สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชาวนาไทย...เหยื่อการเมืองถ้าเลิกปลูกข้าว จะเกิดอะไรขึ้น

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย รัตนา จีนกลาง


ท่าม กลางความขัดแย้ง แตกแยก ช่วงชิงอำนาจทางการเมือง ประดังด้วยม็อบเกษตรกรชาวนาหลายจังหวัดในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก ลุกฮือประท้วง และใช้มาตรการกดดันรัฐบาลให้เร่งหาเงินมาจ่ายค่าจำนำข้าวด้วยการปิดถนนสาย หลักทั้งล่องใต้และขึ้นเหนือ ไม่ว่าจะเป็นที่จังหวัดพิจิตร กำแพงเพชร พิษณุโลก สิงห์บุรี และราชบุรี พร้อมกับขีดเส้นตายภายในวันที่ 31 มกราคมนี้ เป็นสถานการณ์ที่ล่อแหลมอย่างยิ่ง เพราะทำให้รัฐบาลรักษาการของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องรับมือศึกใหญ่ในคราวเดียวกันถึง 2 ม็อบ

การประท้วงของชาวนาในช่วงใกล้วันเลือกตั้ง ยิ่งทำให้รัฐบาลนั่งไม่ติด รัฐบาลกลายเป็นลูกหนี้ของชาวนา เพราะยังไม่สามารถหาเงิน 1.3 แสนล้านบาท มาจ่ายให้กับชาวนาที่เข้าร่วมโครงการจำนำข้าว

ยิ่งแก้ ยิ่งพันลึก หลังจากสถาบันการเงินของรัฐทั้ง ธ.ก.ส. ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ต่างก็ปิดประตูตายไม่ให้กู้เงิน ข้าวที่รับจำนำมาก็ขายไม่ออก สต๊อกข้าวยังล้นโกดังอยู่อีก 15 ล้านตัน ชาวนาที่รอเงินไม่ไหวต้องนำข้าวไปขายให้โรงสีในราคาเกวียนละไม่เกิน 6,000 บาท ถูกกดราคาสุด ๆ

วิกฤตรอบนี้หนักหน่วงไม่น้อย เพราะเม็ดเงินค้างจ่ายชาวนาสูงถึง 1.3 แสนล้านบาท เป็นการเดินนโยบายที่ผิดพลาดที่ประกาศรับจำนำข้าวทุกเมล็ด เพราะเป็นการส่งสัญญาณให้ชาวนาหันมาปลูกข้าวเพิ่มขึ้นไม่จำกัด

ในอดีตภาคเหนือ ภาคอีสาน มักจะปลูกข้าวแค่ปีละครั้ง แต่พอมีนโยบายรับจำนำ ชาวนาก็มีความหวังแห่มาทำนาปรังเพิ่มมากขึ้น ส่วนชาวนาภาคกลางก็โหมทำนาปรัง 4-5 ครั้งต่อปี ทำให้ปริมาณข้าวเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว

นั่นอาจไม่ใช่ปัญหาใหญ่ หากรัฐบาลสามารถขายข้าวไปต่างประเทศได้ก็จะมีเงินกลับมาจ่ายให้ชาวนาได้ แต่เมื่อวงจรการผลิต การขาย การตั้งราคาจำนำข้าวที่สูงเกินจริงจากราคาท้องตลาดที่เกวียนละ 15,000 บาท ทำให้กลไกตลาดบิดเบือนไปมาก นี่ยังไม่นับรวมปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างเป็นระบบทุกระดับชั้น ตั้งแต่นักการเมือง ข้าราชการ พ่อค้า และชาวนาบางส่วน จึงทำให้เกิดปัญหาหมักหมมทับถม และปะทุขึ้นในเวลานี้

นอกจากนั้น ภาพของชาวนายังถูกครหาว่าเป็นคนสร้างหนี้สร้างสินให้กับประเทศ เป็นชนชั้นรากหญ้าที่ถูกซื้อสิทธิ์ขายเสียง ฉุดรั้งประชาธิปไตย

ชาวนาต้องกลายเป็นเหยื่อของนักการเมือง เป็นเหยื่อของนายทุน

กระดูกสันหลังของชาติผุกร่อนจนแทบไม่เหลืออะไรแล้ว

วันนี้ใช้เวลานั่งนึกตรึกตรอง พร้อมกับตั้งโจทย์

...ถ้าชาวนาไทยเลิกปลูกข้าวให้เรากิน จะเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย..?

ชาวนาคือผู้ปลูกข้าวเลี้ยงประชาชนทั้งประเทศมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ ไทยเคยเป็นแชมป์ส่งออกข้าวของโลก

แต่วันนี้ชาวนากำลังตกอยู่ในภาวะยากลำบากแสนเข็ญ

สเต็กโฮลเดอร์ที่เกี่ยวข้องกับวงจรการผลิตข้าวของประเทศไทยมีใครบ้าง ?

ไล่เรียงกันตั้งแต่ตัวชาวนาและครอบครัวที่ต้องเลี้ยงดู, ผู้ผลิตและจำหน่ายปุ๋ย-ยาฆ่าแมลง, ผู้ค้ารถไถนา-รถเกี่ยวข้าว, โรงสี, ผู้ผลิตข้าวบรรจุถุง, ผู้ผลิตอาหารแปรรูปจากข้าว, ผู้ส่งออก, ชิปปิ้ง, เจ้าหนี้นอกระบบ, นักการเมือง, สถาบันการเงิน อาทิ ธ.ก.ส. และกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า

ชาวนาเป็นขุมทรัพย์ เป็นกำลังซื้อสำคัญของผู้ผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภคแทบทุกประเภทเช่นกัน ปีใดที่ชาวนาขายข้าว
ได้ ราคาดี บรรดาร้านทอง มือถือ มอเตอร์ไซค์ รถยนต์ ห้างร้านต่าง ๆ ก็มียอดขายดีไปด้วย แต่ถ้าไม่มีชาวนา ซัพพลายเชนเหล่านี้จะเป็นอย่างไร

ฉะนั้นทุกฝ่ายต้องร่วมกันคิด ร่วมกันหาทางออก เพราะชาวนายังเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศ

อัพ เดตข้อมูล ณ วันที่ 24 มกราคม 2557 มีเกษตรกรที่มาแจ้งขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 7,076,927 ครัวเรือน แบ่งเป็นเกษตรกรที่มีอาชีพทำนา จำนวน 2,916,334 ครัวเรือน แต่ถ้าคิดเป็นจำนวนราย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรระบุว่า ในปี 2555 ประเทศไทยมีเกษตรกรจำนวน 23.73 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งหมด 64 ล้านคน

หาก เช็กข้อมูลย้อนหลังจะพบว่า จำนวนเกษตรกรเริ่มลดลง เช่น ปี 2554 มีเกษตรกร 24.1 ล้านคน หรือมีสัดส่วนร้อยละ 37.64 ของประชากรทั้งประเทศ และส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย 40-45 ปีขึ้นไป

เป็นคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่แบกภาระเลี้ยงดูครอบครัว ขณะที่ชาวนารุ่นใหม่เข้าสู่ระบบน้อยมาก

นี่คือ โจทย์ใหญ่ของคนไทย


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ชาวนาไทย เหยื่อการเมือง เลิกปลูกข้าว เกิดอะไรขึ้น

view