สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ต่างชาติหนุนไทยทิ้งประชานิยม

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

นักเศรษฐศาสตร์ต่างชาติหนุนอาเซียนรวมไทยเลิกนโยบายประชานิยม และโครงการรับจำนำข้าว เนื่องจากมีส่วนฉุดรั้งเศรษฐกิจขยายตัวช้า

นายโรนัลด์ ยู.เมนโดซา ประธานบริหารสถาบันศูนย์กลางการบริหารเชิงนโยบายแห่งเอเชีย (เอไอเอ็ม) และเป็นนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ในฟิลิปปินส์ กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง "สิ้นสุดการเติบโตเป็นตัวเลขสองหลัก องค์ประกอบการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อเนื่องในเอเชีย" วานนี้ (20 ม.ค.) โดยระบุว่า การใช้นโยบายประชานิยม รวมถึงโครงการรับจำนำข้าวในไทย และการอุดหนุนราคาพลังงานในอินโดนีเซีย ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวโตช้าลง ซึ่งนโยบายเหล่านี้ต้องแก้ไข เพราะก่อเกิดผลกระทบไม่ดีต่อประชาชน ทำให้เกิดแนวทางไม่เป็นประชาธิปไตย

"ในระยะยาว เราไม่ได้พูดถึงแค่การคอร์รัปชัน หรือการใช้งบสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ และไม่ใช่ปัญหาการใช้นโยบายประชานิยมจะเกิดกับไทยเท่านั้น แต่ยังมีในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย หรือประเทศอาเซียนอื่น ประเทศเหล่านี้ต้องคิดทบทวนการใช้นโยบายประชานิยมใหม่ บางนโยบายมีการเกี่ยวโยงกับการคอร์รัปชัน เป็นสิ่งไม่ดีต้องขจัดนโยบายเช่นนี้ ให้แน่ใจว่าเกิดการคิดสร้างสรรค์มีนโยบายสร้างเครือข่ายทางสังคมเข้มแข็งมากขึ้น ช่วยประชาชนได้แบบครอบคลุม"นายเมนโดซากล่าว

นายเมนโดซา มองความวุ่นวายการเมืองไทยขณะนี้ เป็นปัญหาท้าทายและเป็นสถานการณ์ที่เขาคุ้นเคยและพบในฟิลิปปินส์ และหวังว่าวิกฤติการเมืองเกิดขึ้นต่อเนื่องขณะนี้ จะแก้ไขได้โดยเร็วไม่เกิดอันตรายคุกคามคนไทย

ด้านนายมาร์ติน ชูลซ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส จากสถาบันวิจัยฟูจิตสึของญี่ปุ่น กล่าวว่า เศรษฐกิจเอเชียซึ่งพึ่งพาการส่งออกช่วยให้เกิดการเติบโตสูง ตอนนี้โมเดลดังกล่าวใช้ไม่ได้อีกต่อไป และต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นใช้โมเดลการเติบโตจากภายในประเทศแทน

ดังนั้นเศรษฐกิจเอเชีย จะต้องมุ่งเน้นไปที่การทำเศรษฐกิจ พัฒนาภาคบริการ ปฏิรูปภายในประเทศ ซึ่งการเมืองที่วุ่นวายยิ่งตอกย้ำว่า ไทยต้องปฏิรูปภาคบริการ อุตฯไอทีและลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐาน ผลักดันประเทศโตต่อเนื่องในระยะยาว

"ยอมรับว่าโครงการประชานิยมรวมถึงโครงการรับจำนำข้าว ก่อเกิดการคอร์รัปชันอย่างต่อเนื่องและต้องจัดการ แต่ไม่ใช่เรื่องเดียวที่สำคัญที่สุดต้องแก้ไข แต่สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่การสร้างผลิตภาพให้ภาคบริการมีขนาดใหญ่ และเกี่ยวข้องกับภาครัฐ การสร้างผลิตภาพให้อุตสาหกรรมไอที และลงทุนโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ซึ่งต้องได้ข้อตกลงความเห็นของคนส่วนใหญ่"

ห่วงการเมืองทำไทยหมดเสน่ห์

นายชูลซ์ กล่าวถึงผลกระทบจากการเมืองในไทยว่า ปีที่แล้วต่างชาติทุกคนไม่วิตกกังวลมากนัก แต่จากปัญหาเกิดขึ้นตอนนี้ นักลงทุนทั่วโลกกังวลมากขึ้น เพราะดูเหมือนไม่มีทางออกช่วยแก้ปัญหาได้

"ถ้าไม่มีทางออกในระยะยาวย่อมมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้ แม้นักลงทุนต่างชาติยังมองไทยในแง่ดี แต่ตอนนี้ต่างหวังความเป็นไปได้มีการประนีประนอม ไม่เช่นนั้นต่างชาติอาจพิจารณาไทยในแง่ความสามารถแข่งขันเทียบเพื่อนบ้าน "นายชูลช์กล่าวและว่า นักลงทุนญี่ปุ่นอยากมีประเทศช่วยเชื่อมโยงจีนกับอาเซียน แต่ถ้าการเมืองไม่นิ่ง อาจมองประเทศอื่นอย่างอินโดนีเซียที่มีนโยบายกับการเมืองนิ่งกว่า"

ขณะที่นายรอฟ เจ.แลงแกมเมอร์ รองประธานสถาบันเคียลในเยอรมนี เห็นว่าเป็นเรื่องเกิดขึ้นพร้อมกันระหว่างปัจจัยภายนอกประเทศ คือ เศรษฐกิจโลกโตช้าและการเปลี่ยนรูปแบบเศรษฐกิจ ผสมกับปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศ เลยทำให้เกิดวังวนของปัญหามารวมกัน ฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจได้

โดยปัญหาในประเทศของไทยคล้ายกับยุโรป คือความไม่เท่ากันของรายได้และการเข้าถึงทรัพยากรอย่างการศึกษา ไอทีและทรัพยากรธรรมชาติได้ไม่เท่ากัน จึงเป็นเหตุผลสำคัญทำให้เกิดการประท้วงการเมืองและคอร์รัปชันในไทยและชาติอาเซียนอื่น

นายแลงแกมเมอร์ มองการสูญเสียที่เกิดจากเหตุประท้วงทางการเมืองในไทยว่า มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับว่าการประท้วงนานแค่ไหน แน่นอนหากการประท้วงยาวนานเป็นเดือนๆ หรือมีสถานการณ์เลวร้ายลงอีก มีความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมือง ย่อมส่งผลกระทบบั่นทอนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยแน่ แต่ตอนนี้เขามองแง่ดีว่าสถานการณ์ไม่รุนแรงไปกว่านี้


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ต่างชาติ หนุนไทย ทิ้งประชานิยม

view