จาก โพสต์ทูเดย์
เหยื่อโคลนถล่มน้ำรี อพยพหนีวิกฤตภัยแล้งปล่อยบ้านน็อคดาวน์ร้าง
นายปรีชา รสเกสร บ้านเลขที่ 46 บ้านแดนทอง หมู่ 8 ต.ร่วมจิต อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า วันที่ 22 พ.ค.นี้ จะครบรอบ 6 ปีดินโคลนถล่มบ้านน้ำรี หมู่ 6 ต.น้ำหมัน อ.ท่าปลา เป็นครอบครัวหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว โชคดีที่นิคมลำน้ำน่าน อ.ท่าปลา ได้จัดสรรที่ทำกินและที่ปลูกบ้านให้ใหม่ที่บ้านแดนทองครอบครัวละ 5.1 ไร่ หน่วยงานราชการมอบบ้านน็อคดาวน์ทั้งหมด 29 หลังคาเรือน และสมัครใจออกมาอยู่เพิ่มอีก 1 หลังเป็น 30 หลัง
นายปรีชา กล่าวว่า ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์ดินโคลนถล่ม ชาวบ้านน้ำรีอาศัยอยู่ในพื้นที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหาร และน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค แต่หลังจากอพยพออกมาอยู่ที่บ้านแดนทองแล้ว ตั้งแต่ปีแรกก็ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง ยังดีที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ร่วมจิต มาสร้างถังเก็บน้ำขนาดใหญ่ไว้ให้ ช่วงแล้งก็จะขนน้ำมาใส่ถังไว้เพื่อปล่อยแจกจ่ายประชาชนตามระบบท่อประปาแต่ก็ มีการปิดเปิดเป็นเวลาเช้ากับเย็น หากไม่พอก็แจ้ง อบต.จะนำมาเติมให้ใหม่ แต่ก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี
“แรก ๆ มีทั้งหมด 30 หลังคาเรือน แต่ทนกับความแห้งแล้งไม่ไหวบางครอบครัวก็อพยพไปอยู่ที่อื่น บางรายก็ไปหางานทำที่กรุงเทพฯ ทำให้เหลือเพียง 16 หลังคาเรือนเท่านั้น ที่ดินที่มอบให้ 5 ไร่ก็ทำการปลูกพืชอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากปลูกมะม่วงหินพานต์ปีไหนราคาดีก็ได้เงินมากหน่อยปีไหนแย่ก็เดือดร้อน ต้องไปรับจ้างมาเงินมาจุนเจอครอบครัว การขนส่งก็ลำบากต้องใช้วิธีการแบกออกมาจากสวน ร้องขอให้หน่วยงานมาสร้างถนนลูกรังให้ก็เงียบหาย” นายปรีชา กล่าว
ด้านนายประสงค์ อุไรวรณ์ นายอำเภอท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า อ.ท่าปลา ประกาศภัยพิบัติแล้งไปแล้ว 6 ตำบล 79 หมู่บ้าน จากทั้งหมด 8 ตำบล 85 หมู่บ้าน กล่าวว่า อ.ท่าปลา เป็นพื้นที่ที่แล้งซ้ำซากติดต่อกันมานานหลายสิบปีแล้ว อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เจ้าหน้าที่ปกครอง ก็พยายามให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาให้หมดไปได้ เพราะต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการแก้ไข แม้จะมีอ่างเก็บน้ำในเขื่อนสิริกิติ์แต่ก็แทบจะไม่นำน้ำมาใช้ประโยชน์ได้ เลย
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะ