เขื่อนป่าสักฯเร่งพร่องน้ำรับพายุหวู่ติ๊บ
จาก โพสต์ทูเดย์
กรมชลฯเผยเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เร่งพร่องน้ำรับพายุหวู่ติ๊บเตือนประชาชนขนของขึ้นที่สูง
ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในแม่น้ำป่าสัก(30 ก.ย. 56) ว่า ด้วยยังคงมีฝนตกบริเวณเหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จากอิทธิพลร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เป็นเหตุให้มีปริมาณน้ำท่าไหลลงอ่างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์อย่างต่อเนื่อง นั้น
ปัจจุบัน ณ วันที่ 30 กันยายน 2556 เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำ 839 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 107 ของความจุเก็บกัก(785 ล้านลูกบาศก์เมตร) แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังพายุโซนร้อน "หวู่ติ๊บ (Wutip)" บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนที่กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ที่คาดว่าจะเข้าฝั่งเวียดนามตอนบนในวันพรุ่งนี้(1 ต.ค.) ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา
ด้วยเหตุดังกล่าว กรมชลประทาน จำเป็นต้องเพิ่มการพร่องน้ำจากเขื่อนป่าสักเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ให้เกิดผลกระทบด้านท้ายน้ำในทันทีทันใด ในเกณฑ์ประมาณ 350 – 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งปัจจุบันได้พร่องน้ำอยู่ในเกณฑ์ 350 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และจะควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านเขื่อนพระรามหก ในเกณฑ์ประมาณ 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลักษณะดังกล่าว จะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสัก ด้านท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพิ่มขึ้นจากวันที่ 29 ก.ย. อีกประมาณ 65 เซนติเมตร ในท้องที่จังหวัดสระบุรี ส่วนด้านท้ายเขื่อนพระรามหก ในเขตอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นประมาณ 0.90 – 1.10 เมตร จากระดับน้ำปัจจุบัน
ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำหลากเนื่องจากอิทธิพลดังกล่าว ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน โดยสำนักชลประทานที่ 10 จึงได้แจ้งเตือนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเขตจังหวัดสระบุรี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งเตือน ประชาชน ที่อาศัยอยู่พื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำ ขนย้ายสิ่งของมีค่าขึ้นบนที่สูงหรือที่ปลอดภัยจากระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักที่ จะเพิ่มสูงขึ้นในระยะต่อจากนี้ และขอให้เฝ้าระวังติดตามสถานการน้ำอย่างใกล้ชิดต่อไปแล้ว
น้ำป่าสักทะลักท่วม2ชุมชนเพชรบูรณ์
จาก โพสต์ทูเดย์
แม่น้ำป่าสักทะลักท่วม 2 ชุมชนเมืองเพชรบูรณ์ เร่งเสริมกระสอบทรายสกัดน้ำจมพื้นที่เศรษฐกิจชั้นใน
เมื่อวันที่ 30 ก.ย.แม่น้ำป่าสักในเขตอ.เมืองเพชรบูรณ์ ซึ่งได้รับน้ำป่าที่ไหลหลากมาจากเทือกเขาท่าพลได้ไหลเข้าหนุน ส่งผลให้แม่น้ำป่าสักที่ไหลผ่านเขตเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ เกิดการเอ่อทะลักออกจากตลิ่งและเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรที่อาศัยอยู่บริเวณ ริมแม่น้ำใน 2 ชุมชนได้แก่ ชุมชน 8 และชุมชน 9 ตั้งแต่ช่วงดึกของคืนที่ผ่านมา ต่อมาทางเทศบาลได้ระดมเจ้าหน้าที่นำกระสอบบรรจุทรายวางเป็นแนวสกัดกั้นกระแส น้ำบนถนนเพชรรัตน์เป็นระยะทางราว 200 เมตร เพื่อป้องกันกระแสน้ำไม่ให้ไหลผ่านข้ามไปยังพื้นที่ชุมชนชั้นใน ในขณะที่ราษฎรซึ่งมีที่พักอยู่ติดริมตลิ่งแม่น้ำป่าสักและถูกน้ำท่วมแสดง ความไม่พอใจ
นายสุรชัย พวงมณี ชาวชุมชน 8 กล่าวว่า หากระดับน้ำสูงกว่านี้คงต้องรื้อแนวกระสอบทรายออก เพื่อระบายน้ำไปยังจุดอื่นซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ระดับน้ำที่ท่วมลดระดับลงบ้าง แต่ระดับน้ำที่เข้าท่วมบ้านพักในขณะนี้ยังพอรับได้อยู่
ด้านนายเสกสรร นิยมเพ็ง นายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันยังควบคุมสถานการณ์ได้อยู่ ล่าสุดได้จัดเตรียมถุงกระสอบทรายไว้จำนวน 10,000 ลูก เพื่อเสริมแนวกระสอบทรายสกัดกั้นไม่ให้กระแสน้ำจากแม่น้ำป่าสักไหลทะลักเข้า สู่พื้นที่เศรษฐกิจชั้นใน ซึ่งขณะนี้การจัดงานประเพณีอุ้มพระดำน้ำกำลังจะเริ่มขึ้น ฉะนั้นหากแม่น้ำป่าสักไม่มีน้ำจากพื้นที่ตอนบนไหลเติมหนุนเข้ามาอีก เชื่อว่าในเย็นวันนี้ระดับน้ำคงลดลง
ชาวสำโรงทาบยังอ่วมเดือดร้อนหนัก
จาก โพสต์ทูเดย์
ชาวสำโรงทาบยังอ่วมน้ำท่วมจมนานนับสัปดาห์เดือดร้อนหนักถนนถูกตัดขาดจากโลกภายนอก
เมื่อวันที่ 30 ก.ย. สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จ.สุรินทร์ได้เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น หลายพื้นที่กลับสู่ภาวะปกติ ยกเว้นหลายหมู่บ้านต.เกาะแก้ว ต.กระออม อ.สำโรงทาบ ซึ่งเป็นแหล่งรับน้ำ จากพื้นที่ต่างๆของจ.สุรินทร์ ก่อนจะไหลลงไปสู่ลำห้วยทับทัน พบว่ายังถูกน้ำท่วมขัง ทางเข้าหมูบ้านระดับสูง 30-50 ซม.บางหมู่บ้านถนนเป็นดินเหนียว การสัญจรเข้าออกหมู่บ้านเป็นไปด้วยความลำบากแม้จะใช้รถออฟโรด เดินทางเข้าออกหมู่บ้านแล้วก็ตาม ขณะที่ต้นข้าว ต้นอ้อย ถูกน้ำท่วมขังนาน และเริ่มส่งกลิ่นเน่าแล้ว
ขณะที่ชมรมนักวิทยุและโทรทัศน์จ.สุรินทร์ ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ระดมเครื่องอุปโภค บริโภค เพื่อนำไปมอบให้กับชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมเพราะการสัญจรเข้าหมู่บ้านเป็นไป ด้วยความลำบาก
ทั้งนี้เช่นเส้นทางเข้าไปยังหมู่บ้านป่าเวย ต.เกาะแก้ว อ.สำโรงทาบ พบว่าถูกน้ำท่วมขังสูง 30-50 ซม.การเดินทางเข้าหมู่บ้านยากลำบากต้องใช้รถไถนาขนาดใหญ่ใช้ในการเดินทาง เข้าออกหมู่บ้าน ชาวบ้านได้รับสิ่งของ ที่มอบให้สร้างความดีใจเป็นอย่างมากที่มีคนมาให้กำลังใจและสู้ชีวิตต่อไป
จากนั้นได้เดินทางไปมอบสิ่งของช่วยภัยน้ำท่วม บ้านแขม ต.สระโน อ.สำโรงทาบ เส้นทางเข้าออกหมู่บ้าน ต้องใช้รถยนต์ออฟโรด เข้า ออกหมู่บ้านเพราะถนนเป็นดินเหนียว เดินทางลำบากมาก ชาวบ้านได้รับสิ่งของแล้วดีใจเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับบ้านตีนเกวียน ต.กระออม น้ำยังท่วมล้อมหมู่บ้าน นาข้าวเสียหาย ไร่อ้อย ไร่มันสำปะลังถูกน้ำท่วมเสียหายเป็นจำนวนมากและเริ่มเน่าเหม็น ส่วนหมู่บ้านสุดท้าย คือ หมู่บ้านโนนทราย ต.กระออม ทางเข้าหมู่บ้านเป็นดินเหนียว น้ำยังไหลหลากข้ามถนน เข้าออกหมู่บ้านลำบาก นาข้าวจมน้ำนับพันไร่ และเริ่มเน่าเสีย
ชาวนาวังทองเครียดน้ำท่วมนาล่ม
จาก โพสต์ทูเดย์
ชาวนาวังทองเมืองพิษณุโลกเครียดท่วมข้าวเสียหายขาดทุนยับ
วันนี้( 30 ก.ย.) น้ำในแม่น้ำวังทองยังคงล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่หลายหมู่บ้านในหลายตำบล ตั้งแต่ ต.ไชยนาม ต.ดินทอง ต.วังทอง และมาหนักสุดที่ต.วังพิกุล อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ท่วมขังพื้นที่นาข้าวและพื้นที่บ้านเรือนประชาชนเสียหายเป็นวงกว้าง
ขณะ ที่ทำนบกั้นน้ำแยกวังประดู่ หมู่ 14 บ้านวังฉำฉา ต.วังพิกุล อ.วังทอง หลังจากเมื่อวันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา น้ำจากแม่น้ำวังทองทลายทำนบพัง ชาวบ้านได้รวมพลังก่อกระสอบทรายกั้นแต่ก็ยังไม่เป็นผลเพราะน้ำยังคงเอ่อล้น ท่วมพื้นที่หมู่ 14 หมู่ 2 หมู่8 ต.วังพิกุล และเป็นจุดที่น้ำท่วมสูงจุดหนึ่ง เนื่องจากบริเวณนี้ขนาบด้วยแนวคลองชลประทานโครงการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และแนวพนังกั้นน้ำแม่น้ำวังทอง ทำให้น้ำที่ทะลักมาท่วมขังในบริเวณนี้ และไหลเข้าท่วมพื้นที่นาข้าวที่กำลังตั้งท้องได้รับความเสียหายจำนวนมาก บ้านเรือนประชาชนที่อยู่ในแนวคลองชลประทานถูกน้ำท่วมขังสูง ต้องอพยพมาอาศัยหลับนอนในเต้นชั่วคราวบนถนนสายดงข่อย-บางสะพาน
ชาวนา หมู่ 14 บ้านวังฉำฉา ต.วังพิกุล อ.วังทอง กล่าวว่า ทุกวันนี้ชาวนารู้สึกเครียดมาก เนื่องจากน้ำได้ท่วมนาข้าวได้รับความเสียหายนับแสนบาท น้ำขึ้นสูงและมาเร็วมาก ไม่สามารถนำรถเกี่ยวลงไปเกี่ยวข้าวได้ทัน บริเวณนี้เป็นปัญหามาโดยตลอด แก้ไขไม่ได้ เพราะเมื่อน้ำล้นตลิ่งมาจากต.วังทอง ก็จะไหลมาในแนวถนนดงข่อย-บางสะพาน และน้ำจะติดแนวคันคลองชลประทาน ไม่สามารถระบายออกทุ่งได้เหมือนก่อน ทำให้ระดับน้ำท่วมสูง และนาข้าวของตนได้รับความเสียหายเป็นประจำ
นอก จากนี้ที่วัดวังสำโรง หมู่ 8 ต.วังพิกุล อ.วังทอง ยังคงถูกน้ำท่วมขังบริเวณวัด พระได้รับความลำบากอย่างมาก ญาติต้องอาศัยเรืออกมารับบิณฑบาตจากญาติโยม แม้ว่าวันนี้ น้ำที่ท่วมบริเวณวัดจะลดระดับลงไปบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ท่วมของสูงอยู่ ขณะที่ฝ่ายป้องกันอ.วังทอง ได้ออกสำรวจพื้นที่เสียหายและได้รับผลกระทบ ตลอดทั้งเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากระยะนี้จ.พิษณุโลก ยังคงได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และในวันที่ 1 ตุ.ค.นี้คาดว่าจะได้รับอิทธิพลจากพายุหวู่ติ๊บที่ขึ้นฝั่งประเทศเวียดนาม จะส่งผลให้น้ำจากเทือกเข้าเพชรบูรณ์ไหลเข้ามาเพิ่มปริมาณในแม่น้ำวังทองอีก
อุดรฯเร่งระบายน้ำ2อ่างเก็บรับหวู่ติ๊บ
จาก โพสต์ทูเดย์
อุดรธานีเปิดประตูระบายน้ำ 2 อ่างรับพายุหวู่ติ๊บเคลื่อนเข้าสู่ไทยบริเวณนครพนมในวันที่ 1 ต.ค.นี้
เมื่อวันที่ 30 ก.ย.สภาพอากาศทั่วไปท้องฟ้าเมืองอุดรธานีเริ่มมีเมฆก่อตัวขึ้นมาก แต่ยังไม่มีฝนตกลงมาแต่อย่างใด แม้ว่ากรมอุตุนิยมวิทยาจะมีประกาศเตือน ฉบับที่ 12 ว่าเมื่อ 10.00 น. วันนี้ "พายุใต้ฝุ่นหวู่ติ๊บ" เจ้าผีเสื้อจากมาเก๊า มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะขึ้นฝั่งที่ตอนเหนือของเมืองเว้ ประเทศเวียดนามในเย็นวันนี้ (30 ก.ย.)จากนั้นจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ
ทั้งนี้จะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณจ.นครพนมในวันพรุ่งนี้ (1 ต.ค.)และคาดว่าจะเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณรอยต่อของภาคเหนือและ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะทำให้ด้านตะวันออกและตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมทั้งภาคเหนือ ด้านตะวันออกมีฝนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งกับมีลมแรง ขอให้ประชาชนบริเวณจ.นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร อุดรธานี หนองบัวลำภู เลย ขอนแก่น ชัยภูมิ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ระวังอันตรายจากภัยธรรมชาติดังกล่าวไว้ด้วย
นายสมพร ดำนุ้ย ผอ.โครงการชลประทาน จ.อุดรธานี กล่าวว่า ได้ติดตามเฝ้าระวังพายุหวู่ติ๊บ เบื้องต้นได้ตัดสินใจพร่องน้ำในอ่างฯ ในพื้นที่ตัวเมืองอุดรธานี และรอบๆ ได้ระบายน้ำออกจากอ่างบ้านจั่นฯวันละ 3 แสน ลบม.ติดต่อกันมาหลายวันแล้ว และอ่างเก็บน้ำหนองสำโรง ระบายออกวันละ 3 แสน ลบม. แต่ไม่มีการระบายน้ำจากอ่างฯห้วยหลวง และอ่างฯกุดลิงง้อ เพราะมีน้ำอยู่ 64.6 เปอร์เซนต์ และ 39.8 เปอร์เซนต์ หรือยังสามารถรับน้ำได้อีก 48 ล้าน ลบม. และ 3.8 ล้าน ลบม. นอกจากนี้ยังระบายน้ำออกจากฝ่ายกุมภวาปี เพื่อรักษาระดับเก็บกักไว้ 60 เปอร์เซนต์
"พายุที่เข้ามาเป็นปลายฤดู เราต้องตัดสินใจบนพื้นฐานความต้องการ 2 กรณี คือ ต้องมีน้ำเพียงพอในฤดูแล้ง โดยในปีที่ผ่านมา จ.อุดรธานี ได้รอความร่วมมือกับชาวนา งดทำนาปรังเพื่อเหลือน้ำไว้ผลิตประปา ปีนี้พยายามไม่ให้เกิดขึ้นมาอีก และไม่ให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ซึ่งเราจะเฝ้ารอดูปริมาณฝนตามเส้นทางพายุ หากตกลงมารุนแรงก็จะระบายน้ำเพิ่มอีก เพื่อในช่วงฝนตกในอ่างฯจะชะลอระบายน้ำไว้ ซึ่งเป็นไปตามแผนบริหารจัดการน้ำของเรา หากฝนตกไม่หนนักมากนนัก จ.อุดรธานี ก็จะได้รับประโยชน์มากกว่าโทษ"นายสมพร กล่าว
นายสมพร กล่าวอีกว่า หลังจากน้ำท่วมใหญ่เมืองอุดรธานี ปี 2543 และ 2544 ชลประทานได้ก่อสร้างประตูควบคุมน้ำ ที่ลำน้ำห้วยหลวง บ้านสามพร้าว ต.สามพร้าว อ.เมือง เป็นประตูน้ำขนาน 5 บาน คู่กับฝายน้ำล้นเดิมที่สร้างขวางทางน้ำไหลไว้ ก็จะช่วยระบายน้ำได้ลงสูงแม่น้ำโขงเร็วขึ้น โดยขณะนี้ก็ไม่มีสภาพน้ำโขงหนุน ตอนนี้เราเปิดประตูน้ำไว้ 1 บาน น้ำอยู่ในระดับประตูน้ำพอดี ถ้าน้ำมีมากก็เปิดระบายได้พร้อมกัน
อพยพวุ่นพนังกั้นอ.วังทองพังน้ำทะลัก
จาก โพสต์ทูเดย์
ชาวบ้านอพยพสิ่งของวุ่นพนังกั้นน้ำ อ.วังทอง พิษณุโลกพังเอ่อท่วมบ้านเรือนประชาชนอย่างรวดเร็ว
เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ชาวบ้านต.วังพิกุล อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ช่วยกันขนย้ายสัตว์เลี้ยง หมู ไก่ และสิ่งของในบ้านพักขึ้นสู่ที่สูง หลังจากพนังกั้นริมแม่น้ำวังทองบ้านทางลัดพังทะลายส่งผลทำให้น้ำจากแม่น้ำ วังทองไหลเข้าท่วมพื้นที่หมู่บ้านอย่างรวดเร็ว ระดับน้ำสูง 1 เมตร สร้างความโกลาหลให้กับประชาชน
ทั้งนี้โดยเฉพาะฟาร์มหมูของนายวิรัตน์ มั่นสายทอง อยู่บ้านเลขที่ 99 หมู่ 5 บ้านทางลัด ต.วังพิกุล ที่อยู่ติดกับแม่น้ำวังทอง ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก มีพ่อพันธุ์แม่พันธุ์และลูกหมูจำนวน 100 ตัว ที่ต่างปีนป่ายขึ้นบนหลังคา ร้องส่งเสียงดังสนั่นชาวบ้านจึงระดมแรงช่วยกันขนย้ายหมูขึ้นสู่ที่สูง แต่อพยพไม่ทันทำให้หมูช็อคตายหลายสิบตัว ซึ่งเป็นไปด้วยความยากลำบากอย่างมาก
อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่จากทหารกองทัพภาคที่ 3 เจ้าหน้าที่กู้ภัยบูรพาพิษณุโลก และเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เจ้าหน้าที่ อบต.วังพิกุล นำกำลังพลและเรือท้องแบนจำนวน 5 ลำ มาช่วยเหลือประชาชนเป็นการเร่งด่วนแล้ว และตอนนี้ยังไม่สามารถดำเนินการซ่อมแซมแก้ไขจุดที่พังลงได้ เพราะกระแสน้ำไหลแรงมาก ประกอบกับพื้นที่ที่อยู่ติดกับแม่น้ำวังทองจุดที่พนังพัง เป็นบ่อดิน ขนาดกว้างประมาณ 5 ไร่ ที่มีการขุดดินไปขายได้ประมาณ 1 ปีแล้ว เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้พนังกั้นน้ำจุดนี้พังลงมา เนื่องจากพื้นที่ดินที่ขุดดินขายไปค่อนข้างลึก และอยู่ติดกับแม่น้ำวังทอง
ด้านพ.อ.ฐิติเดช พงษ์สุวรรณ รองผู้บัญชาการ กองพลพัฒนาที่ 3 ค่ายสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ กล่าวว่า ได้ส่งกำลังพล เรือท้องแบน ไปช่วยเหลือประชาชนในการอพยพสิ่งของสัตว์เลี้ยง และเตรียมนำเต๊นท์ตั้งให้ประชาชนได้อยู่อาศัยบนถนนเป็นการชั่วคราว
นายนกหวีด เฟื่องอาวรณ์ นายกอบต.วังพิกุล กล่าวว่า ถือว่าต.วังพิกุลค่อนข้างวิกฤต เนื่องจากมี 8 หมู่บ้านที่ติดกับแม่น้ำวังทอง จากทั้งหมด 15 หมู่บ้านถูกน้ำท่วมหนักผนังกั้นน้ำวังทอง ก็แตกหลายจุด สร้างความเสียหายให้กับนาข้าวที่กำลังออกรวงถึง 70 % ในจุดที่แตกล่าสุดที่บ้านทางลัด คงไม่สามารถดำเนินการซ่อมแซมได้ เพราะน้ำไหลแรงและกว้างมาก ไม่สามารถนำเครื่องจักรหรือกำลังคนเข้าไปซ่อมแซมได้ คงต้องปล่อยให้น้ำไหลไปตามธรรมชาติ ขณะนี้ทำได้คือการช่วยเหลืออพยพคน สัตว์เลี้ยง และหาที่อยู่อาศัยชั่วคราวให้ก่อน และจะสำรวจความเสียหาย ออกเยียวยาจิตใจประชาชน เพราะน้ำท่วมปีนี้ นาข้าวเสียหายจำนวนมาก
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต