จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...พันธสิทธิ เจริญพาณิชย์พันธ์
กลายเป็นประเด็นร้อนฉ่าขึ้นมาท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตการเมืองไทยที่กำลังเดือดระอุ สำหรับเรื่อง “นโยบายรับจำนำข้าว” ของรัฐบาลไทย หลังจากที่ชาวนาทั่วประเทศลุกฮือขึ้นมาเดินประท้วงและปิดถนนหลายสาย เพื่อเรียกร้องเงินจากโครงการรับจำนำข้าวดังกล่าว เพราะทั้งๆ ที่ขายข้าวออกไปแล้วหลายเดือน แต่จนบัดนี้กลับยังไม่ได้รับเงินเลยแม้แต่เศษสตางค์แดงเดียว
จากความเดือดร้อนของชาวนาที่กระจายไปทั่วทุกหย่อมหญ้านี้เอง ทำให้แม้แต่สื่อต่างประเทศก็ยังหันมาจับตาดูความเคลื่อนไหวดังกล่าวเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อบรรดาชาวนาตาดำๆ ซึ่งต้องทำงานชนิดแทบจะอาบเหงื่อต่างน้ำกว่าจะได้เงินมาแต่ละบาท ทว่ากลับต้องมาถูกรัฐบาลเบี้ยวเงินเอาเสียดื้อๆ
ล่าสุด หนังสือพิมพ์ วอลสตรีท เจอร์นัล เปิดเผยรายงานกึ่งวิเคราะห์ ซึ่งตีแผ่เกี่ยวกับความล้มเหลวของโครงการรับจำนำข้าวรัฐบาลไทยออกมา โดยได้ลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์และดูสภาพชีวิตความเป็นอยู่จริงของครอบครัว ตระกูลไกยสวน ที่ จ.ร้อยเอ็ด ที่ต่างกำลังอยู่ในอาการโศกเศร้า หลังจากที่ ทองมา ไกยสวน ชาวนาวัย 64 ปี ตัดสินใจผูกคอตายใต้ต้นไม้เมื่อปลายเดือนที่แล้ว เนื่องจากเกิดภาวะเครียด เพราะเจ้าตัวได้ไปกู้เงินมาลงทุนทำนา แต่แล้วกลับไม่ได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าวตามที่รัฐบาลให้สัญญาไว้
สื่อสิ่งพิมพ์ชื่อดังจากเมืองลุงแซม ซึ่งรายงานโดย เจมส์ ฮุกเวย์ ชี้ว่า การตัดสินใจปลิดชีพตนเองของชาวนา จ.ร้อยเอ็ด วัย 64 ปี ถือเป็นภาพสะท้อนถึงความล้มเหลวของนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลไทยได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเพียงแค่โมเดลในการทำนโยบายนี้ก็ล้มเหลวมาตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว
เพราะการรับจำนำข้าวด้วยราคาที่สูงกว่าตลาดทั่วไป แล้วนำมากักเก็บไว้ เพื่อหวังจะดันให้ราคาข้าวในตลาดโลกราคาพุ่งสูงขึ้น โดยใช้สถานะความเป็นผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่นั้นไม่สามารถทำได้จริง
ซ้ำยังล้มเหลวไม่เป็นท่า เพราะโครงการดังกล่าวเต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่นภายในโครงการ จนทำให้นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องตกอยู่ในที่นั่งลำบาก หลังจากที่โดนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการสอบสวน ฐานเพิกเฉยต่อปัญหาและไม่พยายามยับยั้งจนทำให้รัฐได้รับความเสียหาย
นอกจากนั้นแล้ว ยังทำให้ ไทย ต้องสูญเสียตำแหน่งเบอร์ 1 ของการส่งออกข้าวในตลาดโลกไปให้กับ อินเดียและเวียดนาม หลังจากเริ่มนโยบายดังกล่าวได้เพียงไม่นาน
โดยจากตัวเลขของธนาคารโลกและกระทรวงเกษตรสหรัฐเผยว่า ในปีที่ผ่านมา ไทย อยู่ในลำดับที่ 3 ของโลกในการส่งออกข้าว ตามหลัง อินเดียกับเวียดนาม ซึ่งได้อันดับ 1 และ 2 ตามลำดับ
การใช้สถานะความเป็นเจ้าตลาด เพื่อกำหนดทิศทางราคาให้สูงขึ้นเป็นไปตามความต้องการที่ล้มเหลวนี้ ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของกรณีโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลไทย เพราะก่อนหน้านี้เคยมีตัวอย่างความล้มเหลวจากการใช้โมเดลนี้ในต่างประเทศมาแล้ว
โดยในช่วงทศวรรษ 1970 บริษัทพี่น้องตระกูลฮันท์บราเธอร์ เศรษฐีน้ำมันในสหรัฐ ได้พยายามจะกว้านซื้อและครอบงำตลาดค้าเงินของโลกเอาไว้ในกำมือ เพื่อหวังให้นักลงทุนเข้ามาซื้อเงินไว้ป้องกันความเสี่ยงเงินเฟ้อที่สูงมากในเวลานั้น แต่ต่อมาก็ต้องล้มเหลวลงไม่เป็นท่า หลังจากราคาเงินร่วงลงอย่างหนัก จากเดิมในช่วงต้นทศวรรษ 1980 ที่ 55 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ แต่ในปีเดือน มี.ค. 1980 ราคาลงมาเหลือที่ 10 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อคุมเงินเฟ้อในประเทศ
เฉกเช่นเดียวกับกรณีของ ยาซูโอะ ฮามานากะ หัวหน้าฝ่ายซื้อขายทองแดงของบริษัท ซูมิโตโม จากญี่ปุ่น ที่เคยทุ่มเงินลงทุนกว้านซื้อแหล่งแร่ทองแดงของโลกไว้ในมือ 5% ที่ทั่วโลกผลิตได้ แต่สุดท้ายการเข้าบิดเบือนกลไกตลาดด้วยการใช้สถานะความเป็นพี่เบิ้มในตลาดก็ไม่สัมฤทธิผล จนในที่สุดต้องล้มเหลวและขาดทุนไป 2,600 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ วอลสตรีท เจอร์นัล ระบุว่า ปฐมบทที่มาของโศกนาฏกรรมของทองมา ชาวนา จ.ร้อยเอ็ด ที่ผูกคอตายใต้ต้นไม้นั้นเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เมื่อยิ่งลักษณ์ก้าวขึ้นมาเป็นรัฐบาล พร้อมกับประกาศนโยบายรับจำนำข้าว โดยให้ราคาสูงกว่าตลาดถึง 50% ที่ 1.8 หมื่นบาทต่อตัน
โมเดลการดันราคาข้าวในตลาดโลกด้วยการจำกัดปริมาณซัพพลายข้าวออกสู่ตลาดของรัฐบาลไทย นั้นตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ผิดพลาด เพราะรัฐบาลไทยมัวแต่เชื่อมั่นว่า การที่ไทยครองสัดส่วนในตลาดการค้าข้าวโลกไว้ในกำมือที่ 7% จะทำให้การขาดหายไปของข้าวไทย ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญจะส่งผลต่อระดับราคาข้าวในตลาดโลกตามมา
แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เช่นนั้น!
เพราะแม้ว่าในปี 2008 อินเดียกับเวียดนามจะจำกัดการส่งออกข้าวสู่ตลาดโลก หลังจากราคาข้าวในประเทศแพงขึ้น จนมีผลต่อไปยังราคาข้าวในตลาดโลกให้พุ่งสูงขึ้นถึง 3 เท่าตัว จากที่ 300 เหรียญสหรัฐ (ราว 9,900 บาท) ต่อตัน ขึ้นไปอยู่ที่ 900 เหรียญสหรัฐ (ราว 2.97 หมื่นบาท) ต่อตัน แต่นั่นก็ไม่ได้เกิดจากปัจจัยของสองประเทศดังกล่าวอย่างเดียว เพราะในปีนั้นยังปัจจัยมาจากเหตุวิกฤตการณ์ในเฮติและฟิลิปปินส์มาผสมโรงเข้าไปด้วย
ดังนั้น ราคาข้าวที่พุ่งสูงทะลุเพดานในปี 2008 จึงไม่ใช่เรื่องของการจำกัดการส่งออกข้าวของอินเดียและเวียดนาม เหมือนอย่างที่ฝ่ายที่ปรึกษาและผู้วางยุทธศาสตร์นโยบายจำนำข้าวเข้าใจ
นอกจากนี้ ความล้มเหลวของนโยบายจำนำข้าวภายใต้การนำของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ดังกล่าวยังเกิดมาจาก “การออกนโยบายมาผิดที่ผิดเวลาอีกด้วย” เนื่องจากช่วงที่ไทยเริ่มดำเนินโครงการรับจำนำข้าวและกักข้าวไม่ให้ออกสู่ตลาด ดันไปตรงกับช่วงเวลาที่ “อินเดีย” หันมาผ่อนคลายมาตรการจำกัดการส่งออกข้าวสู่ตลาดต่างประเทศพอดิบพอดี
ซ้ำร้ายประเทศที่นำเข้าข้าวรายสำคัญอย่าง ฟิลิปปินส์ ก็ดันหันมาเริ่มดำเนินการเพาะปลูกเพื่อผลิตข้าวขึ้นเองในประเทศ หลังจากเผชิญกับวิกฤตราคาอาหารแพงในปี 2008
ฉะนั้นแล้ว แทนที่ราคาจะสูงขึ้นก็กลับกลายเป็นร่วงลงอย่างหนักจากเดิมในปี 2008 ที่พุ่งขึ้นไปมากกว่า 1,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 3.3 หมื่นบาท) ต่อตัน ก็ร่วงลงมาเหลืออยู่ที่ 390 เหรียญสหรัฐ (ราว 1.28 หมื่นบาท) ต่อตัน ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในแง่หนึ่งนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลจะสามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องเกษตรกรชาวนาในต่างจังหวัดได้ระดับหนึ่ง แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้คนเริ่มเป็นหนี้สินมากขึ้น เนื่องจากเมื่อชาวนาและเกษตรกรเหล่านี้ได้เงินจากโครงการมาก็นำเงินไปจับจ่ายซื้อของ เช่น โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน เพื่อเข้าถึงสัญญาณ 3จี จนทำให้ปัจจุบันอัตราส่วนหนี้ครัวเรือนของประเทศพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 80% ของจีดีพี ซึ่งถือเป็นระดับที่อันตรายมาก
และด้วยความอยากมีอยากได้นี้เอง ทำให้ลุงทองมา ชาวนา จ.ร้อยเอ็ด ตัดสินใจกู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรมา 4 แสนบาทซึ่งส่วนหนึ่งนำช่วยซื้อรถตู้ให้กับลูกเขยของตนเอง เพื่อนำมาใช้ทำกิจการธุรกิจขนส่งสินค้า
โดยเหตุผลของความกล้าก่อหนี้ ก็เพราะเชื่อว่าจะได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าวที่ให้ราคาสูงกว่าตลาดของรัฐบาล
“พวกเราเชื่อว่าสามารถก่อหนี้ได้ เพราะคิดว่าจะได้เงินจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่ประกันราคาที่แน่นอน” ทองใบ ไกยสวน ภรรยาม่ายของทองมา ชาวนา จ.ร้อยเอ็ด ที่ผูกคอตาย หลังจากที่ไม่ได้รับเงินจำนำข้าวหลายเดือน กล่าวถึงสาเหตุที่สามีตนตัดสินใจไปกู้เงินมา
แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มีใครทราบถึงตัวเลขขาดทุนและความเสียหายที่แท้จริง จากโครงการรับจำนำข้าว แต่ในเบื้องต้นธนาคารโลก ประเมินไว้ว่า นับตั้งแต่รัฐบาลไทยเริ่มต้นโครงการในปี 2011 ไทยเสียหายต่อปีถึง 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (2 แสนล้านบาท) เนื่องจากราคาสูงเกินไป จนทำให้ขายไม่ออก ขณะที่ความต้องการของโลกก็ต่ำมาก
แม้ว่าจะเป็นทรรศนะมุมมองของสื่อต่างชาติ แต่แง่มุมการมองปัญหารวมถึงการตีแผ่ ความจริงของปัญหาจำนำข้าวในไทยก็ถือว่าเฉียบคมไม่น้อยเลยทีเดียว
สื่อนอกเผยชาวนาไทยกำลังสิ้นหวัง ถามนายกฯ ปู “ยังกลืนข้าวลงคออยู่หรือ”
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
เอพี - สื่อต่างประเทศชี้โครงการอุดหนุนราคาข้าวของพรรคเพื่อไทย ที่หวังช่วยเหลือเหล่าผู้สนับสนุนในชนบทหลายล้านคน กลับกลายเป็นหอกทิ่มแทงรัฐบาล หลังชาวนาผู้ทนทุกข์ทรมาน ได้เคลื่อนพลบุกกรุงเทพฯ เรียกร้องขอเงินค่าข้าว พร้อมอ้างคำพูดสะเทือนใจของเกษตรคนหนึ่งถามยิ่งลักษณ์ “ยังกลืนข้าวลงคออยู่อีกหรือ ขณะที่ชาวนาทั่วประเทศกำลังอดตาย”
สำนักข่าวเอพีรายงานว่าเมื่อวันพฤหัสบดี (6) ชาวนานหลายพันคนในกว่า 10 จังหวัดมาบรรจบกันที่เมืองหลวง เพื่อเรียกร้องเงินค่าข้าวที่ถูกค้างจ่ายมานานหลายเดือน หลังจากนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลก่อภาวะขาดทุนอย่างย่อยยับ นอกจากนี้แล้วบางส่วนยังปิดกั้นถนนสายหลัก 3 สายในภาคเหนือและตะวันตก ขณะเดียวกัน อีกไม่กี่ร้อยคนในภาคอีสาน ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของพรรครัฐบาล ก็ชุมนุมประท้วงที่ศาลากลางจังหวัดแห่งหนึ่ง
รายงานของเอพีระบุว่า วิกฤตข้าวครั้งนี้มาไม่ถูกจังหวะเวลานักสำหรับรัฐบาลที่ลดสถานะเหลือเพียง รักษาการ หลังการประท้วงบนท้องถนนที่มีจุดเริ่มต้นจากการต่อต้านพระราชบัญญัตินิรโทษ กรรมกดดันให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่
กระนั้นผลอย่างเป็นทางการของศึกเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ อาจจะไม่สามารถแถลงได้นานกลายเดือน เนื่องจากผู้ชุมนุมปิดกั้นหน่วยเลือกตั้งต่างๆ ขณะที่รัฐบาลเอง ก็ยังเผชิญคดีความในศาลและการสืบสวนต่างๆ นานาที่อาจนำมาซึ่งการถูกขับพ้นจากอำนาจ
“เราต้องออกมาชุมนุมกันบนท้องถนน เพราะว่าเรากำลังสิ้นหวัง” เอพีอ้างคำสัมภาษณ์ของนายสมบัติ ฤกษ์อนันต์ ชาวนาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ฐานที่มั่นของพรรคเพื่อไทย ก่อนมีโครงการรับจำนำข้าว ชาวนาสนับสนุนรัฐบาลแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ตอนนี้เหลือ 50-50 แล้ว”
พร้อมกันนั้นเอพียังอ้างคำพูดของนายวลิต เจริญสมบัติ ชาวนาจากภาคตะวันตกของไทย บอกว่า “ผมขอถามท่านนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ว่า ยังกลืนข้าวลงคออยู่อีกหรือ ชาวนาทั่วประเทศกำลังอดตายเพราะยังไม่ได้เงินค่าข้าวที่พวกเขาลงทุนลงแรง ปลูกกัน”
เอพีระบุว่าข้าวคือหนึ่งในสินค้าส่งออกหลักของไทย แต่ด้วยหวังว่าจะส่งเสริมราคาข้าวและเพิ่มรายได้แก่ชาวชนบท รัฐบาลจึงออกนโยบายซื้อข้าวจากชาวนาในราคาสูงกว่าตลาดโลกถึง 2 เท่า แต่สุดท้ายโครงการนี้กลับย้อนศรมาเล่นงานรัฐบาลเอง โดยกระทรวงพาณิชย์ต้องเจอกับความยากลำบากในขายข้าวแก่ต่างชาติ ด้วยถูกผู้ส่งออกคู่แข่งอื่นๆ อย่างเช่นเวียดนามขายตัดราคา
นักวิจารณ์ยังบอกด้วยว่า โครงการนี้ขาดความโปร่งใส เต็มไปด้วยปัญหาคอรัปชันและลักลอบสวมสิทธิ์ และก่อประโยชน์แก่พวกชาวนาซึ่งถือครองที่ดินเยอะ แทนที่จะเป็นเกษตรกรรายย่อย ขณะเดียวกันกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ก็เคยออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว เนื่องจากทำลายความเชื่อมั่นทางภาคการเงินของไทย
สื่อมวลชนแห่งนี้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าด้วยในสถานรักษาการ รัฐบาลชุดนี้จึงมีทางเลือกอยู่จำกัดในการระดมทุนและตะเกียกตะกายหาเงิน 130,000 ล้านบาทมาจ่ายแก่ชาวนาในฤดูกาลเก็บเกี่ยวปัจจุบัน ขณะที่รัฐบาลขายข้าวแก่ต่างชาติได้ไม่มากพอและธนาคารต่างๆ ก็ปฏิเสธปล่อยกู้แก่กระทรวงการคลัง
รายงานของเอพีระบุว่า ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา พนักงานของธนาคารกรุงไทยหลายร้อยคน รวมตัวกันเรียกร้องคณะผู้บริหารแสดงจุดยืนไม่ปล่อยกู้จำนำข้าวทั้งทางตรงและ ทางอ้อม ซึ่งในเวลาต่อมานายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ก็ยืนยันว่า “ธนาคารไม่ต้องการพัวพันกับการคอร์รัปชัน แต่หากพวกเขาต้องการให้ช่วยเหลือชาวนา เงินต้องถึงมือ 100 เปอร์เซ็นต์และไม่ผิดกฎหมาย เป็นการทำธุรกรรมปกติของสถาบันการเงิน ทางธนาคารก็พร้อมพิจารณา”
เท่านั้นยังไม่พอ อีกหนึ่งความผิดหวังที่ซ้ำเติมรัฐบาล เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาก็คือ รัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งของจีน ยกเลิกข้อตกลงซื้อข้าว 1.2 ล้านตันจากไทย เนื่องจากโครงการไม่โปร่งใส เพราะ ป.ป.ช. กำลังยื่นเรื่องสอบสวนโครงการนี้
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยบอกว่าทางเดียวสำหรับแก้ไขปัญหา นี้คือรัฐบาลยอมเทขายข้าวสู่ตลาดโลก เพื่อนำเงินไปจ่ายแก่ชาวนา แต่ทางเอพีตั้งข้อสังเกตว่าความเคลื่อนไหวลักษณะนี้อาจก่อความโกรธเคืองแก่ ชาติเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม และเสี่ยงต้องไปต่อสู้กันที่องค์การการค้าโลก ด้วยชาติผู้ส่งออกข้าวอื่นๆ อาจฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายด้านการค้าของพวกเขา
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต