สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คลังชงแผนเคลียร์หนี้จำนำข้าวแสนล้านใน 3 ปี

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

คลังชงแผนเคลียร์หนี้จำนำข้าวแสนล้านใน 3 ปี โดยให้นำเงินงบประมาณและจากการระบายข้าวมาชำระหนี้

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลที่มีนางสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน ได้ให้ความเห็นชอบแผนการจัดสรรงบประมาณชำระหนี้ สำหรับโครงการรับจำนำข้าวนาปี ปีการผลิต 2554/55 ภายในระยะเวลา 3 ปี หรือปีงบประมาณ 2557-2559 โดยไม่ต้องนำสินค้าคงเหลือมาหักจากภาระหนี้ และ ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ขอจัดสรรงบประมาณตามเงินที่ ธ.ก.ส.ได้จ่ายไป แต่หากมีการขายสินค้าแล้วได้เงินเมื่อใดให้นำเงินตัดชำระหนี้ต้นเงินที่คงเหลือ เพื่อให้ ธ.ก.ส. สามารถมีเงินทุนในการนำไปใช้จ่ายในโครงการรับจำนำอื่นๆ ได้

ทั้งนี้ โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2554/55 มีหนี้ต้นเงินกู้รวมทั้งสิ้น 117,796.66 ล้านบาท ดอกเบี้ย 6,820.67 ล้านบาท กำหนดแบ่งชำระปีที่ 1 (งบประมาณ 2557) เป็นต้นเงิน 58,898.33 ล้านบาท ดอกเบี้ย 4,012.16 ล้านบาท ปีที่ 2 (งบประมาณ 2558) ต้นเงิน 35,339 ล้านบาท ดอกเบี้ย 2,006.08 ล้านบาท และ ปีที่ 3 (งบประมาณ 2559) ต้นเงิน 23,559.33 ล้านบาท ดอกเบี้ย 802.43 ล้านบาท

รายงานข่าวกล่าวด้วยว่า จากการประชุมคณะอนุกรรมการปิดบัญชี จำนวน 5 ครั้ง ได้มีข้อสังเกตว่า เพื่อให้การดำเนินงานโครงการรับจำนำผลิตผลการเกษตรมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น และเป็นการป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดความเสียหายจากการดำเนินเงินโครงการรับจำนำ จึงควรกำหนดมาตรการเพิ่มเติม เช่น 1.ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควรมีระบบจัดทำทะเบียนเกษตรกรที่เป็นจริงและเป็นปัจจุบัน เพื่อให้ทราบถึงพื้นที่เพาะปลูก และปริมาณผลผลิตที่เกษตรกรควรได้รับแต่ละราย

2.เจ้าหน้าที่ ที่รับขึ้นทะเบียน จะต้องมีการสำรวจพื้นที่จริงอย่างน้อย 20% ของเกษตรกรที่รับขึ้นทะเบียน เพื่อป้องกันการสวมสิทธิของเกษตรกร 3.ควรกำหนดมาตรการเข้มงวดในการควบคุมการสีแปรข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร และกำหนดบทลงโทษ เช่น นำข้าวเปลือกไปสีแปรแล้ว 3 วัน ไม่ส่งมอบต้องถูกปรับในอัตราสูง

4.ควรมีการบริหารจัดการข้าวที่ดี ให้ขายข้าวที่รับจำนำปีต่อปี และกำหนดให้โกดังกลางต้องมีมาตรฐานและติดตั้งกล้องวงจรปิด แล้วเชื่อมโยงมายังศูนย์ควบคุมส่วนกลาง เพื่อตรวจสอบข้าวในโกดังได้ตลอดเวลา ไม่ให้นำข้าวสารในโกดังไปขายแล้วเปลี่ยนข้าวคุณภาพต่ำมาเก็บแทน

รายงานข่าวยังกล่าวถึงการกู้เงินของรัฐบาล เพื่อโครงการรับจำนำผลิตผลการเกษตรของรัฐบาล ในฤดูการผลิต 2554/2555 และฤดูกาลผลิต 2555/2556 ว่า ในฤดูกาลผลิต 2554/2555 รัฐบาลได้อนุมัติวงเงินกู้รวมทั้งสิ้น 269,160 ล้านบาท ในจำนวนนี้ ได้ดำเนินการกู้ในปีงบประมาณ 2555 ซึ่งสิ้นสุด ณ เดือนกันยายน 2555 ไปแล้ว 215,750 ล้านบาท และวางแผนการกู้เพื่อนำมาใช้ในส่วนของข้าวนาปรังที่คาบเกี่ยวมาในต้นปีนี้ อีก 53,410 ล้านบาท โดยแผนการกู้ 53,410 ล้านบาทดังกล่าว อยู่ในปีงบประมาณ 2556 และจนถึงขณะนี้ได้กู้จากวงเงินนี้ไปแล้ว 49,572 ล้านบาท

ส่วนฤดูกาลผลิต 2555/2256 ได้กำหนดแผนเงินกู้ในปีงบประมาณ 2556 ไว้จำนวน 140,840 ล้านบาท จนถึงขณะนี้ ได้จัดหาเงินกู้สำหรับการรับจำนำข้าวนาปี ฤดูกาลผลิต 55/56 ในวงเงิน 37,428 ล้านบาท และวงเงินสำหรับรับจำนำยาง ในวงเงิน 5 พันล้านบาท รวม 42,428 ล้านบาท


พาณิชย์แจงสี่เบี้ยเงินรับจำนำข้าว

จาก โพสต์ทูเดย์

โครงการรรับจำนำข้าวเปลือกฤดูกาลล่าสุด คาดว่า จะใช้งบประมาณ 2.97 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อนหน้าที่ใช้ 3.3 แสนล้านบาท

นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การประชุมคณะอนุกรรมการจัดทำบัญชีหมุนเวียนและกรอบวงเงินโครงการรับจำนำข้าว เปลือกฤดูกาล 2555/2556 ร่วมกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เกี่ยวกับกรอบวงเงินที่ใช้ในการรับจำนำข้าว ฤดูกาล 2555/2556 ที่คาดว่าจะใช้รวม 2.97 แสนล้านบาท แบ่งเป็น วงเงินรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2555/2556 จำนวน 1.97 แสนล้านบาท และรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง 1 แสนล้านบาท ต่ำกว่าการรับจำนำข้าวเปลือกฤดูกาล 2554/2555 ที่ใช้ 3.3 แสนล้านบาท

สาเหตุที่วงเงินรับจำนำข้าวลดลง เพราะคาดว่าข้าวเปลือกนาปรังที่จะเข้าโครงการปีนี้ช่วงเดือน พ.ค.มิ.ย. ลดลงเหลือแค่ 6 ล้านตัน จากเดิมที่คาดว่าจะมีผลผลิต 9-10 ล้านตัน เนื่องจากปัญหาภัยแล้งในหลายพื้นที่ ทำให้ใช้เงินรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังแค่ 1 แสนล้านบาท จากเดิมคาดว่าจะใช้ 1.5 แสนล้านบาท หรือลดลง 5 หมื่นล้านบาท

สำหรับที่มาของวงเงินที่ใช้รับจำนำข้าวเปลือกฤดูกาล 2555/2556 จะมาจากเงินกู้ของ สบน. 1.4 แสนล้านบาท ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไว้ ที่เหลือจะใช้เงินจากการขายข้าวในสต๊อกรัฐบาล ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ยืนยันว่าจนถึงสิ้นเดือน ก.ย. 2556 จะสามารถส่งเงินคืนกระทรวงการคลังทั้งหมด 1.8 แสนล้านบาท โดยเป็นเงินจากการขายข้าวสต๊อกรัฐบาลที่ได้จากโครงการรับจำนำข้าวนาปี 2554/2555 และข้าวนาปรัง 2555 เพื่อนำเงินมาใช้รับจำนำข้าวเปลือกฤดูกาล 2555/2556 ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ได้รับรายงานจากกรมการค้าต่างประเทศ ว่า ได้ขายข้าวในสต๊อกรัฐบาลรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ออกไปจำนวนมากแล้ว เหลือสต๊อกเก่าจากปี 2554/2555 เพียงแค่ 5 ล้านตันเท่านั้น จึงเชื่อว่าเงินที่ส่งคืนอีก 1.8 แสนล้านบาท รวมกับเงิน สบน. 1.4 แสนล้านบาท จะเพียงพอต่อการใช้รับจำนำข้าวฤดูกาล 2555/2556


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view