สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เกษตร มช.เจ๋ง! ทำสำเร็จเพาะ ถั่งเช่า บนดักแด้ไหม

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - คณะเกษตรศาสตร์ มช.ทำสำเร็จเพาะ “ถั่งเช่า” บนดักแด้ไหม หลังร่วมมือกรมหม่อนไหม-ม.ราชภัฏเชียงใหม่ต่อยอดการวิจัย เผยก่อนหน้าลองใช้ข้าวเป็นฐานเพาะแล้วได้ผลจึงลองหันมาเพาะบนดักแด้ไหมบ้าง เบื้องต้นประสบความสำเร็จเพาะ “ถั่งเช่าหิมะ” ได้ผลดี เตรียมต่อยอดทดลองเพาะ “ถั่งเช่าสีทอง” ต่อ คาดอนาคตช่วยเพิ่มมูลค่าให้เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เหตุราคาขายเหยียบแสน
       
       รศ.ดร.จิราพร กุลสาริน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยถึงโครงการเพาะเลี้ยงถั่งเช่าของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในระหว่างการแถลงข่าวประจำปีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ณ ห้องประชุมพระยาศรีวิสารวาจา สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันนี้ (21 พ.ย.) ว่า ถั่งเช่า หรือหญ้าหนอนนั้นเป็นเชื้อรากินแมลงชนิดหนึ่งซึ่งมีฤทธิ์ทางยา และมีการนำมาใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคต่างๆ รวมทั้งเป็นอาหารเสริมสุขภาพ เนื่องจากพบว่ามีสรรพคุณในหลายๆ ด้าน
       
       เช่น การบำรุงร่างกาย บำรุงไต หัวใจ ปอด หลอดลม กล่องเสียง เสริมอายุวัฒนะ ป้องกันเบาหวาน ความดัน เสริมสมรรถภาพทางเพศ และรักษามะเร็ง เป็นต้น อีกทั้งยังมีการนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องสำอาง ส่งผลให้ถั่งเช่าเป็นที่ต้องการของท้องตลาดอย่างมากในปัจจุบัน
       
       สำหรับโครงการเพาะเลี้ยงถั่งเช่าของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น ที่ผ่านมาได้มีการทดลองเพาะเลี้ยงถั่งเช่าใน 2 สายพันธุ์ ได้แก่ ถั่งเช่าสีทอง และถั่งเช่าหิมะ โดยใช้ข้าวเป็นฐานในการเพาะเลี้ยง ซึ่งปรากฏว่าประสบความสำเร็จสามารถเพาะเลี้ยงถั่งเช่าให้เจริญเติบโตได้เป็น อย่างดี จึงได้ดำเนินการต่อยอดการวิจัยดังกล่าว ด้วยการร่วมกับกรมหม่อนไหม และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ดำเนินงานวิจัยในโครงการศึกษาแนวทางการเพาะเลี้ยงเชื้อรา Isaria tenuips บนดักแด้ไหม (Bombyx mori) เพื่อผลิตเป็นถั่งเช่า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ดักแด้ไหม และสร้างแรงจูงใจให้แก่เกษตรกรในการประกอบอาชีพด้านหม่อนไหม เนื่องจากหากเพาะเลี้ยงดักแด้ไหมเพื่อขายตามปกติจะมีราคาอยู่ที่ประมาณ กิโลกรัมละ 100 บาท แต่หากนำมาใช้ในการเพาะเลี้ยงถั่งเช่าจะได้ราคาที่สูงกว่าอีกหลายเท่า
       
       ด้าน ดร.วรรณพร ทะพิงค์แก คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ร่วมทำการวิจัยเรื่องการเพาะเลี้ยงถั่งเช่าเปิดเผยว่า แนวความคิดเรื่องการเพาะเลี้ยงถั่งเช่าบนดักแด้ไหมเกิดจากสภาพตามธรรมชาติ ของถั่งเช่าที่เจริญเติบโตบนตัวหนอนหรือแมลงอยู่แล้ว แต่การทดลองเพาะเลี้ยงที่ผ่านมาใช้วัสดุอื่นเป็นฐานในการเพาะเลี้ยง
       
       จนกระทั่งเมื่อสามารถเพาะเลี้ยงถั่งเช่าหิมะและถั่งเช่าสีทองได้ สำเร็จ จึงได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการเพาะลี้ยงบนแมลงอีกทางหนึ่ง และจากความร่วมมือกับกรมหม่อนไหม จึงได้เลือกใช้ดักแด้ไหมมาเป็นวัสดุในการเพาะเลี้ยง และเลือกเพาะเลี้ยงถั่งเช่าหิมะก่อนเป็นชนิดแรก
       
       โดยกระบวนการเพาะเลี้ยงมีขั้นตอนคือ การนำดักแด้ไหมมาฉีดหรือจุ่มสารละลายที่มีหัวเชื้อราถั่งเช่าหิมะ ก่อนจะนำไปเก็บในห้องมืดที่อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 25-30 วันเพื่อให้เส้นใยเจริญเติบโตเต็มที่ ซึ่งหลังจากทดลองมาอย่างต่อเนื่องโดยได้รับการสนับสนุนดักแด้ไหมจากกรมหม่อน ไหม พบว่าปัจจุบันสามารถเพาะเลี้ยงถั่งเช่าหิมะบนดักแด้ไหมได้สำเร็จและให้ผล ผลิตเป็นอย่างดี จึงเตรียมที่จะทดลองเพาะเลี้ยงถั่งเช่าสีทองบนดักแด้ไหมเป็นลำดับต่อไป เนื่องจากพบว่าการเพาะเลี้ยงถั่งเช่าบนดักแด้ไหมทำให้ถั่งเช่าที่มีสารสำคัญ ต่างๆ ในปริมาณมากกว่าถั่งเช่าที่ได้จากการใช้ข้าวเป็นฐานเพาะเลี้ยง
       
       ดร.วรรณพรกล่าวว่า นอกจากการทดลองเพาะเลี้ยงแล้ว คณะผู้วิจัยยังได้ทดลองเกี่ยวกับการแปรรูปถั่งเช่าที่ได้ในลักษณะต่างๆ เช่น นำมาทำเป็นยา สกัดสารเคมีมาใช้ในด้านเวชสำอาง หรือประยุกต์วิธีการบริโภคง่ายๆ อย่างการนำถั่งเช่าที่อบแห้งแล้วมาชงในรูปแบบของชา เป็นต้น ซึ่งหลังจากนี้จะมีการประสานไปยังหน่วยงานอื่นๆ เช่น คณะแพทยศาสตร์หรือคณะเภสัชศาสตร์ เพื่อศึกษาว่าจะสามารถนำถั่งเช่าที่ได้จากการเพาะเลี้ยง รวมถึงสารต่างๆ ที่สกัดได้จากถั่งเช่ามาใช้ประโยชน์อย่างไรได้บ้าง
       
       ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ถือเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยที่สามารถเพาะ เลี้ยงถั่งเช่าบนดักแด้ไหมได้ ขณะที่ในปัจจุบันราคาขายถั่งเช่าในท้องตลาดนั้น หากเป็นถั่งเช่าสีทองจะมีราคาประมาณกิโลกรัมละ 60,000-100,000 บาท
       
       ส่วนถั่งเช่าหิมะมีราคาประมาณกิโลกรัมละ 10,000 บาท ซึ่งจากการดำเนินการวิจัยพบว่า การผลิตถั่งเช่าแห้ง 1 กิโลกรัม จะต้องใช้ถั่งเช่าสดประมาณ 6-10 กิโลกรัม โดยถั่งเช่าสีทองนิยมนำไปใช้ในการรักษาและบำรุงสุขภาพ ส่วนถั่งเช่าหิมะนิยมนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอาง


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : เกษตร มช. เจ๋ง ทำสำเร็จ ถั่งเช่า ดักแด้ไหม

view