สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แต่งเป็น พญามังราย ต้องเคารพภูมิปัญญาล้านนา

จาก โพสต์ทูเดย์

แต่งเป็น"พญามังราย"ต้องเคารพภูมิปัญญาล้านนา

”มังรายศาสตร์” กฎหมายที่บัญญัติขึ้นโดยพญามังรายกษัตริย์ผู้ก่อตั้งอาณาจักรล้านนา ที่ให้ความสำคัญในการจัดการน้ำในระบบเหมืองฝาย

เกรียงไกร  แจ้งสว่าง เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มนำโขง-ล้านนา

“อนึ่งควรจัดไพร่ พลัดเปลี่ยนกันอยู่บ้านสร้างเหมืองฝายเรือกสวนไร่นา ให้ไพร่มีที่ทำนาหากิน อย่าให้ไพร่เป็นทุกข์ ให้ทำงานหลวง ๑๐ วันทำงานของตน ๑๐ วัน กำหนดเช่นนี้ถูกต้องตามโบราณธรรมฯ ผู้ใดไม่ได้สร้างเหมืองฝายแม้แต่สักน้อย หากไปขโมยน้ำท่าน ให้ตีหัวแตกแล้วจึงปล่อยไปหากไม่เช่นนั้นให้ปรับ๑๙๐ เงิน หากยังไปขโมยซ้ำอีกให้ฆ่าเสียที่นั้น”

เนื้อหาบางส่วนใน ”มังรายศาสตร์” กฎหมายที่บัญญัติขึ้นโดยพญามังรายกษัตริย์ผู้ก่อตั้งอาณาจักรล้านนา ที่ให้ความสำคัญในการจัดการน้ำในระบบเหมืองฝาย ภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมอันล้ำค่าที่สืบทอดมาถึงลูกหลานชาวล้านนาในยุค ปัจจุบัน พญามังรายทรงสถาปนาเมืองเชียงใหม่ขึ้นในปีพ.ศ. ๑๘๓๕

ระบบเหมืองฝาย  คือ วิธีการกักเก็บ แบ่งปันจัดสรรน้ำอย่างเท่าเทียมทั่วถึง โดยใช้หลักการด้านความเชื่อ ประเพณีท้องถิ่นชุมชนล้านนาเน้นการมีส่วนร่วมของทุกคน ตัวฝายทำจากไม้หรือก้อนหินเพื่อกั้นน้ำ เหมืองหรือร่องดินคลองส่งน้ำไปยังจุดต่างๆ มีแก่ฝายเป็นผู้นำสำคัญ มีความยุติธรรมและจิตอาสาโดยลูกฝายคัดเลือกกันเอง  ทำหน้าที่ในการดูแลแบ่งปันจัดสรรน้ำ หรือตัดสินว่าความกรณีมีปัญหาเรื่องการใช้น้ำ

ทุกปีจะมีการซ่อมแซมฝาย เตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ฤดูการทำนา เจ้าของนาทุกแปลงจะเตรียมไม้หรือหิน มากน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนพื้นที่นาของตนมาช่วยกันซ่อมแซมฝายหรือส่วนใหญ่ เรียกว่าการตีฝาย และพิธีกรรมการเลี้ยงผีฝาย สิ่งศักดิ์สิทธิที่ดูแลรักษาความอุดมสมบูรณ์ของน้ำในทุกๆปีร่วมกัน นำเครื่องเซ่นข้าวตอกดอกไม้ ธูป เทียน เหล้า ไก่ หมู วัวควาย หรือสุนัข ขึ้นอยู่กับความเชื่อแต่จะพื้นที่ ทำพิธีเลี้ยงผีฝาย มีการสร้างหิ้งผีลักษณะคล้ายหอเจ้าที่ขนาดเล็กอยู่ใกล้ฝาย ระบบเหมืองฝายสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมความสัมพันธ์ร่วมกันของชุมชน และสร้างแรงศรัทธาในการเคารพต่อธรรมชาติและสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ วิธีคิดการจัดการที่ต่างจากการจัดการน้ำของภาครัฐโดยสิ้นเชิง

สถานการณ์น้ำในประเทศไทยในปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงวิกฤติ ฤดูฝนเกิดปัญหาน้ำท่วมหลากอย่างรวดเร็ว ในฤดูแล้งเกิดปัญหาน้ำแห้งไม่พอใช้ และเกิดความขัดแย้งแย่งชิงน้ำกัน

ลักษณะพื้นที่ต้นน้ำทางภาคเหนือเป็นเทือกเขาสูงแหล่งกำเนิดต้นน้ำสาขา หลายสายถูกบุกรุกป่าขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ ทำให้ต้นน้ำมีน้ำน้อยและฤดูฝนน้ำไหลหลากเข้าท่วมอย่างรวดเร็ว ส่วนพื้นที่กลางน้ำทางภาคกลางมีลักษณะเป็นแอ่งรับน้ำ พื้นที่รับน้ำเช่น ห้วยหนองคลองบึง ถูกขุดลอกบ้าง ถมบ้าง แม่น้ำแคบและตื้นเขินจากสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำ ทำให้น้ำไหลระบายช้าทำให้พื้นที่รองรับน้ำในฤดูฝนหายไป จึงเอ่อท่วม ไร่นาบ้านเรือน ส่วนตอนปลายน้ำ ก่อนไหลลงทะเล ได้มีการสร้างสิ่งกีดขวางทางน้ำ เปลี่ยนทางน้ำไหล ทำให้น้ำระบายลงทะเลได้ยากจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมครั้ง ใหญ่ประเทศไทยในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่ผ่านมา

ถึงแม้หลายหน่วยงานจะพยายามเข้ามาจัดการน้ำ เช่น โครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ การขุดลอกลำน้ำ ทำเขื่อนกั้นน้ำ คลองส่งน้ำ โครงการพัฒนาที่ผ่านมาขาดการมีส่วนร่วมในการคิด วางแผน ตัดสินใจ การมององค์รวมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ได้สร้างผลกระทบต่อชุมชน  ทั้งที่ทางชุมชนทักท้วงหรือแนะนำทางเลือกที่เหมาะสมกว่า เช่น การขุดลอกลำห้วยต้นน้ำที่ส่งผลให้กระแสน้ำไหลเร็วขึ้น เกาะแก่งที่เป็นฝายชะลอน้ำตามธรรมชาติหายไป

“ถ้าจะขุดลอกแม่น้ำ อย่าเปลี่ยนเส้นทางเดินของแม่น้ำใหม่  ไม่ดีฉิบหาย ขึดมากแลแม่น้ำคดไปคดมา ขุดลอกเสียให้ตรงก็ขึดมากนักแลสระหนองที่มีมาแต่เดิม ขุดร่องน้ำทำให้แห้ง แล้วสร้างบ้านเรือนจะฉิบหาย ถมห้วย ถมร่องน้ำ ถม วัง บึง ถมคูน้ำ ถมบ่อน้ำไม่ดีถมบก ถมหนอง แป๋งนาก็ขึด”

ความเชื่อเรื่อง “ขึด”  เป็นกฎข้อหามทางความเชื่อของชาวล้านนา หากมีการทัก”ขึด” จะหยุดกระทำสิ่งนั้นทันที ผู้ใดละเมิดจะเกิดอาถรรพ์ อัปมงคล เสนียดจัญไร หรือเกิดความเสียหายต่อตนเอง ครอบครัวชุมชนหรือบ้านเมือง เกรงกลัวต่อสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ เป็นกุศโลบายภูมิปัญญาทางความเชื่อหนึ่งของท้องถิ่นที่คอยบังคับให้ผู้คนไม่ กล้าละเมิด การจะกระทำการใดต่อแม่น้ำจึงคิดวิเคราะห์อย่างรอบด้านก่อนตัดสินใจทำ เพื่อป้องกันการเกิด”ขึด”ขึ้น ปัญหาน้ำท่วมปีพ.ศ.๒๕๕๑ และวิกฤติต่างๆที่เกิดขึ้นในประเทศไทย คนล้านนาเชื่อว่าเกิดจาก”ขึด” ของการกระทำต่อแม่น้ำ ที่ส่งสัญญาณเตือนคนไทยมาครั้งหนึ่งแล้ว

 

โครงการจัดการน้ำของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.) มีอำนาจหน้าที่ในจัดทำแผนปฏิบัติการ การบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย กำหนดวิธีดำเนินการของหน่วยงานของรัฐให้เหมาะสมและสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการ เกิดประโยชน์ในการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงอนุมัติแผนงานหรือโครงการของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนให้ความเห็นชอบสนับสนุนวงเงินรายจ่าย กำลังคน วัสดุ อุปกรณ์และทรัพยากรอื่น เพื่อดำเนินการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย  ภายใต้งบประมาณโครงการ ๓.๕ แสนล้านบาท แบ่งรูปแบบ(โมดูล)ออก ๙ รูปแบบในการแก้ไขปัญหาน้ำทั้งระบบ ประกอบด้วย

๑ การสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรัง และ ป่าสัก จำนวน ๕ หมื่นล้านบาท

๒ การจัดทำผังการใช้ที่ดิน/การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมชุมชนและเศรษฐกิจหลัก สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำนวน ๒.๖ หมื่นล้านบาท

๓ การปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทานในพื้นที่โครงการชลประทานเหนือ จ.นครสวรรค์ เพื่อเก็บกักน้ำหลากชั่วคราว จำนวน ๑ หมื่นล้านบาท

๔ การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลัก และการป้องกันการกัดเซาะตลิ่งริมแม่น้ำในพื้นที่แม่น้ำยม น่าน และเจ้าพระยา จำนวน ๑.๗ หมื่นล้านบาท

๕ การจัดทำทางผันน้ำ (Flood Diversion Channel) ขนาดประมาณ ๑,๕๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที รวมทั้งการก่อสร้างถนนเพื่อรองรับคมนาคม จำนวน ๑.๕๓ แสนล้านบาท

๖ ระบบคลังข้อมูลเพื่อการพยากรณ์และเตือนภัย รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำ ๔,๐๐๐ ล้านบาท

๗ การสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืนในพื้นที่ ๑๗ ลุ่มน้ำ จำนวน ๑.๒ หมื่นล้านบาท

๘ การจัดทำผังการใช้ที่ดิน/การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมชุมชนและเศรษฐกิจหลัก สำหรับพื้นที่ ๑๗ ลุ่มน้ำ จำนวน ๑.๔ หมื่นล้านบาท

๙ การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลัก และการป้องกันการกัดเซาะตลิ่งริมแม่น้ำในพื้นที่ ๑๗ ลุ่มน้ำ จำนวน ๕,๐๐๐ ล้านบาท

แต่กระบวนการของกบอ. ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนทั้งในด้านการคิด การออกแบบ การแสดงความคิดเห็น รวมถึงการให้ความสำคัญกับบริษัทเอกชนต่างประเทศเข้ามาจัดการและออกแบบ ละเลยองค์ความรู้ท้องถิ่นของแต่ละพื้นที่ในประเทศไทย อีกทั้งการกีดกันภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมออกมาแสดงความคิดเห็น งบประมาณประเทศมากถึง ๓.๕ แสนล้านบาทควรใส่ใจในรายละเอียดและข้อเสนอของภาคประชาชนที่เป็นห่วงประเทศ ไทย และกลัว”ขึด”เกิดขึ้นซ้ำอีก การจัดการน้ำควรใส่ใจเรื่องรายละเอียดปลีกย่อย มองมิติด้านสังคมและวัฒนธรรมเข้าไปประกอบการตัดสินใจ

ในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ที่จะถึงนี้ ตัวแทนผู้รู้ปราชญ์ท้องถิ่นแต่ละลุ่มน้ำในพื้นที่๘ จังหวัดในภาคเหนือและภาคอีสาน รวมทั้งเครือข่ายภาคประชาสังคม ได้จัดเวทีภาคประชาชนขึ้นเพื่อนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงจากรากหญ้าซึ่งเป็น สิ่งที่ถูกละเลยโดยตลอด โดยเฉพาะประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นต้นทุนที่ถูกลืมจากการจัดการน้ำโดยรัฐและเอกชน ในเวทีคู่ขนาดภาคประชาชน “การจัดการน้ำ: ผู้นำต้องฟังเสียงจากรากหญ้า” เวลา ๙.๓๐ – ๑๑.๐๐ น. ณ ร้านหนังสือ Book Republic ถ.คลองชลประทาน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เนื้อหาการเสวนา เน้นการนำองค์ความรู้ท้องถิ่น ภูมิปัญญาชาว การจัดการน้ำแบบระบบเหมืองฝาย และข้อเสนอกิจกรรมการจัดการน้ำที่ไม่เป็น”ขึด”ต่อบ้านต่อเมือง

การขับเคลื่อนครั้งนี้ไม่ได้เป็นการประท้วงหรือล้มงานประชุมผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกตามที่ทางการกุข่าวแต่อย่างใด

การแต่งองค์ทรงเครื่องแสดงละครเป็นพญามังราย แต่กลับไม่เรียนรู้ภูมิปัญญาและศาสตร์ที่พระองค์ทรงริเริ่มไว้นักฉกฉวยโอกาส ทั้งหลาย ระวัง “ขึด” นะครับ


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : พญามังราย ต้องเคารพ ภูมิปัญญาล้านนา

view