จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
อินโดฯประกาศนำเข้าลำไยไทย 2.5 หมื่นตัน หอมแดง 6 หมื่นตันในครึ่งปีแรก มกอช.ชี้โอกาสสินค้าหอมแดง-ลำไยไทยเข้าตีตลาดอินโดฯ ปลายเดือน มี.ค.นี้
นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน รองผู้อำนวยการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากนายชุมเจตน์ กาญจนเกสร ผู้อำนวยการสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียว่า กระทรวงเกษตรอินโดนีเซียได้ลงนามในประกาศใบแนะนำการนำเข้า(RIPH) สินค้าพืชสวนต่างๆ รวมทั้งลำไยและหอมแดงแล้ว โดยช่วงครึ่งปีแรกหรือตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2556 นี้ อินโดนีเซียจะนำเข้าสินค้าลำไยปริมาณ 25,000 ตัน และหอมแดง จำนวน 60,000 ตัน ซึ่งลำไยที่นำเข้าเกือบทั้งหมดเป็นสินค้าจากไทย และหอมแดงที่จะนำเข้า ประมาณ 50 % เป็นหอมแดงของไทยด้วย
ผู้นำเข้าอินโดนีเซียจะนำใบแนะนำการนำเข้าจากกระทรวงเกษตร ไปยื่นขอใบอนุญาตนำเข้าที่กระทรวงการค้าของอินโดนีเซีย ซึ่งจะออกให้ภายใน 5 วัน คาดว่า ไทยจะสามารถส่งออกหอมแดงและลำไยไปยังอินโดนีเซียได้ภายในเดือนมีนาคมนี้ อย่างไรก็ตาม เมื่ออินโดนีเซียออกประกาศอย่างเป็นทางการแล้ว ขอ ให้ผู้ส่งออกของไทยประสานงานและติดตามรายละเอียดกับผู้นำเข้าของอินโดนีเซีย อย่างใกล้ชิดด้วย เพื่อจะปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและส่งออกทันตามเวลาที่กำหนด
"ที่ผ่านมาผู้ประกอบการและเกษตรกรไทยมีความกังวลต่อการส่งออกลำไยและหอมแดงมาก เนื่องจากอินโดนีเซียยังไม่ออกใบแนะนำการนำเข้าถึงแม้ผู้นำเข้าอินโดนีเซีย ได้ยื่นขอใบแนะนำการนำเข้าแล้ว ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงโยกย้ายผู้บริหารของหน่วยงานอินโดนีเซีย สำหรับการนำเข้าในช่วงครึ่งปีหลังทางอินโดนีเซียจะพิจารณาและประกาศอย่าง เป็นทางการอีกครั้ง ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้ไม่พลาดโอกาสในการส่งออก เพราะอินโดนีเซียมี การกำหนดปริมาณและช่วงเวลานำเข้าสินค้าโดยผู้ส่งออกจะไม่สามารถส่งออกสินค้า ได้หากผู้นำเข้าไม่ได้รับคำแนะนำการนำเข้าจากกระทรวงเกษตร และใบอนุญาตนำเข้า(Import Permit)จากกระทรวงการค้าอินโดนีเซียก่อน"
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าลำไยไปอินโดนีเซีย ประมาณ 70,000-100,000 ตัน/ปี คิดเป็นมูลค่า ประมาณ 1,500-2,000 ล้านบาท ส่วนสินค้าหอมแดงไทยมีการส่งออกไปยังอินโดนีเซีย ปริมาณ 20,000-30,000 ตัน/ปี มีมูลค่า ประมาณ 340-400 ล้านบาท
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต