จาก โพสต์ทูเดย์
โดย....ทีมข่าวการเมือง
ความพยายามของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ในการปลดล็อคข้อเรียกร้องจากมวลมหาชาวนาด้วยการหาเงินมาจ่ายค่าจำนำข้าวจะทำได้หรือไม่ อยู่ที่ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้เตรียมเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในวันนี้( 21 ม.ค. 57 ) โดยเมื่อวานนี้ นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ อ้างว่า การกู้เงินกว่า 1.3 แสนล้านบาท เป็นไปตามมติครม. ก่อนมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร จึงไม่ได้เป็นภาระผูกพันไปถึงรัฐบาลชุดใหม่
เหตุผลนี้ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะมีอีกมุมหนึ่งว่าการกู้เงินมาจ่ายชาวนาช่วงเลือกตั้ง ก็อาจเข้าข่ายการใช้อำนาจรัฐเพื่อสร้างความได้เปรียบในทางการเมืองในระหว่างที่มีการยุบสภาฯ และหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 181 (2) และ (3) ที่บัญญัติข้อห้ามที่คณะรัฐมนตรีต้องไม่กระทำระหว่างการยุบสภาฯว่า “ ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากกกต. และ ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป
ในประเด็นนี้ สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการกกต.ด้านบริหารกิจการเลือกตั้ง ได้สรุปถึงข้อพิจารณาที่รัฐบาลส่งมาให้กกต.ผ่านทางเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 16 ม.ค.2557 ดังนี้
สรุปเรื่องจำนำข้าว ที่เกี่ยวกับ กกต. มี 4 เรื่อง คือ
1. กกต. อนุมัติเงิน 5,900 ล้าน เพื่อชดเชยส่วนต่าง ที่รัฐบาลนำข้าวไปจำหน่ายประชาชนราคาถูก (ข้าวธงฟ้า) ข้าวที่ขายให้ส่วนราชการราคาถูก ตันละบาท ให้ราชทัณฑ์ ข้าวที่นำไปช่วยเหลืออุทกภัยในประเทศ และ ฟิลิปปินส์ เนื่องจากมติช่วยเหลือของ ครม.เกิดก่อนยุบสภา
2. กกต.ไม่อนุมัติให้กระทรวงพาณิชย์ เจรจาค้าข้าวกับประเทศอื่น แบบ G to G เนื่องจากอาจผิด มาตรา 181 ของรัฐธรรมนูญ เป็นการเจรจาทำสัญญาที่มีผลผูกพันรัฐบาลชุดต่อไป และ เงินที่ได้จากการขาย นำไปให้ชาวนา ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรของรัฐที่มีผลต่อการเลือกตั้ง
3. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทำเรื่องขอปรึกษา กกต. เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนรายการงบประมาณ นำเงินสำรองหมุนเวียน มาชำระหนี้ชาวนา ว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ โดยเรื่องเข้าที่ประชุม กกต. เมื่อวันพุธที่แล้ว แต่ขาดรายละเอียดโดยเป็นเอกสารเพียง 1 หน้า และให้เจ้าหน้าที่ระดับกลางมาชี้แจง กกต.จึงขอให้ ผจก.ธกส. มาชี้แจงรายละเอียดในสัปดาห์นี้ ปรากฏว่า เมื่อวันศุกร์มีโทรสารจาก ธกส. ขอถอนเรื่องออกไป ดังนั้น การใช้เงินหมุนเวียน 55,000 ล้าน ไปชำระหนี้ชาวนา ถือเป็นความรับผิดชอบของ ธกส.เอง หากเกิดความเสียหายต่อ ธกส. หรือ กรณีที่เป็นความผิดตามรัฐธรรมนูญ
4. เรื่องการปรับเปลี่ยนรายการอนุมัติเงินกู้ 130,000 บาท เพื่อนำมาชำระหนี้ชาวนา ที่รองนายกฯกิตติรัตน์ให้สัมภาษณ์ เป็นเอกสารที่ส่งมาถึง กกต.เมื่อวันที่ 8 มกราคม เมื่อวาน กกต.ได้พิจารณาคำขอและมีมติเชิญ รองนายกฯกิตติรัตน์ มาชี้แจงในวันอังคารที่ 21 มกราคม แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าจะมาชี้แจงหรือไม่ ดังนั้น ชาวนา น่าจะยังไม่ได้รับเงิน จนกว่าจะเลยวันที่ 21 ไปแล้ว แต่ก็ยังไม่แน่ว่า กกต.จะอนุมัติให้หรือไม่ จึงเรียนมาเพื่อให้ ประชาชน รองนายกฯ และนายกรัฐมนตรี ทราบครับ"
ดังนั้น ความน่าสนใจในการประชุมร่วมกันของรัฐบาและกกต.อยู่ที่ การตีความมาตรา 181 ของกกต. เพราะหากกกต.เห็นว่าการกู้เงิน1.3 แสนล้านบาทของรัฐบาลมีลักษณะเป็นการสร้างภาระผูกพันให้กับรัฐบาลใหม่ เนื่องจากเป็นงบประมาณจะต้องเบิกจ่ายต่อเนื่อง เท่ากับว่ารัฐบาลต้องเผชิญกับปัญหาสภาพคล่องต่อไป แต่ถ้าเป็นในทางตรงกันข้ามก็เท่ากับว่าโครงการรับจำนำข้าวก็ได้ต่อลมหายใจต่อไป
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต