สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ภาคการเกษตรของออสเตรเลียปรับตัวได้อย่างไร

ภาคการเกษตรของออสเตรเลียปรับตัวได้อย่างไร

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




จำนำข้าวกำลังกลายเป็นรอยด่างของรัฐบาลชนิดที่เรียกว่าลบไม่ได้ล้างไม่ออก

ความจริงแล้ว การจะช่วยเหลือเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเป็นเรื่องเข้าใจได้และควรทำ แต่รัฐบาลต้องแยกแยะให้ออกว่านโยบายแบบไหนที่ควรใช้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน นโยบายแบบไหนที่ช่วยเกษตรกรได้อย่างยั่งยืนถ้ารัฐบาลแยกแยะได้ เลือกใช้ถูก รัฐบาลเองก็จะไม่ถูกครหาว่าเอาเงินหลวงไปซื้อเสียงอีกต่อไป

ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่เจอกับปัญหานี้ เมื่อประมาณสิบห้าถึงยี่สิบปีก่อน ออสเตรเลียก็มีปัญหาลักษณะเดียวกัน จนนำไปสู่การปฏิรูปภาคเกษตรซึ่งใช้เวลาเกือบสองศตวรรษถึงจะเห็นผลเป็นเนื้อเป็นหนังขึ้นมา แต่การเดินทางที่ยาวนานนี้ได้สร้างรากฐานอันแข็งแกร่งให้กับภาคเกษตรของประเทศ จนกลายเป็นมหาอำนาจทางสินค้าเกษตรของโลกประเทศหนึ่งได้อย่างสง่างาม การที่ซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ๆ ในบ้านเรามีเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ น้ำผลไม้ และไวน์ จากแดนจิงโจ้วางขายเป็นตัวอย่างที่ดีของความสำเร็จนี้

จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากสาเหตุหลักสองด้วยกัน สาเหตุแรก คือ แรงกดดันจากข้อตกลงการค้าเสรี ซึ่งกำหนดให้ภาครัฐลดการช่วยเหลือภาคการเกษตร นั่นหมายความว่า ชะตาชีวิตของเกษตรกรจะผูกติดกับตลาดโลกมากขึ้น สาเหตุที่สอง เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของห่วงโซ่อุปทานเพื่อช่วยภาคอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับการเกษตรมีผลประกอบการดีขึ้นได้

รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ของออสเตรเลียในยุคนั้นทราบดีว่า งานนี้ต้องมองเกมให้ขาด เพราะอนาคตข้างหน้า การแข่งขันในตลาดสินค้าเกษตรของโลกมีแต่จะดุเดือดรุนแรงขึ้น การปรับตัวจึงต้องมองไกลกว่าความอยู่รอดระยะสั้นแบบปีต่อปีของเกษตรกร แต่ต้องมองให้ไกลว่า ทำอย่างไรเกษตรกร และภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องจะสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน มีความเข้มแข็งในการรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ในอนาคตได้

คณะทำงานที่รับผิดชอบในการพัฒนานโยบายปรับโครงสร้างภาพเกษตร ได้เสนอว่า นโยบายที่ใช้ควรแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ 1) นโยบายระยะสั้นและระยะกลางสำหรับบรรเทาผลกระทบในระหว่างการปรับโครงสร้างภาคการเกษตร ซึ่งรวมไปถึงนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรที่อยากเลิกทำการเกษตรให้สามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ในภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ได้ และ 2) นโยบายที่จะปรับโครงสร้างภาคเกษตรให้ไปสู่จุดที่ต้องการในระยะยาว

ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือการปรับตัวของเกษตรผู้ปลูกส้มเนื่องจากออสเตรเลียจำเป็นต้องลดกำแพงภาษีนำเข้าหัวน้ำส้มเข้มข้นแช่แข็ง ทำให้มีการนำเข้าหัวน้ำส้มเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาส้มในประเทศลดลง โดยเฉพาะส้มวาเลนเซีย

กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกส้มได้เรียกร้องให้รัฐยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือด้วยการใช้มาตรการปกป้องที่สอดคล้องกับข้อกำหนดของ WTO แต่รัฐบาลก็ใจแข็งปฏิเสธข้อเสนอนี้ไป ความช่วยเหลือที่รัฐบาลจัดให้เป็นการให้เงินช่วยเหลือแบบจำกัดวงเงิน จำนวน 28.5 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 850 ล้านบาท ควบคู่ไปกับมาตรการช่วยเหลือที่มีให้กับเกษตรทั่วไป ซึ่งเป็นความช่วยเหลือในด้านการให้เงินสนับสนุนเพื่อปรับโครงสร้างการผลิตการให้คำแนะนำทางวิชาการ การให้เงินทุนและการอบรมสำหรับผู้ที่ต้องการเปลี่ยนไปทำธุรกิจอื่นๆ ที่สำคัญ มาตรการเหล่านี้ไม่ได้ให้แบบหว่านแห แต่เป็นมาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยเท่านั้น เพราะเกษตรกรรายใหญ่มีความสามารถในการปรับตัวอยู่แล้ว

รัฐบาลให้ข้อมูลกับเกษตรกรผู้ปลูกส้ม และเกษตรกรกลุ่มอื่นๆ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนที่จะเริ่มโครงการเหล่านี้ว่า ความช่วยเหลือด้านการเงินต่างๆ ที่ให้นั้น เป็นความช่วยเหลือระยะสั้น เพื่อให้ปรับตัวได้ มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน เมื่อถึงกำหนดแล้ว ความช่วยเหลือเหล่านี้จะถูกลดระดับลง เกษตรกรจึงต้องรู้จักบริหารจัดการความเสี่ยงให้มากขึ้น โดยเฉพาะความเสี่ยงที่เกษตรกรสามารถรับมือได้ด้วยตัวเอง

สิ่งที่เกษตรกรเหล่านี้ถูกปลูกฝังควบคู่กันไปด้วย คือทัศนคติที่ว่าเกษตรกรเป็นนักธุรกิจ ไม่ใช่คนปลูกผักเลี้ยงสัตว์ เมื่อเป็นนักธุรกิจ ก็ต้องคิดอย่างนักธุรกิจ รู้เท่ากันกลไกตลาด ทำธุรกิจอย่างมืออาชีพ ความสำเร็จและล้มเหลวในการทำธุรกิจการเกษตร เป็นความรับผิดชอบของตัวเกษตรกรเอง เหมือนกับธุรกิจอื่นๆ

การเปลี่ยนทัศนคติในเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเมื่อ 10 ถึง 20 ปีก่อน เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพมาจากยุโรป การศึกษาไม่สูงนัก ไม่ได้ต่างอะไรกับเกษตรกรในบ้านเราในยุคเดียวกัน ตราบใดที่ทัศนคติแบบเก่าๆ ยังคงอยู่ เมื่อใดเกษตรกรประสบกับปัญหา ก็จะรวมตัวกันเรียกร้องความช่วยเหลือจากรัฐบาล จนกลายเป็นแรงกดดันทางการเมืองทำให้รัฐบาลต้องยอมตามทุกครั้งไป

ที่น่าห่วงที่สุดคือ ทัศนคติแบบนี้จะทำร้ายเกษตรกรเองในระยะยาว เพราะเมื่อเชื่อว่ายังไงเสียรัฐก็จะเข้ามาอุ้ม ก็ไม่มีแรงจูงใจในการปรับตัว หากรัฐเอาแต่อุ้มเพียงฝ่ายเดียวไปนานๆ เข้า ทรัพยากรที่ควรใช้ไปในการพัฒนาประเทศย่อมลดลง ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนทั้งประเทศ

ความเป็นจริงก็คือ รัฐไม่จำเป็นต้องยืดอกรับปัญหาทุกอย่าง เช่น การแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ หัวใจสำคัญคือการรักษาระดับของรายได้หลังหักต้นทุนให้เท่าเดิมหรือมากขึ้น นั่นหมายความว่า แม้ราคาจะลดลง แต่ถ้าเกษตรกรสามารถลดต้นทุนลงได้ เงินได้สุทธิย่อมไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แทนที่จะปลูกพืชเชิงเดี่ยว ก็เปลี่ยนเป็นการปลูกพืชหลากหลาย เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง ซึ่งการที่รัฐบาลพยายามไม่เข้าไปอุ้มเกษตรกรที่ปลูกพืชเกษตรเชิงเดี่ยว ก็เป็นแรงเสริมทางอ้อมให้เกษตรกรอยากปรับตัวมากขึ้นด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้แล้ว รัฐบาลได้ส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงผ่านกลไกตลาด โดยเฉพาะการประกันภัยพืชผลและประกันวินาศภัย ซึ่งช่วยให้ภาระทางการคลังของรัฐบาลลดลงไปอย่างมาก

ผลจากการปรับโครงสร้างภาคเกษตรนี้ ช่วยให้เกษตรกรมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น แม้ว่าหนี้ต่อครัวเรือนเกษตรจะสูงขึ้น แต่รายได้หลังหักภาระนี้กลับสูงกว่าก่อนมีการปรับโครงสร้าง สะท้อนให้เห็นว่า การปรับโครงสร้างภาคเกษตรมีความเป็นไปได้ เป็นประโยชน์กับเกษตรกรอย่างแท้จริง

คำถามที่ควรถามรัฐบาลของเราในวันนี้จึงไม่ใช่ รัฐบาลกล้าพอที่จะทำหรือเปล่า แต่เป็นการถามว่า รัฐบาลหวังดีกับเกษตรมากพอที่จะช่วยพวกเขาให้มีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแท้จริงหรือไม่


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต



Tags : ภาคการเกษตร ออสเตรเลีย ปรับตัวได้อย่างไร

view