สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หนอนกระทู้กล้าจะมาหลังน้ำท่วม - ทิศทางเกษตร

จาก เดลินิวส์ออนไลน์

รายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า เมื่อไม่กี่วันมานี้หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคกลางได้พบการระบาดของแมลงศัตรู พืชที่ทำลายต้นข้าวจำนวน 2 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ หนอนกระทู้กล้า ซึ่งพบการระบาดในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี 800 ไร่ ลพบุรี 5,000 ไร่ และอ่างทอง 6,524 ไร่ รวมพื้นที่การระบาดทั้งสิ้น 12,324 ไร่ ขณะที่เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลตัวเต็มวัยในระยะมีปีก ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคกลาง รวม 7,266 ไร่ แบ่งเป็น ปทุมธานี 2,750 ไร่ นครนายก 2,000 ไร่ ชัยนาท 1,400 ไร่ และปราจีนบุรี 1,116 ไร่ รวมเป็นพื้นที่การระบาด 7,266 ไร่

โดยมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการระบาดรุนแรงในเบื้องต้น แม้ว่าขณะนี้ทางจังหวัดที่พบการระบาดของศัตรูพืชทั้ง 2 ชนิด ยังไม่ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยเนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ได้รับคำแนะนำ เบื้องต้นจากเกษตรอำเภอในการใช้สารเคมีควบคุมพื้นที่ระบาดรุนแรงแล้ว พร้อมปล่อยมวนเพชฌฆาตในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง จำนวน 20,000 ตัว เพื่อควบคุมหนอนกระทู้กล้า

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ได้ให้คำแนะนำป้องกันและแก้ไขปัญหา การระบาดสำหรับหนอนกระทู้กล้าว่าเกษตรกร ควรหมั่นสำรวจแปลงนาสม่ำเสมอ และกำจัดวัชพืชรอบแปลงนาเพื่อทำลายที่หลบซ่อนของตัวหนอน  ถ้าสามารถทดน้ำเข้าแปลงนาได้ ให้ทดน้ำให้ท่วมยอดต้นข้าวแล้วกวาดตัวหนอนไปทำลาย กองเศษหญ้า เศษฟางข้างแปลงเพื่อล่อตัวหนอนเข้าไปหลบแดดแล้วเก็บตัวหนอนทำลาย

สำหรับหนอนกระทู้กล้านั้นจะทำความเสียหายแก่ต้นข้าวในระยะกล้า เพราะตัวหนอนเกิดเป็นจำนวนมากและมีนิสัยชอบเดินทางเป็นกลุ่มคล้ายกองทัพ สามารถเข้าทำลายกล้าข้าวอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว ความเสียหายที่เกิดขึ้นมักจะเกิดในท้องที่เดิมซ้ำ ๆ กันทุก ๆ 3-4 ปี ตัวหนอนเมื่อยังเล็กมองเห็นได้ยาก ในระยะแรกจะกัดกินผิวใบ เมื่อโตขึ้นจึงเริ่มกัดกินใบข้าวทั้งใบ เหลือไว้แต่ก้านใบโผล่อยู่เท่านั้น และจะกัดกินลำต้นกล้าระดับพื้นดิน ทำให้มีลักษณะเหมือนควายกิน ความเสียหายทั้งหมดอาจเกิดขึ้นภายใน 1-2 วันเท่านั้น ตามปกติหนอนจะกัดกินข้าวในเวลากลางคืน ส่วนตอนกลางวันมักจะลงกินหญ้าตามคันนาก่อน แล้วจึงลุกลามเข้าไปในแปลงกล้า บางปีทำความเสียหายมากจนเกษตรกรไม่มีพันธุ์ข้าวจะปลูก การระบาดของแมลงชนิดนี้มีความสำคัญเพิ่มขึ้นในการทำนาหว่านน้ำตม การระบาดของแมลงจะระบาดในพื้นที่กว้างขวางขณะที่ข้าวยังเล็ก

หนอนกระทู้กล้าเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่มีความยาวประมาณ 40 มิลลิเมตร ด้านบนของตัวหนอนมีสีน้ำตาลแก่และมีลายตามความยาวของลำตัว 3 เส้น ด้านล่างของหนอนมีสีน้ำตาลอ่อน ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนมีสีเทาปนน้ำตาล ความกว้างของปีกเมื่อกางออกประมาณ 35-40 มิลลิเมตร ชีพจักรของหนอนกระทู้กล้าแตกต่างกันไปตามท้องที่ มีรายงานพบว่าตัวเต็มวัยเพศเมีย วางไข่เป็นกลุ่ม กลุ่ม ละ 15-20 ฟอง โดยไข่จะถูกวางที่ยอดอ่อน ของข้าว ระยะไข่ 3-5 วัน อายุหนอนประมาณ 3 สัปดาห์ และระยะดักแด้ประมาณ 10 วัน

ส่วนเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เป็นแมลงจำพวกปากดูด ตัวเต็มวัยมีลำตัวสีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลปนดำ มีรูปร่าง 2 ลักษณะ คือ ชนิดปีกยาว และชนิดปีกสั้น ชนิดมีปีกยาวสามารถเคลื่อนย้ายและอพยพไปในระยะทางใกล้และไกล โดยอาศัยกระแสลมช่วย ตัวเต็มวัยเพศเมียจะวางไข่เป็นกลุ่ม ส่วนใหญ่วางไข่ที่กาบใบข้าว หรือเส้นกลางใบ โดยวางไข่เป็น กลุ่ม เรียงแถวตามแนวตั้งฉากกับกาบใบข้าว บริเวณที่วางไข่จะมีรอยช้ำเป็นสีน้ำตาล ไข่มีลักษณะรูปกระสวยโค้งคล้ายกล้วยหอม มีสีขาวขุ่น ตัวอ่อนมี 5 ระยะ ระยะตัวอ่อน 16-17 วัน ตัวเต็มวัยเพศเมียชนิดปีกยาวมีขนาด 4-4.5 มิลลิเมตร วางไข่ประมาณ 100 ฟอง เพศผู้มีขนาด 3.5-4 มิลลิเมตร เพศเมียชนิดปีกสั้น วางไข่ประมาณ 300 ฟอง ตัวเต็มวัยมีชีวิตประมาณ 2 สัปดาห์ ในหนึ่งฤดูปลูกข้าวเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลสามารถเพิ่มปริมาณได้ 2-3 อายุ

การแพร่กระจายของหนอนกระทู้กล้าและเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลนั้นจะอาศัยลมพัด พาตัวแก่บินไปในระยะทางไกล ๆ ในบางท้องที่พบระบาดรุนแรงภายหลังจากน้ำท่วม.


รักษ์ไม้,ไม้เก่าเขาใหญ่,ปุ๋ยอินทรีย์,มูลไส้เดือนดิน

Tags : หนอนกระทู้กล้า จะมาหลังน้ำท่วม ทิศทางเกษตร

view
Top