนาจเต็ม ไม่มีข้อจำกัด แต่การเจรจาก็เป็นเรื่องยาก ดังนั้นหากจะแก้ปัญหาให้เร็วที่สุดก็คือ รัฐบาลรักษาการต้องลาออก เปิดทางให้ตั้งรัฐบาลใหม่
นาย นิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านข้าว อดีตนายกสมาคมโรงสีข้าวไทยกล่าวว่า การระบายข้าวในช่วงนี้ "คงไม่สามารถแก้ปัญหาได้" เนื่องจากเป็นช่วงที่ "ขายข้าวยาก" เพราะสต๊อกข้าวโลกยังมีสูงเกินกว่าภาวะปกติ โดยมีมากกว่า 100 ล้านตัน รวมถึงหากรัฐบาลจะทุ่มขายข้าวออกไป ประเทศเวียดนามหรืออินเดียก็จะดัมพ์ราคาลงเพื่อขายแข่ง ทำให้การขายข้าวมีผลขาดทุนมากยิ่งขึ้นได้ ดังนั้นหากจะใช้วิธีการขายข้าวก็ควรจะต้องจัดตั้งคณะกรรมการกลางขึ้นมาช่วย ในกระบวนการขายข้าว
ส่วนนางอัจนา ไวความดี อดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การอนุมัติโครงการกระทำก่อนการยุบสภา ดังนั้นน่าจะต้องมีผลผูกพันในแง่การจัดหาแหล่งเงินทุนด้วย โดยโครงการนี้ต้องยอมรับว่า ทำให้วินัยการเงินการคลังเสียไปแล้ว
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต