สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

Carbon Footprint

Carbon Footprint

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




Apple, Inc. รายงานว่า iPad หนึ่งเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นรุ่น 3G หรือ WiFi จะก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนทั้งสิ้น 130 กิโลกรัม

ตลอดอายุการใช้งาน (สมมติฐาน คือ 3 ปี) โดยแบ่งออกเป็น คาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต 58% กระบวนการขนส่ง 10% ช่วงที่ใช้งานโดยผู้ใช้ 30% และในขั้นตอนของการรีไซเคิลอีก 1%

ถ้าหากเราจะลองเปรียบเทียบตัวเลขนี้ กับ Carbon Footprint ของหนังสือพิมพ์ Daily Mail ของอังกฤษ ซึ่งเป็นกระดาษรีไซเคิล พบว่าผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาประมาณ 0.5 กิโลกรัมต่อฉบับตลอดวงจรชีวิต

เท่ากับว่า ถ้าใครอ่านหนังสือพิมพ์รายวันโดยใช้ iPad เป็นเวลาติดต่อกันเกิน 260 วัน แทนการซื้อหนังสือพิมพ์กระดาษมาอ่าน ก็จะช่วยลดปริมาณคาร์บอนได้แล้ว แน่นอนว่า 260 วัน เป็นระยะเวลาที่สั้นกว่าอายุใช้งานของ iPad หนึ่งเครื่อง ซึ่งอยู่ที่สามปี จึงค่อนข้างสบายใจอยู่เหมือนกันที่จะสรุปว่า การใช้แท็บเล็ตในชีวิตประจำวันนั้น สามารถช่วยลดโลกร้อนได้ เพราะยังไม่นับการใช้ iPad เพื่อทำกิจกรรมอย่างอื่นนอกเหนือจากการอ่านหนังสือพิมพ์รายวัน ที่ผลิตคาร์บอนออกมาน้อยกว่าการทำกิจกรรมนั้นๆ ด้วยทางเลือกอย่างอื่น ซึ่งคนที่ซื้อแท็บเล็ตสักเครื่องหนึ่งมาใช้ ก็น่าจะใช้มันทำอย่างอื่นได้อีกหลายอย่างทีเดียว

หรือถ้าจะลองเปรียบเทียบกับการอ่านหนังสือเล่มดูบ้าง ตัวเลขของอุตสาหกรรมหนังสือในสหรัฐฯ ระบุว่า หนังสือหนึ่งเล่มผลิตคาร์บอนราว 4.01 กิโลกรัมโดยเฉลี่ย อย่างไรก็ตาม มีบางแหล่งข้อมูลระบุว่า อาจจะสูงถึง 7.5 กิโลกรัม เอาเป็นว่า เราลองใช้ตัวเลขที่น้อยกว่าก็แล้วกัน พบว่า การใช้งาน iPad ตลอดอายุการใช้งานจะผลิตคาร์บอนเท่ากับการอ่านหนังสือราว 32 เล่ม

ตัวเลขการอ่านหนังสือในสหรัฐฯ ระบุว่า คนอเมริกันอ่านหนังสือโดยเฉลี่ยปีละ 3-10 เล่ม (ข้อมูลหลายแหล่งไม่ตรงกันนักจึงได้ตัวเลขที่เป็นช่วงประมาณที่ค่อนข้างกว้าง) แต่เอาเป็นว่า ค่าเฉลี่ยคือ 6.5 เล่ม ต่อคน ต่อปี ก็แล้วกัน ถ้านับรวมการอ่านหนังสือพิมพ์รายวันด้วยแล้ว เฉพาะการใช้ไอแพดเพื่อการอ่านอย่างเดียว เพียงแค่ 7 เดือนครึ่ง ก็จะช่วยลดปริมาณคาร์บอนได้แล้ว (แต่ถ้าปกติอ่านกันคนละแค่ 8 บรรทัดต่อปี คงต้องใช้เวลานานกว่านี้นะครับ)

เรื่องของการคิดคำนวณปริมาณการผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ของกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน หรือที่เรียกว่า Carbon Footprint นั้น เป็นอะไรที่น่าสนใจทีเดียว เพราะเป็นการตรวจสอบเพื่อให้เราแน่ใจว่าก่อนจะรณรงค์เพื่อทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมนั้น มันเกิดประโยชน์ต่อโลกจริงๆ หรือเปล่า การคำนวณ Carbon Footprint นั้นจำเป็นต้องคำนวณให้ละเอียดและครบถ้วนตลอดอายุการใช้งานด้วย

เรื่องหนึ่งที่ผมมักสงสัยอยู่เสมอคือ ที่จริงแล้ว การกินน้ำด้วยแก้วกระดาษรีไซเคิล กับการใช้แก้วเซรามิกที่ใช้ซ้ำได้หลายครั้งแต่ต้องล้างด้วยผงซักฟอกนั้น อะไร "รักษ์โลก" มากกว่ากันแน่?

แก้วกระดาษแบบที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งซึ่งเรานิยมใช้ดื่มน้ำจากแทงก์น้ำในออฟฟิศนั้น ในกระบวนการฝังกลบในดินเพื่อรอให้เกิดการย่อยสลายนั้น จะต้องมีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนออกมาด้วย และเราจะต้องนำส่วนนี้มาคิดคำนวณให้ครบถ้วนด้วย

ในทางตรงกันข้าม ถ้าใช้แก้วเซรามิกดื่มน้ำ แม้ว่าจะไม่ก่อให้เกิดขยะทุกครั้งที่เราดื่ม แต่ในกระบวนการผลิตแก้วเซรามิกต้องใช้ความร้อนสูง ก็จะผลิตคาร์บอนออกมาเหมือนกัน มิหนำซ้ำในการล้างแก้วทุกครั้งเพื่อกลับมาใช้อีก ก็มีคาร์บอนเกิดขึ้นจากการใช้ผงซักฟอกและน้ำด้วย ขั้นตอนเหล่านี้ก็ต้องคำนวณให้ครบถ้วน

Carbon-Clear.com ได้ทำการคำนวณออกมาแล้ว โดยนับ Carbon Footprint ทั้งหมดของการใช้แก้วเซรามิกดื่มน้ำเทียบกับการใช้แก้วกระดาษแบบใช้แล้วทิ้งพบว่า ถ้าใช้แก้วเซรามิกหนึ่งใบดื่มน้ำอย่างน้อย 31 ครั้งก่อนที่จะเลิกใช้มัน (เพราะบังเอิญทำแตก หรือเลิกใช้ไปเฉยๆ ฯลฯ) ก็จะช่วยลดโลกร้อนได้มากกว่าการใช้แก้วกระดาษแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง 31 ใบเช่นกัน

สรุปว่า การใช้แก้วเซรามิกใช้ซ้ำยังชนะแก้วกระดาษไปแบบขาดลอย เพราะแก้วเซรามิกหนึ่งใบที่เราใช้ๆ กันอยู่ น่าจะใช้ซ้ำกันเกิน 31 หนเป็นส่วนใหญ่

เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า การใช้แก้วกระดาษ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นวัสดุธรรมชาตินั้น ที่จริงแล้วมีการปลดปล่อยคาร์บอนออกมาไม่น้อยในกระบวนการฝังกลบเพื่อรอการย่อยสลาย ดังนั้น ที่จริงแล้วการใช้วัสดุย่อยสลายไม่ได้เลย แต่สามารถรีไซเคิลได้ เช่น พลาสติกรีไซเคิลบางอย่าง และในทางปฏิบัติการมีการรีไซเคิลกลับใช้จริง อาจต่อสิ่งแวดล้อมมากว่าวัสดุธรรมชาติก็ได้

น่าเสียดายที่ผมหาตัวเลข Carbon Footprint ของการใช้แก้วพลาสติกที่บ้านเรานิยมใช้ใส่กาแฟเย็นไม่ได้ อยากรู้เหมือนกันว่าควรดื่มกาแฟด้วยแก้วแบบไหนถึงจะดีต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : Carbon Footprint

view