สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ลำไย...หวานการแพทย์

ลำไย...หวานการแพทย์

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




พืชเศรษฐกิจทางภาคเหนือกำลังสดใสในตลาดจีน แต่ยังมีอุปสรรคก้อนโตสำหรับลำไย “ตกเกรด” นักวิจัยจึงเสนอช่องทางไฉไล โชว์ศักยภาพ “ผลไม้การแพทย์”

พืชเศรษฐกิจทางภาคเหนือกำลังสดใสในตลาดจีน แต่ยังมีอุปสรรคก้อนโตสำหรับลำไย “ตกเกรด” นักวิจัยจึงเสนอช่องทางไฉไล โชว์ศักยภาพ “ผลไม้การแพทย์” ผลิตเป็นน้ำตาลแอนตี้ออกซิแด้นท์ และพรีไบโอติกส์

แม้สัญญาณการค้าลำไยจะดีขึ้น เมื่อจีนนำเข้าผลไม้ชนิดนี้ไม่อั้น มีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 13,500 ล้านบาท แต่ปัญหาที่เกษตรกรผู้ปลูกลำไยยังต้องประสบมาตลอด คือผลผลิตไซส์เล็ก (เกรดบีและซี) ล้นตลาด ทำให้ราคาตกต่ำ

ทางแก้ของเกษตรกร บ้างขายลำไยร่วง เพราะง่ายและต้นทุนการจัดการต่ำ บางคนก็นำมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า อย่างลำไยกระป๋อง ลำไยอบแห้ง หรือลำไยแช่แข็ง แต่ปัจจุบันนักวิจัยไทยนำเสนอทางเลือกใหม่ที่สร้างคุณค่าทางความคิดมากกว่าเดิม

ผลิตน้ำตาล ต้านอนุมูลอิสระ

โครงการวิจัยการทดสอบเทคโนโลยีการผลิตน้ำตาลลำไย และคุณสมบัติเชิงคุณภาพ สุขภาพและศักยภาพเชิงพาณิชย์ ส่งข่าวดีให้เกษตรกรผู้ปลูกลำไยได้เฮ กับผลวิจัย “ผลึกน้ำตาลลำไยสำเร็จรูป”

“งานวิจัยชิ้นนี้ทำขึ้นเพื่อแก้ปัญหาของเกษตรกรโดยเฉพาะ เราพบว่าปริมาณผลผลิตลำไยทั้งปีอยู่ที่ 5-9 แสนตัน แต่ 30% เป็นเกรดบีและซี ที่ขายได้ราคาต่ำมากเพียง 6-7 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งศักยภาพของลำไยมีมากกว่ากินสด เพราะความหวานนั้นอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งสารก่อมะเร็งได้”

อาจารย์นพพล เล็กสวัสดิ์ สาขาวิชาเทคโนโลยีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยต่อว่า ได้คิดค้นผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ชุดระเหยสุญญากาศและเครื่องหมุนเหวี่ยงแยกผลึกน้ำตาล ซึ่งสามารถผลิตน้ำตาลจากลำไยได้

กระบวนการทำงานนั้นจะใช้ลำไยสดร่วงเป็นวัตถุดิบ กับสารล่อผลึก (น้ำตาลซูโครส) ร้อยละ 10 ต่อน้ำหนัก ก่อนนำไปอบสุญญากาศที่อุณหภูมิ 60 องศาเซสเซียส จากนั้นก็จะได้ผลึกน้ำตาลลักษณะเม็ดเล็ก มีสี กลิ่น รสหวานของลำไยแบบธรรมชาติออกมาให้เชยชม

อาจารย์นักวิจัย เล่าต่อว่าหลังจากได้ผลผลิตแล้ว ยังต้องนำไปทดสอบจนเป็นที่พอใจทั้งในเชิงคุณภาพ สุขภาพ ความเป็นพิษและที่สำคัญสามารถผลิตได้ในเชิงพาณิชย์ หลังจากนำไปทดสอบทางการตลาดกับผู้บริโภคกลุ่มตัวอย่างทางภาคเหนือและภาคกลางกว่า 2,000 คน เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ต่อไป

“เราต้องหลีกเลี่ยงคำว่าน้ำตาล เป็น สารสกัดจากลำไย เพื่อให้คนที่ไม่สามารถบริโภคหวานได้มีทางเลือก ขณะเดียวกันงานวิจัยนี้เป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าตกเกรด เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะขายผลผลิตได้ราคาสูงขึ้น”

แต่สิ่งที่ยังเป็นอุปสรรคอยู่ อาจารย์นพพล กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นทดลองตลาด ยังเป็นโรงงานขนาดเล็กที่มีกำลังผลิตไม่เกิน 45 ตัน จึงหวังจะถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ให้กับเอกชนผู้ผลิตน้ำตาลที่มีความสนใจ

“จากการสนับสนุนของสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือสวก. ทำให้เราสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ ต่อยอดทิศทางการตลาดและช่องทางการจัดจำหน่ายได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับหลากคณะทั้งแพทย์ เภสัช บริหาร เศรษฐศาสตร์ ทำให้นักวิจัยมีหลายองค์ความรู้นำมาสานต่อความคิดสร้างนวัตกรรมให้สมบูรณ์ขึ้น”

อาหารแบคทีเรียในใส้

ในเมื่อลำไยเป็นผลไม้ที่มีรสหวานและมีปริมาณน้ำตาลสูง นักวิจัยจากโครงการวิจัยการพัฒนาการผลิตฟรุกโตโอลิโกแซ็กคาไรด์ผงจากจากน้ำเชื่อมลำไยด้วยวิธีทางเอนไซม์ จึงสร้างสรรค์ใหม่ เป็นผลิตภัณฑ์พรีไบโอติกส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในอาหารที่ดีของแบคทีเรียในลำไส้ สามารถนำไปต่อยอดเป็นส่วนผสมในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มหลายชนิด หรือใช้ชงเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ

ผศ.ยุทธนา พิมลศิริผล รองคณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ประโยชน์ที่ให้กับเกษตรกรนั้นสามารถเพิ่มมูลค่าลำไยได้สูงถึง 6-50 เท่า สามารถแก้ปัญหาให้กับลำไยตกเกรด ได้มีทางเลือกจัดจำหน่ายมากขึ้น ในขณะเดียวกันสำหรับผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มก็ได้ใช้คุณค่าจากงานวิจัยชิ้นนี้ เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตเพียง 2,000-2,500 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งถูกกว่าสารพรีไบโอติกส์นำเข้าถึง 3 เท่า

“ปัจจุบันผู้คนหันมาสนใจเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น เราอยากสื่อสารกับผู้บริโภคว่าผลวิจัยที่ได้จากลำไยสามารถเป็นอาหารเสริมสุขภาพ และสามารถพัฒนาในรูปแบบอื่นๆ เช่น เยลลี่ ทั้งยังเป็นการเปิดทางให้ผลไม้พื้นเมืองหลายชนิดเข้าสู่งานทดลองวิจัย เพื่อสร้างสินค้าตัวใหม่ๆ ให้กับตลาด” นักวิจัยกล่าว

ในอนาคตอันใกล้ ความหวานจากลำไยจะเข้ามาอยู่ในครัวไทยและครัวโลก


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ลำไย หวานการแพทย์

view