สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อีสานแล้งหนัก!! อุบลรัตน์-ลำปาว น้ำหมดเขื่อน พิลึกเกษตรชี้พื้นที่เสียหาย2จว.

จากประชาชาติธุรกิจ

อีสานประสบภัยแล้งหนักสุด ทั้งภาคเหลือน้ำอยู่แค่ 922 ล้าน ลบ.ม. หรือ 11% "อุบลรัตน์-ลำปาว" หมดปัญญาน้ำขอดก้นอ่างเหลือแค่ 7% ตอนนี้ทำได้เพียงรอฝนตกในเดือนพฤษภาคม แถมต้องลุ้นต่อฝนจะทิ้งช่วงหรือไม่ สวนทางกระทรวงเกษตรฯสงสัยตัวเลขความเสียหายจากภัยแล้ง รายงานแค่ 2 จังหวัด

ท่ามกลางบรรยากาศสาดน้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ในอีกด้านหนึ่งสถานการณ์น้ำภายในประเทศกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีรายงานการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเข้ามาเป็นระยะ ๆ เนื่องจากน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เกือบทุกอ่างเหลือปริมาณน้ำใช้การได้จริงต่ำกว่าร้อยละ 20 เป็นจำนวนมาก ในขณะที่ยังเหลือเวลาอีกไม่ต่ำกว่า 1 เดือนจึงจะเข้าช่วงฤดูฝน แถมยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดฝนทิ้งช่วงอีกด้วย

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์
รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศ ณ วันที่ 11 เมษายน 2556 มีปริมาณน้ำรวมกัน 37,918 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 54% ของความจุอ่างขนาดใหญ่รวมกันทั้งหมด และมีปริมาณน้ำที่สามารถนำมาใช้การได้จริงประมาณ 14,419 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 21%โดยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ท้ายเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ลงมา ได้กำหนดแผนการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในช่วง

ฤดูแล้งปี 2555/56 คิดเป็นปริมาณน้ำรวมทั้งสิ้น 9,000 ล้าน ลบ.ม. ผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2556 พบว่า มีการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งเป็นพื้นที่มากกว่า 10.95 ล้านไร่ ซึ่งเกินกว่าแผนที่ได้กำหนดไว้ 9.60 ล้านไร่ แยกเป็นพื้นที่ทำนาปรัง 10.57 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 115% ของแผนที่กำหนดไว้ 9.17 ล้านไร่ และพืชไร่-พืชผัก 0.38 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 88% ของแผนที่กำหนดไว้ 0.43 ล้านไร่

ส่วนการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2555/56 เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา วันที่ 10 เมษายน 2556 มีการใช้น้ำไปแล้ว 8,215 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 91% ของแผนการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งทั้งหมดของลุ่มน้ำเจ้าพระยา คงเหลือปริมาณน้ำที่จะใช้ได้ตามแผนการจัดสรรน้ำอีก 785 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 9% ของแผน

นายสุเทพกล่าวอีกว่า น้ำต้นทุนของเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ที่นำมาใช้ได้ตามแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้งนั้น อยู่ในเกณฑ์ 100% แล้ว เหลือเพียงปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้สำหรับสนับสนุนการทำนาปีในช่วงต้นฤดูฝนเท่านั้น ในขณะที่การทำนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเกินแผนไปแล้วกว่า 1 ล้านไร่ จึงขอให้ช่วยกันประหยัดน้ำ เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองเพียงพอ และไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ในอนาคต

ทั้งนี้ปริมาณน้ำใช้การได้จริงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งภาค ณ วันที่ 11 เมษายนเหลืออยู่เพียง 922 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เหลือน้ำอยู่ถึง 3,811 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 46% มีเขื่อนที่ประสบภาวะวิกฤตอยู่ 2 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์กับเขื่อนลำปาว เหลือน้ำอยู่เพียง 162 กับ 144 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 7% เท่านั้น

ส่วนเขื่อนแห่งอื่น ๆ ก็มีน้ำใช้การน้อยถึงน้อยมากเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนห้วยหลวง 13 ล้าน ลบ.ม. หรือ 10%, เขื่อนน้ำอูน 60 ล้าน ลบ.ม. หรือ 12%, เขื่อนสิรินธร 168 ล้าน ลบ.ม. หรือ 9%, เขื่อนลำตะคอง 66 ล้าน ลบ.ม. หรือ 21% และเขื่อนมูลบน 32 ล้าน ลบ.ม. หรือ 23%

ด้านนายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จะประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังศูนย์ช่วยเหลือภัยพิบัติการเกษตรทุกจังหวัด ให้สำรวจความเสียหายภาคเกษตรอย่างละเอียด พร้อมรายงานความคืบหน้าการช่วยเหลือ

เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยได้ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติแล้งไปแล้ว 44 จังหวัด แต่กลับพบว่าภาคเกษตรได้รับความเสียหายเพียง 2 จังหวัดคือ จังหวัดเชียงรายกับจังหวัดอุตรดิตถ์เท่านั้น ซึ่งเป็นการรายงานความเสียหายล่าสุดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ แต่ในเดือนมีนาคมและเมษายนไม่มีรายงานความเสียหาย ถือว่า "เป็นเรื่องผิดปกติ ผมไม่เชื่อว่าภัยแล้งครั้งนี้จะไม่กระทบภาคเกษตร คงจะสรุปข้อมูลได้ภายในเดือนเมษายนนี้ ส่วนผลกระทบภาคการเกษตรจากภัยแล้งปีนี้น่าจะน้อยกว่าปีที่ผ่านมา"


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view