สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดข้อมูลใหม่เหตุไฟดับทั่วภาคใต้ อุบเงียบ3โรงไฟฟ้าหยุดผลิต-ยันไม่ผลักภาระค่าไฟ

จากประชาชาติธุรกิจ

เหตุการณ์ ไฟดับทั่วภาคใต้ 14 จังหวัด ซับซ้อนกว่าที่คิด หลังพบข้อมูลใหม่ โรงไฟฟ้า 3 แห่ง "กระบี่-รัชชประภา-บางลาง" หยุดเดินเครื่อง ส่งผลกำลังผลิตไฟฟ้าหายไปกว่า 415 MW ทั้ง ๆ ที่รู้ล่วงหน้าว่าจะต้องหยุดซ่อมสายส่งใหญ่ แต่ไม่มีแผนรองรับฉุกเฉิน กกพ.จับตาสอบ 3 กรณีเพื่อค้นหาใครจะรับผิดสอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นระหว่าง กฟผ.หรืออุบัติเหตุ ยันไม่ผลักภาระค่าไฟให้คนใต้

สืบเนื่องจากนายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ยืนยันว่า ขณะที่เกิดปัญหาไฟฟ้าดับทั่วภาคใต้โรงไฟฟ้าทุกโรงในภาคใต้เดินเครื่องครบ 1,692.2 เมกะวัตต์ (MW) แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนรัชชประภากำลังผลิต 216 MW, โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนบางลาง 50 MW, โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมจะนะชุดที่ 1 กำลังผลิต 710 MW, โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมขนอม 480 MW, โรงไฟฟ้าพลังความร้อนขนอมเครื่องที่ 2 กำลังผลิต 72 MW , โรงไฟฟ้าพลังความร้อนกระบี่ 315 MW และมีการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก SPP กำลังผลิต 20 MW

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานเปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กระทรวงได้รับข้อมูลที่แตกต่างไปจากคำแถลงของผู้ว่าการ กฟผ. โดยมีข้อมูลใหม่ระบุว่า โรงไฟฟ้าพลังความร้อนกระบี่กำลังผลิต 315 MW ไม่มีการเดินเครื่อง เพราะปิดซ่อมบำรุง ทั้ง ๆ กฟผ.มีแผนล่วงหน้าจะต้องซ่อมสายส่งขนาด 500 KV ในวันนั้นอยู่แล้ว เมื่อเกิดเหตุการณ์อุบัติเหตุฟ้าผ่าเสาไฟฟ้าต้นที่ 203 ส่งผลกับสายส่งไฟฟ้าอีกเส้นที่ใช้จ่ายกระแสไฟฟ้าตามปกติ ได้กระทบต่อปริมาณการผลิตกระแสไฟฟ้าในภาพรวมของภาคใต้ เพราะกำลังผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้ากระบี่จำนวน 315 MW หายไปจากระบบ ทำให้เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับเป็นวงกว้างกว่า 4 ชั่วโมง จนไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทัน

จากข้อมูลที่เข้ามาใหม่ ทางกระทรวงพลังงานได้มีการหารือเป็นการภายในถึงข้อบกพร่องของ กฟผ.ที่มีต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ถึง 3 ประการด้วยกัน คือ 1) กฟผ.ไม่มีแผนบริหารความเสี่ยงในภาวะวิกฤตหรือ Crisis Management Plan รองรับ หากมีกรณีฉุกเฉินเกิดขึ้นจากการหยุดซ่อมสายส่งครั้งนี้ 2) สงสัยว่า กฟผ.พยายามรักษาต้นทุนมากจนเกินไปหรือไม่ เพราะการเดินเครื่องจากโรงไฟฟ้ากระบี่ต้องใช้พลังงานน้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงอยู่ที่ 7 บาทต่อหน่วย แต่หาก กฟผ.ตัดสินใจไม่หยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้ากระบี่ในช่วงซ่อมแซมสายส่ง หรือเดินเครื่องเพียงร้อยละ 50 เพื่อหล่อเลี้ยงไฟฟ้าในระบบอยู่ อาจจะสามารถเดินระบบเพื่อแก้สถานการณ์ในวันที่เกิดเหตุการณ์ได้ และ 3) ไม่มีการประสานงานระหว่าง กฟผ. กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในกรณีที่ต้องตัดสินใจกรณีฉุกฉินเพื่อตัดโหลดไฟฟ้าให้ดับในบางพื้นที่เพื่อรักษาภาพรวมของภาคใต้เอาไว้

"หากว่าโรงไฟฟ้ากระบี่เดินเครื่องปกติ ผมเชื่อว่าจะทำให้ผ่อนหนักเป็นเบาได้ แม้ว่าจะมีเหตุการณ์สุดวิสัยเกิดขึ้นอย่างฟ้าผ่าสายส่งก็ตาม เหตุการณ์อาจจะไม่บานปลายจนทำให้ไฟฟ้าดับเป็นวงกว้างขนาดนี้ แม้ว่าทุกโรงไฟฟ้าจะตัดตัวเองอัตโนมัติก็ตามที แต่หากโรงไฟฟ้ากระบี่เดินเครื่องเหมือนโรงไฟฟ้าอื่น ๆ การสตาร์ตตัวเองเข้ามาช่วยระบบน่าจะช่วยให้ไฟฟ้ากลับเข้าระบบเร็วขึ้น และไม่ต้องซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียที่มีราคาสูงมากถึง 16-17 บาทต่อหน่วย อย่างที่เกิดขึ้นในวันนั้น"

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ทาง กกพ.เองก็ได้รับข้อมูลที่แตกต่างไปจากที่ กฟผ.บอกกับสาธารณชนที่ว่า ช่วงไฟฟ้าดับในภาคใต้ โรงไฟฟ้าทุกโรงเปิดดำเนินการ

ทั้งนี้ บทบาท กกพ. เป็นผู้ดูแลว่าใคร จะเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากการซื้อไฟจากมาเลเซียถึง 16 บาท/หน่วย จะถูกผลักมาให้ผู้บริโภคหรือไม่

จากการสอบถามเป็นการภายในไปยัง กฟผ.ยอมรับว่า โรงไฟฟ้ากระบี่ได้หยุดซ่อมบำรุงจริง และที่น่าตกใจก็คือยังมีโรงไฟฟ้าอีก 2 โรงที่หยุดซ่อมในช่วงที่ กฟผ.ซ่อมแซมสายส่งด้วย คือโรงไฟฟ้าเขื่อนรัชชประภา (3X72 MW) กับโรงไฟฟ้าเขื่อนบางลาง (2X25 MW) ด้วย โดยให้เหตุผลว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนไม่เพียงพอที่จะผลิตไฟฟ้า ทำให้มีกำลังผลิตหายไปจากระบบอีกประมาณ 100 MW ดังนั้น เมื่อรวมกับโรงไฟฟ้ากระบี่ กำลังผลิตที่หายไปในวันนั้นก็คือ 415 MW

จึงมีความเป็นไปได้ว่าประชาชนใน 14 จังหวัดภาคใต้จะต้องได้รับการ "ชดเชย" ค่าไฟฟ้าจาก กฟผ.แทนที่จะไปผลักภาระที่เกิดขึ้นให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าจากเหตุการณ์ไฟฟ้าดับในครั้งนี้

"กกพ.ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแล จะดำเนินการพิจารณาข้อมูลใหม่ให้ชัดเจนอีกครั้ง โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า กฟผ.มีความระมัดระวังรอบคอบและเตรียมแผนรับมือไว้หรือไม่ จากการปิดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าในครั้งนี้ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเกี่ยวกับความพร้อมของระบบสายส่งที่อ้างว่าถูกฟ้าผ่าจนทำให้เกิดปัญหานั้น ถือเป็นเหตุสุดวิสัยจริงหรือไม่ เพราะโดยปกติสายส่งไฟฟ้าควรจะต้องรองรับความเสี่ยงจากเหตุฟ้าผ่าได้ดีกว่านี้ รวมถึงการตัดสินใจซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซียหน่วยละ 16 บาททันทีนั้นเหมาะสมด้วยหรือไม่" กกพ.กล่าว

ล่าสุด นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ก็ออกมายืนยันว่า โรงไฟฟ้าพลังความร้อน จ.กระบี่ ได้มีการแจ้งปิดซ่อมบำรุงตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2556 โดยระบุว่าจะต้องมีการซ่อมบำรุงระบบดูดเขม่าควัน ทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าในช่วงวันที่ 21 พฤษภาคมหายไปจากระบบ ซึ่งหลังจากเกิดวิกฤต โรงไฟฟ้ากระบี่ได้กลับมาเปิดเครื่องทำงานจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบอีกครั้งในวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา

นายสมชาย สันติสถาวร ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าภาคใต้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า โรงไฟฟ้ากระบี่มีแผนในการดำเนินการหยุดซ่อมเนื่องจากมีอุปกรณ์ไฟฟ้าขัดข้อง ทำให้การเดินเครื่องและการจ่ายโหลดได้ไม่เต็มที่ดังนั้นทางโรงไฟฟ้ากระบี่ ได้หยุดเดินเครื่องตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2556 เป็นต้นมา และคาดว่าจะเดินขนานเครื่องเข้าสู่ระบบได้ภายในวันที่ 26 พฤษภาคมนี้ และจะทำให้กระแสไฟฟ้าจังหวัดในฝั่งทะเลอันดามันมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : เปิดข้อมูลใหม่ เหตุไฟดับ ทั่วภาคใต้ โรงไฟฟ้า หยุดผลิต ผลักภาระ ค่าไฟ

view