จาก โพสต์ทูเดย์
โดย....ทีมข่าวภูมิภาค
เขาอาจไม่ใช่แกนนำ มันสมองระดับยุทธศาสตร์ในการกำหนดสารพัดนโยบาย ประชานิยม ในยุคแรกที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร บุกเบิกพรรคไทยรักไทย(ทรท.) แต่การเป็นส.ส.บ้านนอก พื้นเพชาวอ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา ทำให้เข้าใจคนรากหญ้าเป็นอย่างดี เมื่อนโยบายพรรคไทยรักไทย กำหนดชาวบ้านรากหญ้าเป็นกลุ่มเป้าหมาย เขาย่อมมองเห็นข้อเท็จจริงที่อยู่อีกด้านหนึ่งนอกเหนือจากการประชาสัมพันธ์ของพรรค
หลังการเลือกตั้งในปี 2548 เกรียงไกร ไชยมงคล อดีตส.ส.พะเยา วางมืองานการเมืองระดับชาติ กลับมาเป็นเกษตรกร ทำนา ในพื้นที่อ.ดอกคำใต้บ้านเกิด วันนี้เขาเป็นแกนนำชาวนาในพื้นที่ยื่นฟ้องรัฐบาลฐานฉ้อโกงเงินค่าจำนำข้าว มุมมองต่อนโยบายประชานิยมแบบทักษิณคิดเพื่อไทยทำของเขานั้นมีมุมมองน่าสนใจอย่างยิ่ง
ถาม : เมื่อครั้งร่วมงานกับ "ไทยรักไทย"มองนโยบายประชานิยมรุ่น "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" เป็นอย่างไร?
"ผมมองว่าพรรคเลือกคนไม่เป็น เหตุผลเพราะว่าเลือกคน(ส.ส.)โดยไม่ได้มีการคัดกรอง หมายถึง จะเลือกบุคคลที่มีความรู้ คนที่มีทรัพย์สิน เป็นพ่อเลี้ยง และคนที่มีอิทธิพลในพื้นที่ในหมู่บ้าน อำเภอ จังหวัด จะเลือกบุคคลเหล่านี้ ถือว่าเป็นข้อบกพร่องของพรรคการเมืองหรือรัฐบาล(ทรท.)ที่เลือกคนไม่เหมาะสมเข้ามาทำงานบริหาร คนเรียนจบระดับดอกเตอร์ เกลื่อนอยู่ในพรรคเต็มเลย แต่ว่าทำงานภายใต้แนวคิดเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม นโยบายก็เลยไปไม่ถึงดวงดาว
ตัวนโยบายประชานิยมก็ไม่เสียหายซะทีเดียว ตัวอย่างเมื่อครั้งแรกปี 2544 นโยบายกองทุนหมู่บ้านผมคิดว่าดี แต่ความบกกพร่องหรือข้อสังเกตที่เกิดขึ้นมาจาก"พรรค" เนื่องจากเมื่อนโยบายกองทุนหมู่บ้านฯออกมาแล้วไม่ไม่มีกระบวนการติดตามประเมินผล ว่าประชาชนนำเงินมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างไรบ้าง ความเป็นจริงส่วนหนึ่งคือเงินกองทุนฯ ถูกนำไปใช้กิน เที่ยว หรือซื้อสิ่งของฟุ่มเฟือย ไม่เกิดประโยชน์ พรรคไม่ได้มีการประเมินผล เพราะฉะนั้นเลยไม่รู้ว่านโยบายดังกล่าวดีหรือไม่
นโยบายสามสิบสามรักษาทุกโรค เมื่อเทียบกับที่ประชาชนไม่จ่ายสามสิบบาทสิ่งที่ประชาชนขอไม่จ่ายถือว่าดีกว่า หรือหากจะมองในแง่ดีของสามสิบบาทฯ คือ มีเงินเหลือให้ประชาชนซื้อยาพาราเซตามอลบ้างเท่านั้นเอง ทั้งหมดทั้งมวลที่ส่งผลให้นโยบายไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เกิดประสิทธิผลดีตามที่ควรจะเป็น เพราะ "คน" ที่เกี่ยวข้อง ตัวนโยบายน่ะดี แต่คนไม่ดี"
ถาม : ถ้าจะบริหารนโยบายให้ดี ควรทำอย่างไร?
"คนที่ทำงานหรือนำนโยบายไปปฏิบัติ ถ้าจะดีต้องยึดหลักฆราวาสธรรม ประกอบด้วย สัจจะ ธรรมะ สันติ จาคะ ต้องมีความจริงใจ ข่มใจในกิเลส ยศถาบรรดาศักดิ์ต้องตัดออก การไปทำงานให้ชาวบ้านต้องตัดเรื่องนี้ออกให้หมด ต้องมีขันติ คือ อดทนต่องานทุกสภาวะ ต้องมีความจริงใจในการทำงาน คนที่เป็นกรรมการพรรค กรรมการยุทธศาสตร์ ส.ส. ต้องข่มใจให้ได้ มีความอดทน มีความจริงใจ การให้ซึ่งไม่ใช่การนำเงินมาแจก แต่ต้องให้ความคิด ความพร้อมแก่ชุมชน ประชาชน ให้ประชาชนพร้อมที่จะรับอย่างมีสติและวินัยการใช้เงิน เมื่อนักการเมืองหรือ ส.ส.ขาดฆราวาสธรรม จึงส่งผลต่อการทำงานของพรรคการเมือง ก็พบกับมุมอับไปด้วย เอาเงินมาลงแล้วตกเบ็ด
การจัดการ ต้องแบ่งออกเป็น ระยะยาว ปานกลาง เร่งด่วน แต่พรรคไม่ได้วางระบบเช่น โดยเฉพาะคนที่ใกล้ชิดนายใหญ่ จะไม่รู้เรื่องอะไรมากนัก นอกจากไม่รู้แล้วยังก้าวก่ายจึงทำให้งานสะดุด ฉะนั้นจำเป็นต้องนำคนที่มีความสามารถเรื่องงบประมาณ การใช้เงินมาทำงาน ซึ่งถ้ารัฐบาลที่ใช้เงินเป็น ไม่ต้องยืม ไม่ต้องกู้ก็ได้ อยู่ที่จิตสำนึกไม่ใช่การนำเงินมาแบ่งกันเอาไปหาเสียง ตรงนี้หมายถึงรัฐบาลทุกชุด ถ้าการบริหารงานงบประมาณมีความโลภ โกรธ หลง จะทำให้เกิดความล่มจ่ม
เครื่องมือในการบริหาร เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) หน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่มีอยู่นั้น มีเครื่องมือพร้อม แต่รัฐบาลมองข้ามไม่เรียกใช้ ทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ตรงนี้อาจจะหมายถึงการกระจายอำนาจด้วย คือ กระจายอำนาจมาให้แก่ท้องถิ่น เช่น อบจ. เทศบาล อบต. ทั้งงบประมาณ อำนาจการบริหารงาน ไม่ควรกระจุกหรือรวบอำนาจรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง"
ถาม : กำลังจะบอกว่ารัฐบาลควรเร่งดำเนินการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น?
"แน่นอนที่สุด และควรทำให้จริงจัง สังเกตว่าที่ผ่านมาเงินอุดหนุให้ อปท.ร้อยละ 35 ตามรัฐธรรมนูญก็ยังโอนให้ อปท.ทั่วประเทศไม่ครบ ซึ่งต้องทำให้เร็วเพื่อแสดงความจริงใจต่อท้องถิ่น เพราะท้องถิ่นมีความต้องการมาก เมื่อมีงบฯเพียงพอท้องถิ่นสามารถแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ทันที เช่น เรื่องน้ำท่วม ท้องถิ่นแก้ไขได้เองไม่ต้องรัฐบาลกลางเลย
กระจายอำนาจมาให้ท้องถิ่นจัดการแทน ทั้งนโยบายประชานิยม ท้องถิ่นก็ทำได้ ไม่ต้องให้ รัฐมนตรีมาทำ ต้องดำเนินการใหม่ พรรคใดที่เข้ามาเป็นรัฐบาลต้องเข้ามาวางแผนใหม่ให้ความสำคัญกับท้องถิ่นและกระจายอำนาจจริง ๆ"
ถาม : คิดว่านโยบายประชานิยมเป็นดาบสองคมหรือไม่?
"ผมมองนโยบายประชานิยมเป็นดาบสองคม คือ คมแรกด้านบวก ถ้าใช้ดีก็เกิดผลนั่นคือการเตรียมความพร้อมของประชาชน ชุมชน ที่พร้อมกับการเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อนโยบายประชานิยมใด ๆ แต่หากคมที่สองผลลบ คือ ไม่มีการเตรียมความพร้อมให้แก่ประชาชน เช่น นโยบายกองทุนหมู่บ้าน ฯ ไม่มีการเตรียมความพร้อมประชาชนเรื่องวินัยการใช้เงิน การบริหารเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด เมื่อเงินถึงมือประชาชนอย่างแท้จริง ก็จะทำให้นโยบายถูกนำไปใช้เกิดผลกระทบต่อประชาชนหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง กลายเป็นว่านโยบายไม่ดี"
ถาม : คิดว่านโยบายจำนำข้าวดีหรือไม่?
"นโยบายจำนำข้าว หากมองในส่วนของตัวนโยบายถ้ามีการใช้งบประมาณไม่สุรุ่ยสุร่ายก็ไม่มีปัญหา ไม่เกิดความเสียหาย ถือว่าเป็นนโยบายที่ใช้ได้เหมือนกัน แต่ที่พบในความเป็นจริงคือเงินในโครงการจำนำข้าวถูกนำออกจากระบบไปสู่มือของนายทุน ไปต่างประเทศ ทำให้เงินหายออกไปจากโครงการ จนเกิดความเสียหายขาดทุนมหาศาล ชาวนาอีกจำนวนมากไม่ได้รับเงินค่าจำนำข้าว เพราะการบริหารงบประมาณมีข้อบกพร่อง
การจำนำหากนำข้าวหรือผลผลิตการเกษตรของชาวบ้านจริงจะดีมาก โดยที่ไม่นำผลผลิตการจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาสวมสิทธิ์ในโครงการ เช่น ข้าว ข้าวโพด ฯลฯ ซึ่งความจริงหารัฐมีนโยบายประกันราคาผลผลิตการเกษตรจะดีมาก แต่ต้องวางระบบให้ดี ไม่ให้มีการโกง หรือทุจริตเกิดขึ้น จะเกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย
ขณะนี้เปรียบได้ว่ารัฐบาลมีความผิดกฎหมายจำนำ ไปถามทุก อปท.ได้เลย ซึ่งการซื้อถูก ขายแพง มีกำหนดวันรับจำนำ วันขายคืนพร้อมดอกเบี้ย แต่การจำนำข้าวครั้งนี้คือการซื้อแพงขายถูก ไม่ใช่การจำนำโดยภาพรวมนโยบายไม่มีปัญหา แต่มีปัญหาที่กระบวนการบริหารจัดการเท่านั้น เพื่อบริหารจัดการไม่ดี เปิดช่องให้ทุจริต โกง สารพัด เพราะรัฐบาลมองว่าประชาชนอยู่ดี ๆ ก็ได้เงินแล้วใครจะไม่อยากรับ แต่ไม่เข้าใจเรื่องการให้อย่างเกิดประโยชน์ที่ควรจะเป็น แต่เป็นการให้โดยผู้ให้กลับเข้าไปฉกฉวยหาผลประโยชน์คืนมาจากผู้รับอีก เหมือนการทำนาบนหลังคน ไม่ควรเกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้น
ถาม : จาก"ทักษิณ"มาถึง"ยิ่งลักษณ์" มีข้อเสนอใดบ้างที่มองว่าเป็นทางออก
"เมื่อครั้งทำหน้าที่ ส.ส.จังหวัดพะเยา ผมได้สะท้อนให้พรรค(ทรท.)ที่สังกัดรับทราบ สะท้อนถึงในการประชุมสภาด้วย เรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ ควรใช้ให้เกิดการพัฒนาในสังคม แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง และไม่มีการดำเนินการใดๆ
นโยบายจากรุ่น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาถึงยุคของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะเกิดปัญหาตลอด มีข้อสังเกตที่สะท้อนถึงแนวทางออก ซึ่งต้องออกตัวก่อนว่าด้วยความนับถือต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในการแสดงความคิดเห็นต่อการทำงานของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า ยังคงต้องเรียนรู้และฝึกฝนอีกมาก เพราะหากสังเกตจากองค์ประกอบหลักในการบริหารคือ การใช้คนทำงานเข้าเป็นรัฐมนตรี ฝ่ายบริหาร จะพบว่ามีการเปลี่ยนตัวหลายครั้งและบ่อย แสดงให้เห็นว่าใช้คนไม่เหมาะสมกับงาน
การใช้เงิน ใช้งบประมาณไม่เหมาะสมหลายเรื่อง นำเงินไปหล่นหายในนโยบายจำนำข้าวหลายแสนล้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่นายกฯจะต้องกำกับโดยตรง เมื่อเกิดสิ่งใดขึ้นก็ต้องกล้ายอมรับความจริง ทางที่ดีที่สุดคือ ควรหลีกทางให้ผู้อื่น เพราะคนที่มีกรอบวินัยการบริหารจะทำให้เกิดการทำงานที่ดีขึ้น เป็นการแสดงถึงสปิริตด้วย ยอมรับตัวเองอย่างกล้าหาญว่ามีภูมิเท่าใดก็ต้องรับได้เพียงเท่านั้น ไม่ควรฝืนหากจะเกิดความเสียหาย
ฉะนั้นอย่าดื้อดึง และคิดว่าหากยิ่งลักษณ์หลีกทางปัญหาจะจบ เพราะจะมีกระบวนการใหม่ ๆ เกิดขึ้นในการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สังเกตได้จากอธิการบดีมหาวิทยาลัยจำนวนมาออกมาแสดงจุดยืนร่วมกัน ขอให้มีการปรับโครงสร้างการบริหารประเทศภายใต้ประชาธิปไตยที่มีส่วนร่วม เพื่อบ้านเมืองที่ดีขึ้น ซึ่งไม่เกี่ยวกับศักดิ์ศรี ซึ่งขอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล้าที่จะตัดสินใจด้วยตนเอง เพื่อความอยู่รอดของบ้านเมืองในครั้งนี้"
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต