เขื่อนแม่วงก์-ปัญหาน้ำท่วม
จาก โพสต์ทูเดย์
การเดินเท้าครั้งนี้ทำให้รู้ว่า ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้ต้องการเขื่อน แต่พวกเขาต้องการการจัดการน้ำ ซึ่งเราพร้อมที่จะร่วมมือในการคิดหาทางเลือกการจัดการน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแม่วงก์ - ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร
พิสูจน์...ศรัทธาครั้งสุดท้าย
โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน / วิทยา ปะระมะ
ย่ำเหยียบเต็มสองฝ่าเท้าผ่าเปลวแดด ระอุอุ่นไอคอนกรีตแสบแผดเผา
ผ่านไปอีกก้าว อีกก้าว และอีกก้าว
เป็นก้าวที่เท่าไรมิอาจนับ ใช่ว่าเขาจะขยาดคร้าม ... ไม่เคย
เหงื่อหล่นเม็ดลงซ้ำแล้วซ้ำเล่า กว่า 10 วันมานี้ ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร หยัดอยู่บนถนนที่ทอดยาวอย่างเด็ดเดี่ยว แต่ใช่โดดเดี่ยว ใช่ว่าเขารั้งอยู่เพียงลำพัง?
“มิตรร่วมทางมีมาก มากันมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งหมดคือกำลังใจ ถ้าไม่มีพวกเขาก็ไม่รู้ว่าจะเอาจิตใจที่ไหนเดินมาไกลถึงเพียงนี้”
เป้าหมายเดินเท้า 388 กิโลเมตร จากนครสวรรค์สู่กลางใจกรุงเพื่อคัดค้าน EHIA (การประเมินผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม) เขื่อนแม่วงก์ คือหมุดหมายที่ศศินปักไว้อย่างหนักแน่น-มั่นคง
“เหมือนฝัน มาถึงตอนนี้มันเหมือนฝัน” ศศินเล่าว่า แรกเริ่มตั้งใจจะเดินเพียงคนเดียว เพราะเชื่อว่าคงไม่มีใครจะออกมาเดินกลางอุณหภูมิร้อน 40-50 องศา วันละ 30-40 กิโลเมตร แต่พอเดินไปได้สักระยะหนึ่งกลับมีคนเข้าร่วมจนกลายเป็นขบวน บางวันมีมากกว่า 100 คน ล้วนแล้วแต่เป็นคนที่ไม่เคยรู้จักทั้งสิ้น
“ใครมันจะบ้ามาเดินกับผม คงไม่มีหรอก แต่พอเอาเข้าจริงไม่ใช่ว่าจะไม่มีเลย นักศึกษาจบใหม่คนหนึ่งโบกรถตามมาหลังจากผมออกเดินไปได้ 20 กิโลเมตรแรก จนถึงวันนี้เขาก็เดินด้วยกันมา 10 วันแล้ว หรือบางคนมีภารกิจก็มาเดินกับผมระยะหนึ่ง มาช่วงเช้า สายๆ กลับไปทำงาน พอเลิกงานก็กลับมาเดินกับผมอีก บางคนมาอยู่กับผม 5-6 วัน บางคนก็ 1 วัน ครึ่งวัน 2 ชั่วโมงก็มี 2 กิโลก็มี นี่ยังไม่นับคนที่ไม่สะดวกเดินแต่ขับรถเอาข้าว เอาน้ำ เอาเสื้อกันฝน กางเกงในกระดาษมาให้ ทั้งหมดคือมิตรที่ผมได้ระหว่างทาง”
ความคาดหวังเดียวในการเดินเท้า 388 กิโลเมตร คือการสร้างความตื่นตัวให้เกิดขึ้นกับสังคม
ศศินมั่นใจว่า เพื่อนพ้องในหลากหลายสาขาวิชาชีพซึ่งเคยแสดงจุดยืนเห็นด้วยกับแนวคิดต่อต้าน อีเอชไอเอเขื่อนแม่วงก์จะต้องออกมาร่วมเคลื่อนไหวด้วยไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง โดยเฉพาะนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมหรือผู้ที่มีน้ำหนักทางสังคมแน่นอนว่าจะ ต้องออกมา
ทว่า ความเป็นจริงมักกัดกร่อนความฝันอยู่เสมอ
“ลองผมออกเดินเท้ากว่า 300 กิโลเมตร เอาตัวเองเป็นตัวประกัน เอาตัวเองเข้าสู่จุดอับ ผมว่านักวนศาสตร์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมรุ่นใหม่ๆ คงต้องมียางอายลุกขึ้นมาทำอะไรกันบ้าง” เว้นจังหวะผ่อนลมหายใจ “แต่มันก็ไม่มีเลย มีก็แต่นักวิชาการรุ่นก่อนๆ รุ่นใหญ่ๆ เท่านั้นที่ยังคงยืนหยัดต่อต้านความไม่ถูกต้อง”
เขาเพิกเฉยเสมือนหนึ่งไม่รับรู้ต่อถ้อยความที่หล่นคำออกจากปากเมื่อสักครู่ ผิวหน้ากร้านแดดจนแดงไหม้ตรึงอยู่ในอาการราบเรียบ
“สื่อกระแสหลักก็ไม่ค่อยสนใจ”ศศินเล่าต่อ“ในช่วงแรกไม่ว่าจะเป็นทีวีหรือ หนังสือพิมพ์ก็แทบไม่ให้ความสำคัญ สิ่งที่ได้ผลจริงกลับเป็นสื่อทางเลือกคือเฟซบุ๊ก พวกนี้มันไปไกลจนอั้นไม่อยู่ ทำให้สื่อกระแสหลักต้องหันกลับมาสนใจ”
มาถึงตอนนี้ เขาปลดเปลื้องสายตางำประกายของตัวเอง
แม้ว่าการเดินทางสิ้นสุดลงด้วยสวัสดิภาพเต็มภาคภูมิ แต่ถึงกระนั้น ศศินยังยอมรับว่าหากเดินตามแผนที่ตัวเองวางไว้ตั้งแต่แรกอาจจะไม่รอด
“ตั้งใจว่าจะเดินออกจากกรุงเทพฯ ไปสิ้นสุดที่นครสวรรค์ แต่มีผู้หลักผู้ใหญ่ที่เป็นนักยุทธศาสตร์แนะนำว่า หากเดินเช่นนั้นพลังมันจะค่อยๆ หมดไป คือช่วงแรกอาจจะหวือหวา แต่ยิ่งเดินออกไปไกลข่าวก็จะค่อยๆ เงียบหาย ยิ่งไกลก็ยิ่งไม่มีใครสนใจ สู้เดินกลับเข้ามาสิ้นสุดที่กรุงเทพฯ ดีกว่า ผมฟังแล้วก็ปิ๊งเลย
ถ้าเริ่มต้นที่ป่าแม่วงก์ ช่วงแรกๆ ที่ข่าวยังไม่มาก ผมมีโอกาสเดินผ่านพื้นที่ความขัดแย้งของ อ.ลาดยาวได้ ผมสามารถเดินทะลุออกมาแล้วค่อยมาสะสมพลังเพื่อกลับเข้ากรุงเทพฯ แต่หากเดินแบบที่วางไว้ตั้งแต่ต้นแน่นอนว่าอาจจะเข้าสู่พื้นที่คิลลิ่งโซนใน ช่วงที่ตัวเองอ่อนล้าที่สุด”
สำหรับแผนการเดินเท้าระหว่างวัน ศศินเป็นคนกำหนดคร่าวๆ เองทั้งหมด ด้วยเส้นทางที่ใช้มีความคุ้นเคย จึงสามารถประเมินได้จากแผนที่กรมทางหลวงว่าระยะทางเท่าไร เดินจากจุดไหนถึงจุดไหน และบริเวณใดมีที่พักบ้าง
“ผมคำนวณตามแผนที่ได้ระยะทางทั้งสิ้น 388 กิโลเมตร ผมคิดว่าคนหนึ่งสามารถเดินได้ชั่วโมงละ 4 กิโลเมตร ถ้าผมเดินคนเดียวเรื่อยๆ แบบไม่ให้ช้ำ 10 ชั่วโมงผมก็สามารถเดินได้ กำหนดการตอนนั้นก็คือออกเดินสักตี 5 เข้าที่พักอีกครั้งตอน 6 โมงเย็น
ก็คิดว่าวันละ 30-40 กิโลเมตรน่าจะไหว แต่เอาเข้าจริงมันทำไม่ได้ ทำได้อย่างเก่งก็วันละ 30 กิโลเมตร นั่นเพราะมีปัจจัยมากมาย ทีมงานผมก็บอกว่าให้ผมเดินอย่างเดียว เขาจะมีหน้าที่เอาผมให้ถึงกรุงเทพฯ เอง เขาก็ไปวางแผนจัดการกัน เขาก็ใช้สมอง ส่วนผมที่ใช้ตีน ผมมีหน้าที่ดูแลตีนอย่าให้บาดเจ็บจนเสียฟอร์มจนสาบสูญ ตอนแรกประเมินว่า 70-80% ถึงกรุงเทพฯ แน่ แต่อาจล่าช้าบ้าง ก็เผื่อเวลาไว้ 2-3 วัน แต่พอถึงวันนี้กลับตามแผนเป๊ะ เร็วกว่าเป้าด้วยซ้ำ”
สำหรับอุปสรรคระหว่างทาง แม้จะมีผู้คัดค้านบ้าง แต่ไม่ถึงกับหนักหนาสาหัส
“ผมว่าเป็นเพราะยุทธศาสตร์ถูกต้อง ตอนแรกเราไม่มีข่าวก็เดินผ่านได้โดยละม่อม อาจมีกลุ่มคนที่คิดจะต้านแต่เขาก็เตรียมตัวไม่ทัน รู้อีกทีผมก็ทะลุเข้ามาได้แล้ว ผมทำงานเฉพาะเรื่องแม่วงก์มา 3-4 ปี ก่อนหน้านี้ก็ทำมาตลอด ถ้าจะประมาทจนไม่รู้เขารู้เราก็เกินไป ผมรู้ว่านักการเมืองที่นี่เป็นใคร แกนนำในพื้นที่เป็นอย่างไร
ขั้นเลว ร้ายที่สุดก็คงไม่ถึงขั้นถูกยิง นั่นเพราะผมเดินมาคนเดียวบนถนนในประเทศไทย ที่นี่ไม่ใช่บ้านป่าเมืองเถื่อน ผมเดินมาคนเดียวเขาจะทำอะไรผม ที่รุนแรงที่สุดก็มีนักการเมืองท้องถิ่นขับรถมาขวาง เขาก็สุภาพนะ ถามผมว่าคุณศศินคุณไม่เอาเขื่อนเหรอ คุณไม่เอาแต่ผมเอานะ คุณอยู่ตรงข้ามผมนะ มีแค่นั้น
คนเหล่านั้นชอบใช้เงื่อนไขจำนวน เช่น เวลาจัดรับฟังความคิดเห็นใน อ.ลาดยาว ก็จัดคนมา 10-20 รถบัส พอมาคราวนี้เขาก็คิดว่าผมจะเอาคนมาเยอะ ปรากฏว่ามีผมกับทีมเพียง 4-5 คน แถมยังเดินกันมาเรื่อยๆ ไม่ได้ทำอะไรเลย เขาก็คงรู้สึกว่าถ้าจะขนคนมาต้านก็ดูจะแปลกๆ เขาก็เสียขบวนไปเหมือนกัน คงคิดว่าผมจะมีม็อบ มีคนมาให้ปะทะ แต่ผมไม่มีอะไร”
ศศินบอกว่า ถ้าเจอกลุ่มค้านจริงๆ ก็คงยกมือไหว้ 1 ที แล้วขอผ่านไป ถ้าเขาไม่ให้ไปก็คงขึ้นรถกลับออกมาแล้วก็ไปตั้งต้นเดินต่อในจุดใหม่
ส่วนความประทับใจระหว่างย่างก้าวเกิดขึ้นใหม่ทุกวัน นอกจากผู้ที่ออกมาสนับสนุนและแสดงจุดยืนไม่เอาเขื่อนแม่วงก์แล้ว ยังมีผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียงทางสังคมออกมาให้กำลังใจอย่างไม่ได้บอกกล่าวให้ ทราบล่วงหน้า
“อยู่ดีๆ ก็มาปรากฏตัวให้กำลังใจ อย่างน้าหงา-คาราวาน หรือน้าหมู-พงษ์เทพ ก็ไม่ได้แจ้งล่วงหน้า หรือแม้แต่อาจารย์ธงชัย พรรณสวัสดิ์ นักสิ่งแวดล้อมรุ่นใหญ่ กระทั่งคุณนิคม พุทธา ที่รู้ว่าผมจะเดินเข้ากรุงเทพฯ แต่แกไม่สะดวกมาเดินร่วมกันในเส้นทางนี้ แกก็เดินเป็นเพื่อนผมจากดอยเชียงดาวเข้าเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่ผมจะเดินเข้ากรุงเทพฯ”
ศศินเปลือยความรู้สึกว่า พอถึงเส้นชัยที่กรุงเทพฯ ก็ถือว่าชนะตัวเองแล้ว และได้แต่หวังว่าจะมีคนที่เห็นด้วยออกมาทำอะไรร่วมกัน
“ผมทำด้วยใจ ยังไงผมก็สู้ คลานมาผมก็เอา ผมประกาศไว้ว่าจะเดินให้สำเร็จ ถ้าต้องยกเลิกกลางทางก็คงไม่มีหน้าทำงานต่อไป คงต้องหายไปจากยุทธจักร
สิ่งที่ผมทำมันไม่มีอะไรแอบแฝง ผมทำให้อำนาจรัฐที่มันถือดี ที่มันอ้างประชาธิปไตย ให้มันเห็นพลังนี้บ้าง นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลง แต่ในทางกลับกันหากมันไม่เกิดอะไรขึ้น มันก็ทำให้ผมตัดสินใจได้ว่าจะเอายังไงกับสังคมไทยนี้ ผมยังจะมีศรัทธาต่อการทำงานสาธารณะต่อไปหรือไม่”
ผมคือเด็กเนิร์ดอยากขบถ
ศศิน ให้คำนิยามสั้นๆ ถึงตัวตนของเขาว่าเป็นนักวิชาการเพื่อชีวิตที่ไม่มีบุคลิกแบบนักวิชาการใน มหาวิทยาลัย และเป็นเด็กเนิร์ดที่อยากขบถ
ด้วยพื้นฐานในวัยเด็กเป็นลูกศึกษาอำเภอ ลูกครูใหญ่ มีสถานะเป็นชนชั้นกลาง อยู่ในโรงเรียนบ้านนอกก็เป็นเด็กคนเดียวที่มีรองเท้าใส่ มีเงินไปโรงเรียนวันละ 5 บาท ในขณะที่เพื่อนไม่มีเงินเลย เป็นลูกครูใหญ่มีสถานะ untouchable ทำให้รู้สึกเป็นจุดฝังใจ
“ผมโคตรเกลียดสถานภาพที่มีอภิสิทธิ์มากเลยเพราะมันอ่อนแอ ผมอิจฉาคนอื่นทำไมเขาผิวดำ ทำไมแข็งแรง ทำไมเดินตีนเปล่าได้ แต่ทำไมเราผิวบางจังวะ ทำไมตีนเราบางกว่าเขา”
ด้วยเหตุนี้เลยพยายามทำกิจกรรมออกค่ายต่างๆ ทั้งค่าย YMCA ค่ายเยาวชน ฯลฯ แต่จุดเปลี่ยนจริงๆมาจากค่ายวิทยาศาสตร์ทางทะเลในช่วงเรียนมัธยม ด้วยความมีอุดมการณ์โรแมนติกเลยอยากทำอะไรเท่ๆ เช่นการรักษ์ทะเล จนสะสมองค์ความรู้ทางด้านนี้เรื่อยมา
“ในฐานะที่เป็นเด็กเนิร์ด มีชีวิตที่เป็นชนชั้นกลางในบ้านนอก เลยอยากใช้ชีวิตที่มันเป็นขบถ ขณะที่คนอื่นฟังแกรนด์เอ็กซ์ ผมก็จะฟังคาราวานตั้งแต่อยู่ ม.4 ม.5”
เมื่อเรียนจบมัธยม ก็เข้าศึกษาต่อในภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจวบกับยุคนั้นเป็นช่วงที่นักศึกษาที่เข้าป่าเดือนตุลากลับมาเรียนต่อพอ ดี การทำกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยจึงมีบรรยากาศของยุคปฏิวัติ มีองค์ความรู้ฝ่ายซ้าย การปฏิวัติเพื่อสร้างสังคมใหม่ เป็นยุคเฟื่องฟูของเพลงเพื่อชีวิต ความเป็นศศินในปัจจุบันจึงซึมซับและบ่มเพาะมาแบบไม่รู้ตัวตั้งแต่ ครั้งกระนั้น เกิดความรู้สึกอยากหลุดพ้นจากความเป็นเนิร์ด อยากหาตัวตนให้เจอ จึงเริ่มทำงานเอาท์ดอร์มากขึ้นเรื่อยๆ
“แต่ผมก็ยังอยากเป็นนักวิชาการนะ ไอดอลของผมคืออาจารย์สุรพล สุดารา เพราะท่านสอนที่จุฬาฯ เห็นท่านแล้วรู้สึกว่าอยากเป็นนักวิชาการเก่งๆ อยากเป็นผู้ทรงภูมิความรู้ และจริงๆแล้วผมชอบทำงานทะเลมากกว่าป่าด้วยซ้ำ ผมจบปริญญาโทด้านการจัดการชายฝั่ง แต่ก็ค่อยๆหันมาทำงานเรื่องป่า”
เมื่อเรียนจบได้เพียง 4 เดือน เขาก็ไปทำงานเป็นอาจารย์สอนวิศวะโยธา ที่มหาวิทยาลัยรังสิต ลูกศิษย์รุ่นแรกอายุห่างกันเพียง 2 ปีเท่านั้น จากนั้นก็มีโอกาสเข้าไปช่วยงานวิชาการของมูลนิธิสืบฯด้วย กระทั่งวันหนึ่ง มูลนิธิได้ทุนทำโครงการจากต่างประเทศ แต่ไม่มีคนระดับซีเนียร์มาบริหาร จึงทาบทามศศินให้ไปเป็นผู้จัดการโครงการ
“ผมตัดสินใจอยู่เกือบปี อาจารย์รัตยา จันทร์เทียน ประธานมูลนิธิสืบฯ มาตามอยู่ 3 ครั้ง ตอนนั้นก็ยังแบ่งรับแบ่งสู้ว่าถ้าเจอใครที่พร้อมกว่าก็เอาเลยนะ แต่อาจารย์รัตยามุ่งมาที่ผม ผมเลยออกมาเป็น project manager ให้สืบฯ แล้วจับพลัดจับผลูมาบริหารจนถึงทุกวันนี้ก็ 12 ปีแล้ว”
ทุกวันนี้ ชีวิตประจำวันของศศินแทบไม่มีเวลาส่วนตัวมากนัก ตื่นมาก็ประชุมทั้งในมูลนิธิเอง และเป็นตัวแทนมูลนิธิไปประชุมวงอื่นๆ ไม่อย่างนั้นก็เซ็นหนังสือแล้วเดินป่าเข้าไปหาชุมชน
หน้าที่ใหญ่ๆ อีกอย่างของเขาคือกินเหล้ากับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ กับชาวบ้านและลูกน้อง เพราะมีงานชุมชนในพื้นที่กว่า 300-400 ชุมชน การกินอยู่ก็กินง่ายๆ ก๋วยเตี๋ยวข้างทาง ฟังเพลงคาราวาน โดยเฉพาะเพลง “ใกล้ตาไกลตีน”ที่ชอบมากเป็นพิเศษ หนังสือก็อ่านงานวรรณกรรมยุคเก่าๆซ้ำไปซ้ำมา
“พอมารับงานแล้วเราก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ในหน้าที่ของมูลนิธิสืบฯ ผมก็ต้องค้านเขื่อนแม่วงก์ทุกวิถีทาง ตอนนี้เหลือวาระเลขาธิการมูลนิธิอีก 2 ปี ส่วนอนาคตหลังหมดวาระแล้ว ก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำอะไร ยังไม่ได้คิด”
นักวิชาการรุ่นผมมันไม่มีน้ำยา(ว่ะ)
แนวคิดการสร้างเขื่อนแม่วงก์ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นโครงการที่มีมาตั้งแต่ปี 2525 และถูกหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่ในแผนการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลอีกรอบ
ศศิน ย้ำว่าแม่วงก์เป็นส่วนหนึ่งของป่าตะวันตก ซึ่งเป็นป่าต่อเนื่องผืนเดียวที่ใหญ่ที่สุด มีห้วยขาแข้ง ทุ่งใหญ่นเรศวร แม่วงก์ คลองลาน ฯลฯ และเป็นผืนป่าเดียวที่มีสัตว์ป่าต่างจากป่าหรืออุทยานแห่งชาติอื่นๆ ที่มีแต่ป่าเปล่าๆ และสิ่งที่ชี้ว่ามีสัตว์ป่าจำนวนมากอาศัยอยู่ในผืนป่านี้ดูได้ง่ายๆ จากปริมาณของเสือ เพราะเสืออยู่บนยอดสุดของห่วงโซ่อาหาร เมื่อมีเสือ แสดงว่ามีสัตว์เท้ากีบที่เป็นอาหารของเสืออาศัยอยู่มากมายตามไปด้วย ซึ่งจากข้อมูลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กองทุนสัตว์ป่า และสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า ก็ชี้ว่ามีเสืออยู่ทั้งหมดประมาณ 100 กว่าตัว
ขณะเดียวกัน ลักษณะของป่าแม่วงก์เป็นป่าริมน้ำที่ราบต่ำ มีหญ้า มีป่าเต็งรังโอบอยู่โดยรอบ แม้จะเป็นพื้นที่เพียงนิดเดียวเมื่อเทียบกับพื้นที่ป่าตะวันตกทั้งหมด แต่ก็มีความสำคัญในฐานะเป็นแหล่งที่อยู่และอาหารสำคัญของสัตว์เท้ากีบต่างๆ
“ป่าลักษณะเช่นนี้ ถ้าไปตั้งอยู่นอกผืนป่าตะวันตกมันก็ไม่มีคุณค่าอะไร แต่พออยู่ในป่าตะวันตก มันกลายเป็นแหล่งอาหารของสัตว์กีบ เสือเข้ามากินสัตว์กีบ น้ำก็มีกินตลอดปี แต่ถ้าสร้างเขื่อนน้ำก็ท่วมหมด สภาพของป่าที่ราบก็หมดไป และในรายงาน EHIA ละเลยจุดนี้ การลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจึงลดไม่ได้หรอก สมมติว่าน้ำท่วมไป 1 หมื่นไร่ แล้วไปปลูกป่าทดแทนจะได้ป่าแบบนี้ไหม ปลูกไปก็ได้แค่สวนป่า ไม่ได้เป็นแหล่งที่อยู่สัตว์ป่า แล้ว EHIA ก็ไม่ได้ระบุพื้นที่ปลูกป่าทดแทนด้วยซ้ำ แต่กลับอธิบายความคุ้มค่าว่าจะได้เนื้อไม้เพิ่มมาอีก 5 เท่า”
นอกจากนี้ ด้วยเหตุผลทางวิชาการ เขื่อนแม่วงศ์มีขนาดเล็กเกินไป จากพื้นที่ชลประทาน 3 แสนไร่ ควรมีน้ำประมาณ 500-600 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ถึงจะได้น้ำทำนา 1 ครอป แต่ตัวเขื่อนแม่วงก์มีน้ำ 250 ล้าน ลบ.ม. เพียงพอทำนาได้ประมาณ 1 แสนไร่ แต่พื้นที่ชลประทานที่เอาไปคำนวณค่าความคุ้มทุนกลับคำนวณถึง 3 แสนไร่ ดังนั้น น้ำไม่พอแน่ผลประโยชน์จากเขื่อน จึงน้อยเกินไปไม่คุ้มค่ากับการทำลายป่า
ที่สำคัญในผืนป่าตะวันตกไม่ได้มีโครงการก่อสร้างแค่แม่วงก์ที่เดียว แต่มีโครงการอื่นๆ มะรุมมะตุ้มรออยู่อีก ทั้งการทำถนนคลองลาน-อุ้มผาง การทำเหมืองแร่ในทุ่งใหญ่ตะวันตก การสร้างอุโมงค์ผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ ฯลฯ ซึ่งหากโครงการสร้างเขื่อนเกิดขึ้นมา ก็จะมีโครงการอื่นๆ ผุดตามเป็นโดมิโน่
“โดยหลักการของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เราทำงานเป็นหมาเฝ้าบ้าน เพราะป่าเป็นของคนไทย อะไรที่มันเข้ามาทำมิดีมิร้ายกับป่า มูลนิธิสืบฯ เราไม่ยอมหรอก สักโครงการเดียวก็ไม่ยอม ไม่ต้องมาอธิบายมาชั่งน้ำหนักหรอก ผมลุยแหลกอยู่แล้ว โครงการไหนเข้ามาในป่าตะวันตก คุณเจอกับผม”
ทั้งนี้ รายงาน EHIA ของเขื่อนแม่วงก์เคยถูก คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ตีกลับไปศึกษาใหม่ 19 ประเด็น เมื่อปลายปี 2555 แต่หลังจากนั้นในช่วงต้นปี 2556 มีการเปลี่ยนตัวเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวด ล้อม (สผ.) จากวิจารณ์ สิมาฉายา เป็นสันติ บุญประคับ รายงาน EHIA ก็ผ่านขั้นตอนมาเรื่อยๆ และกำลังจะถูกพิจารณาอีกครั้งราวๆ สิ้นเดือนนี้
“คุณวิจารณ์ท่านเป็นนักวิชาการสิ่งแวดล้อม เป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียงตรงไปตรงมา แต่คุณสันติแกนิยมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แล้วยังไงไม่รู้ มานั่งเป็นประธาน คชก.ซะเอง ซึ่งปกติตัวเลขา สผ.ไม่มาเป็นหรอก เขาให้กรรมการสิ่งแวดล้อมผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกมาเป็น และตอนนั้นคุณปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นรองนายกฯ ดูแลกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น มันก็มีตัวชี้วัดว่ามีการใช้อำนาจการเมืองมาแทรกแซงอำนาจทางวิชาการ”
ด้วยเหตุนี้ ศศิน จึงต้องแย้งต้องออกมาเดินประท้วงว่าปล่อยผ่าน EHIA ไปได้อย่างไร รู้สึกว่ายอมให้กลไก สผ.ทำอะไรแบบนี้ไม่ได้ เพราะตัวเขาเองก็เคยนั่งเป็นกรรมการ คชก. อยู่ 7-8 ปี และไม่เคยเจอเรื่องอะไรแบบนี้มาก่อน
“แค่เจอแมงกานีสเกินค่ามาตรฐานยังให้กลับไปศึกษาใหม่ตั้ง 5-6 ปี กรรมการ คชก.มันชุ่ยไม่ได้ มันเป็นของดีๆ ของคนไทยในภาพรวม ไม่ใช่เรื่องว่าเห็นสัตว์สำคัญกว่าคน แต่มันเป็นสมบัติใหญ่ของชาติ คุณจะมานั่งเอาน้ำให้ตำบลนึงแสนไร่ ทำไมไม่ขุดบ่อเอา”ศศิน กล่าว
อย่างไรก็ตาม หลังจากผ่านช่วงเวลาการเดินเท้ากว่า 300 กิโลเมตร และได้รับการตอบรับจากสาธารณชนเป็นอย่างดี โดยเฉพาะจากชุมชนโซเซียลเน็ตเวิร์ก แต่สิ่งที่ศศินยังผิดหวังอยู่คือการตอบรับจากนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมทั้ง หลาย
“ผมคาดหวังนักวิชาการมากนะว่าจะออกมาตอบรับมากกว่านี้ แต่ผมไม่เห็นว่าคณะวนศาสตร์จะทำอะไรกับเรื่องนี้สักเท่าไหร่เลย มิหนำซ้ำอาจารย์วนศาสตร์บางคนก็อยู่ในทีมทำรายงาน EHIA ด้วย”
เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ ย้ำว่า หากยังมีสำนึกในวิชาการ คณะวนศาสตร์และนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมต้องเดินออกมาแสดงจุดยืน แต่นี่กลับไม่มีเลย รวมถึงนักวิชาการของกรมอุทยานฯ ต้องแสดงออกมากกว่านี้ ไม่ใช่กลัวขี้หดตดหาย
“ถ้ามองในแง่นี้ ผมยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่หรอก มันไม่มีน้ำยา นักวิชาการรุ่นผม รุ่นน้องผม รุ่นพี่ผมมันไม่มีน้ำยาว่ะ”
ศศิน ฝากคำถามทิ้งท้ายถึงนักวิชาการและชาววนศาสตร์ทั้งหลายว่า หากเป็นเมื่อ 20 ปีก่อน สมัยอาจารย์สุรพล สุดารา อาจารย์ปริญญา นุตาลัย และอาจารย์ธงชัย พรรณสวัสดิ์ เหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่ คนรุ่นนั้นจะปล่อยให้กลไกการตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมถูกปู้ยี่ปู้ยำขนาดนี้ หรือไม่
“เรามีนักวิชาการอะไรที่พึ่งได้บ้างในสังคม ไทย ขบวนการบริสุทธิ์อย่างเอ็นจีโอก็มีทำงานอยู่แต่ก็อ่อนล้าไป ขบวนการนักศึกษาหายไปไหนหมด มีมาร่วมอยู่บ้างแต่ความเข้มแข็งของขบวนไม่มีเลย ผมก็ต้องเดินเพื่อกระตุ้นมโนสำนึก กระตุ้นต่อมสำนึกของเขา แต่ก็ปรากฏว่าก็ไม่มีเท่าไหร่”เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ กล่าวทิ้งท้าย
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต