สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

OECD สะท้อนโลกที่ใส่ใจ e-Waste หรือไม่

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

       ความ สนใจใน e-Waste มาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ตลอดจนนวัตกรรมที่เกิดใหม่ของเทคโนโลยีดิจิตอล ประกอบกับราคาสินค้าที่ลดลง ทำให้สินค้ารุ่นใหม่ๆ เข้ามาทดแทนของเดิมก่อนถึงกำหนดเวลาใช้งานที่ควรจะเป็น
       เนื่องจากผู้ใช้ยุคนี้มักมองว่าเป็นสินค้าตกรุ่น ดูล้าสมัย โดยพฤติกรรมเช่นนี้แพร่กระจายกลายเป็นค่านิยมของโลก นำไปสู่ปัญหาใหญ่ด้านการบริหารขยะที่กำลังได้รับการใส่ใจจากทั่วโลกในขณะนี้
       องค์กร OECD จึงได้ประมาณการว่า จะมีการเติบโตของ ICT เครื่องใช้ในภาคครัวเรือนที่มีสัดส่วน 44% และเครื่องใช้สำนักงานใน 6 ประเทศหลักของโลก ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศสและจีน ทำให้ปริมาณ e-Wasteเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย
       ความแตกต่างที่สำคัญของ e-Waste คือ วัสดุที่ผลิตสินค้ากลุ่ม e-Waste มาจากวัสดุอันตรายที่ทิ้งแล้วสร้างความเสียหายต่อสุขภาพของคน สภาพแวดล้อมและโลก อย่างแคดเมียม พลาสติก ที่ยังมีกระบวนการกำจัดที่ไม่ดี ไม่ระมัดระวัง ขณะเดียวกันก็มีส่วนผสมที่เป็นโลหะที่มีค่า สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ หากมีการบริหารจัดการที่ดีแทนที่จะทิ้งขว้าง โดยเฉพาะส่วนผสมในโทรศัพท์มือถือที่มีโลหะมีค่ากว่า 40 ชนิดผสมอยู่
       การบริหารจัดการ e-Waste จึงกลายเป็นประเด็นที่เป็นโอกาสในการทำเงินและดูแลสุขภาพ สิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน ซึ่งจะทำได้ดีจำเป็นจะต้องใช้ไฮ-เทคโนโลยีในการจัดการ เพื่อกู้กลับทรัพยากรมีค่าทั้งหมดจาก e-Waste โดยผ่านการรีไซเคิลแบบใหม่ๆ และควบคุมอันตรายจากวัสดุอันตรายทั้งหลายที่ผสมอยู่
       ปัจจุบันยังไม่มีการประเมินปริมาณทั้งหมดของสินค้าที่ควร อยู่ในกลุ่ม e-Waste ทั้งโลกว่ามากน้อยแค่ไหน เพราะประมาณได้ยาก การบริหารจัดการต้องผ่านหน่วยงานภาครัฐ และโปรแกรมการดำเนินการเฉพาะเจาะจงในแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน และครอบคลุมสินค้าไม่เหมือนกัน
       อย่างเช่นในกลุ่มสหภาพยุโรป มีการกำหนดสินค้าไว้ 10 ประเภท ขณะที่ในสหรัฐฯ จำกัดเพียงสินค้าด้าน ICT และโทรทัศน์ ส่วนในญี่ปุ่นมีเพียง 4 ประเภทสินค้าเท่านั้น คือ ทีวี เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็นและเครื่องซักผ้า
       เหตุผลที่ไม่มีการรวมเอาสินค้าอีกมากมายไว้ในกลุ่ม e-Waste เพราะส่วนหนึ่งมีการผลิตและลักลอบขนส่งสินค้า ส่วนกระบวนการกำจัดขยะที่ไม่ถูกกฎหมายก็มีอีกจำนวนมาก โดยการกำจัดขยะ e-Waste มักดำเนินการโดยผู้ใช้ปลายทางรายบุคคล หรือรายกิจการทำกันเอง โดยไม่มีแบบแผน หรือมาตรฐานกำกับการดำเนินการ ทำให้ประเมินจำนวนที่แท้จริงไม่ได้ และแต่ละประเทศไม่อยากจะรับรู้ทั้งหมด เพราะต้องยอมรับภาระ และหาทางบริหารจัดการกับe-Waste เหล่านี้ด้วยเงินงบประมาณอีกจำนวนมหาศาล
       
       ข้อมูลที่น่าสนใจ จากการประเมิน e-Waste โดย OECD
       - 80-85% ของสินค้าเครื่องไฟฟ้า ใช้การทิ้งในดิน หรือเผาทิ้งซึ่งทำให้เกิดสารท็อกซิกในอากาศมหาศาล
       - การกำจัดขยะ e-Waste ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการยังมีไม่ถึง 2% ของปริมาณการกำจัดขยะประเภทนี้ทั้งหมด
       - มีเพียง 12% ของกระบวนการกำจัด e-Waste ที่เป็นการรีไซเคิลวัสดุมีค่ากลับมาใช้ใหม่
       - แต่ละปีทั่วโลกน่าจะมีปริมาณขยะ e-Waste ราว 20-25 ล้านเมตริกตันอย่างต่ำ
       - ในโทรศัพท์มือถือ 1 ล้านเครื่องน่าจะมีโลหะมีค่าเป็นทองแดงราว 35,275 ปอนด์ โลหะเงินราว 772 ตัว ทองคำราว 75 ปอนด์ พาราเดียมราว 33 ปอนด์
       - หากรีไซเคิลแล็ปท็อป 1 ล้านเครื่องสามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้าและนำกลับมาใช้ในครัวเรือนได้กว่า 3,657 ครัวเรือนในแต่ละปี
       แม้ว่าตอนนี้จะมีสินค้าที่ติดป้ายฉลากว่า e-Waste แต่จริงๆ แล้วไม่ได้สร้างกระบวนการบริหารจัดการขยะตามหลักการที่ควรจะเป็น หากแต่เป็นเพียงสินค้านั้นมีอุปกรณ์ไฟฟ้าบางส่วนที่สามารถนำออกขายในตลาดที่ เปิดการรับซื้อและให้ราคาตลาดไว้อย่างเป็นระบบ หรือสามารถนำไปรีไซเคิลได้บ้างเท่านั้น
       กระนั้นก็ตาม ทุกประเทศในโลกตระหนักและยอมรับว่า หากไม่มีการพัฒนาระบบการบริหารจัดการกับ e-Waste เหล่านี้อย่างเหมาะสม จะทำให้ทุกประเทศมีปัญหาที่ร้ายแรงในอนาคตอยู่ดี และถึงเวลาที่ทุกประเทศจะต้องใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์มากำกับการบริหาร จัดการขยะ e-Waste
       จีน เอเชีย ใส่ใจจัดการ e-Waste มากขึ้น
       ตอนนี้ที่ประเทศจีน เป็นอีกประเทศที่สร้าง e-Waste ระดับแถวหน้าของโลก เนื่องจากมีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลกจึงเป็นแหล่งผลิตสินค้า e-Waste มากที่สุดของโลกรายหนึ่งด้วย แต่ก็ได้แสดงความสนใจและประชาสัมพันธ์ให้ทั่วโลกเชื่อว่าจีนให้ความสำคัญกับ ปัญหานี้ จากการคาดการณ์ล่วงหน้าจีนจะมีปริมาณสินค้าที่เป็น e-Waste ถึง 6 ล้านตันในปี 2020 ซึ่งเป็นสาเหตุให้รัฐบาลจีนออกนโยบายในการบริหารเรื่องนี้แบบยั่งยืน
       และเป็นการตอกย้ำถึงความตั้งใจดังกล่าว จีนจึงรับเป็นเจ้าภาพงาน e-Waste World (EWW) 2013 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 20-21 มีนาคม ที่ผ่านมา ที่นครเซี่ยงไฮ้ โดยการเปิดเผยแผนงานสร้างแรงจูงใจในการบริหารจัดการ e-Waste และนโยบายการบริหารจัดการของรัฐบาลจีน ซึ่งข้อมูลที่เปิดเผยยังทำให้เห็นอีกว่าทั่วโลก โดยเฉพาะเอเชียเองก็สนใจในการวางนโยบายเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : OECD สะท้อนโลก ใส่ใจ e-Waste

view