จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
การออกแบบเพื่อสังคมผู้สูงอายุ โจทย์ใหม่ท้าทายความสามารถสถาปนิก ด้วยเงื่อนไขที่แตกต่างจากที่อยู่อาศัยหรืออาคารทั่วไป
จุฑารัตน์ ทิพย์นำภา รายงาน
การออกแบบเพื่อสังคมผู้สูงอายุ โจทย์ใหม่ท้าทายความสามารถสถาปนิก ด้วยเงื่อนไขที่แตกต่างจากที่อยู่อาศัยหรืออาคารทั่วไป เช่นเดียวกับทุกรายละเอียดปลีกย่อยภายใน "โรงพยาบาลบางขุนเทียน" ที่กระบวนการสร้างและออกแบบทุกตารางนิ้วคิดมาเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะ
โรงพยาบาลบางขุนเทียน ประกาศตัวชัดเจนที่จะเป็นโรงพยาบาลเพื่อผู้สูงอายุแห่งแรกในประเทศไทย ฉะนั้น ผู้ที่เข้ามาใช้บริการคือผู้สูงอายุ ซึ่งมีข้อจำกัดในเรื่องการเดิน การมองและการได้ยิน ดังนั้น สิ่งปลูกสร้างแห่งนี้จึงพิเศษและแตกต่างจากจากสถานพยาบาลทั่วไป ซึ่งสร้างขึ้นโดยยึดตามมาตรฐานว่า ผู้ที่ใช้อาคารมีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง ไม่มีความเสื่อมถอยของร่างกาย
เติมเต็มจุดบอด
"หลักการออกแบบสิ่งแวดล้อมเพื่อผู้สูงอายุ จึงต้องระวังเรื่องการรับรู้และการสับสน การมองเห็น ทั้งยังอ่อนไหวกับแสงจ้า ฉะนั้น การตกแต่งภายในควรเลือกใช้โทนสีในช่วงอบอุ่น (Warm range) ด้วยสีเหลือง สีแดงและสีส้ม" เบญจมาศ กุฏอินทร์ ภาควิชาสถาปัตยกรรมภายใน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าว
เมื่ออายุมากขึ้น ความอ่อนไหวต่อการได้ยินเสียงก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น นักออกแบบควรใส่ใจกับองค์ประกอบในการควบคุมเสียง อุปกรณ์ควบคุม เครื่องอำนวยความสะดวกภายในห้องพัก ควรมีขนาดเหมาะสม ควบคุมได้ง่าย และมีตัวอักษรกำกับที่ชัดเจน
เช่นเดียวกับ การจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อความเสื่อมถอยของร่างกาย การรับรู้ข้อมูล สายตา การได้ยิน การทรงตัว พละกำลัง สัมผัส การใช้ขาแขนมือเท้า การลุกนั่ง การเดิน เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ โดยเลือกใช้วัสดุที่ไม่สะท้อนแสง ติดไฟให้สว่างหรือการเลือกใช้สี เป็นแนวทางที่นักออกแบบต้องคำนึงถึง เพราะการจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะกับสภาพร่างกาย เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยมากขึ้น
ความพิเศษของโรงพยาบาลเพื่อผู้สูงวัย ยังรวมไปถึงเส้นทางสัญจรทุกจุดที่ออกแบบให้เชื่อมถึงกันด้วยระยะทางที่เหมาะสม และมีลักษณะเป็นเส้นตรง มีแสงสว่างเพียงพอ และมีป้ายสัญลักษณ์บอกทางอย่างชัดเจน กรณีจุดหักมุมหรือส่วนที่เป็นสี่แยกต้องติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มเติม
"การออกแบบยังคำนึงถึงถึงระยะทางเดินที่พอเหมาะ ความกว้างของทางเดินรองรับผู้อายุที่ใช้ไม้เท้า ใช้รถเข็น” ไตรรัตน์ วิรยศิริ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ร่วมออกแบบ กล่าวและว่า การออกแบบอาคารควรจำกัดทางเข้าสู่ตัวอาคารให้น้อยที่สุด หากเป็นไปควรมีทางเข้า 2 ทาง คือ ทางเข้าหลักและทางเข้าแผนกฉุกเฉิน อีกทั้งควรมีแผนกรักษาความปลอดภัยอยู่ติดกันเสมอ
กรีน...ขอมีส่วนร่วม
โรงพยาบาลบางขุนเทียน และศูนย์ความเป็นเลิศด้านสูงอายุ ที่ออกแบบแล้วเสร็จและอยู่ระหว่างการก่อสร้างนั้น ได้แบ่งโซนพื้นที่ของแต่ละสัดส่วนออกจากกัน แต่สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้สะดวก เช่น แผนกผู้ป่วยนอก แผนกผู้ป่วยในและแผนกฉุกเฉิน
ไตรรัตน์ มองว่า การออกแบบภูมิทัศน์ภายนอกอาคารเป็นการช่วยทางด้านจิตใจของผู้ป่วย (healing landscape) ให้ได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ แต่ต้องไม่ลืมสิ่งอำนวยความสะดวกตามข้อจำกัดทางร่างกาย เช่น ที่นั่งหยุดพัก ทางเดินกันแดดฝน ราวเกาะตามทางเดินและขั้นบันได ทางลาดแทนขั้นบันได วัสดุปูพื้นที่ไม่ลื่น ทางเดินกว้างเพียงพอสำหรับรถเข็น
นอกจากนี้ เขายังได้ให้ความสำคัญกับการลดใช้พลังงาน เนื่องจาก 1 ใน 3 ของปริมาณการใช้พลังงานรวมทั้งประเทศ เกิดขึ้นจากการใช้อาคาร
"ประมาณการค่าไฟฟ้าของอาคารโรงพยาบาลทั่วไปอยู่ที่ 1,500 บาทต่อตารางเมตรต่อปี อาคารประหยัดพลังงานสามารถช่วยประหยัดค่าไฟได้ 20-30% ด้วยค่าก่อสร้างเพิ่ม 10% คืนทุนภายใน 7 ปี" เขาให้ข้อมูล และว่า การวางผังอาคารโดยพื้นที่เปิดโล่งสีเขียว การวางทิศทางอาคารหลบแดด รับลม เปลือกอาคาร เลือกใช้วัสดุกันความร้อน ประหยัดน้ำ ประหยัดทรัพยากร คือ ระบบอาคารประสิทธิภาพสูง ตามแนวคิด Green Building Standards ที่หลายหน่วยงานเริ่มให้ความสำคัญ
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต