สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิกฤต “เอทานอล” ล้นตลาด 3 ล้านลิตร

จากประชาชาติธุรกิจ

ทีพีเค-พรวิไล เตรียมเดินเครื่อง ดันยอดผลิตเอทานอลล้นทะลัก 7 ล้านลิตร แต่ราคาแพงสวนทางที่ 23 บาท/ลิตร ดีมานแค่ 4 ล้านลิตร เอกชนดิ้นหาตลาดส่งออกเช่นจีน พพ.แจงต้นทุนผลิต 80% มาจากวัตถุดิบ

นายพิพัฒน์ สุทธิวิเศษศักดิ์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปริมาณการผลิตเอทานอลในประเทศกำลังเข้าสู่ภาวะ “ล้นตลาด” จากช่วงปลายปี”60 ที่ล้นระบบอยู่แล้วราว 6 ล้านลิตร/วัน และในช่วงไตรมาส 3 ของปี”61 นี้ จะมีกำลังผลิตใหม่เข้ามาเพิ่มเติม ส่งผลให้ปริมาณเอทานอลเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 7 ล้านลิตร/วัน ขณะที่ความต้องการใช้มีเพียง 4 ล้านลิตร/วัน เท่ากับว่าล้นตลาดอยู่ถึง 3 ล้านลิตร/วัน

โดยกำลังผลิตใหม่มาจาก 1) บริษัท ที พี เค เอทานอล จำกัด ในเฟสที่ 2-3 กำลังผลิต 680,000 ลิตร/วัน และบริษัท พรวิไล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กำลังผลิต 25,000 ลิตร/วัน จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้ผลิตบางรายโรงต้องหยุดเดินเครื่อง หรือเดินเครื่องผลิตเพียงร้อยละ 50 ของศักยภาพที่มีอยู่ และบางโรงเดินเครื่องตามคำสั่งซื้อของลูกค้าเท่านั้น และเพื่อให้แต่ละโรงงานระบายเอทานอลได้นั้นจึงมีการขาย “ตัดราคา” ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาประกาศของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ที่ 23.59 บาท/ลิตร

เหตุผลที่ผู้ประกอบการลงทุนสร้างโรงงานเอทานอลนั้น มาจากนโยบายที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ปี 2558-2579 วางเป้าหมายว่าในปี 2579 จะมีความต้องการใช้เอทานอลที่ 11.30 ล้านลิตร/วัน และมีแผนที่จะยกเลิกน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 เพื่อให้ผู้บริโภคหันมาใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 แทน แต่ปัจจุบันยังไม่มีการยกเลิกแต่อย่างใด

นายพิพัฒน์กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า แม้ว่าเอทานอลจะล้นตลาด แต่มีการตั้งข้อสังเกตว่าราคาเอทานอลยังแพงเกือบเทียบเท่าน้ำมันปกตินั้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตเอทานอลร้อยละ 80 และการส่งเสริมเอทานอลนั้นภาครัฐต้องการช่วยเหลือเกษตรกรให้ราคาพืชผลอยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งหากไม่มีตลาดพลังงานรองรับ ราคาพืชผลทางการเกษตรอาจมีราคาต่ำลงกว่านี้ได้ ปัจจุบันวัตถุดิบในการผลิตเอทานอลหลัก ๆ อยู่ที่กากน้ำตาล (โมลาส) ปัจจุบันราคาอยู่ที่ 3.5-3.8 บาท/กิโลกรัม และมันสำปะหลังราคาอยู่ที่ 3 บาท/กิโลกรัม

“การส่งเสริมเอทานอลจะดีต่อประเทศในระยะยาว ช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบเพื่อรองรับความต้องการใช้มากขึ้น หากไม่ส่งเสริมทั้งประเทศและเกษตรกรไม่ได้ประโยชน์อะไรในกรณีนี้เมื่อราคาน้ำมันตลาดโลกลดลงอย่างมาก ก็มาตั้งถามถึงราคาเอทานอลว่าแพงไปหรือไม่ และลืมไปว่าในช่วงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลนั้น ผู้บริโภคก็หาพลังงานทางเลือกที่ถูกกว่าโดยเฉพาะการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่ผสมเอทานอลตั้งแต่ 10% 20% และ 85%”

ด้านแหล่งข่าวจากวงการผู้ผลิตเอทานอล กล่าวว่า สำหรับโรงงานเอทานอลเฟส 2 และ 3 ของบริษัทที พี เค เอทานอล จำกัด ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างจากเดิมจะต้องเริ่มผลิตเอทานอลตั้งแต่ช่วงปี 2560 แต่เนื่องจากปริมาณเอทานอลในระบบสูงมาก จึงขยับเลื่อน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มผลิตในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ โดยจะเดินเครื่องตามคำสั่งซื้อของลูกค้าเป็นหลัก และเตรียมที่จะส่งออกไปยังต่างประเทศเช่น จีน

ขณะที่นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)กล่าวว่า อุตสาหกรรมเอทานอลเป็นธุรกิจเสรี ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอใบอนุญาตได้ที่กระทรวงอุตสาหกรรม ส่วนในกรณีที่ต้องการผลิตเอทานอลเพื่อเป็นเชื้อเพลิงจะต้องขออนุญาตที่กรมธุรกิจพลังงานด้วย ต้องยอมรับว่าขณะนี้ปริมาณเอทานอลในระบบล้นมาก หลายโรงงานใช้วิธีการส่งออกเอทานอลไปต่างประเทศ หรือปรับเกรดเอทานอลให้สามารถป้อนอุตสาหกรรมอาหารได้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ราคาเอทานอลที่จำหน่ายในประเทศมีราคาสูงกว่าราคาตลาดโลกนั้น เนื่องจากวัตถุดิบคือทั้งโมลาสและมันสำปะหลังมีราคาสูง จึงทำให้ต้นทุนการผลิตเอทานอลสูงตามไปด้วย

โดยหากผลิตเอทานอลจากโมลาสต้องใช้โมลาสถึง 4 กิโลกรัมเพื่อผลิตเป็นเอทานอล 1 ลิตร ซึ่งราคาโมลาสอยู่ที่ประมาณ 3 บาทกว่า/กิโลกรัม เมื่อเปรียบเทียบกับการผลิตในต่างประเทศอย่างสหรัฐ หรือบราซิลมีต้นทุนที่ต่ำกว่าไทยมาก เนื่องจากเป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรม (GMO) ราคาเอทานอลจึงต่ำมากเพียง 15 บาท/ลิตรเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในอนาคตความต้องการใช้เอทานอลเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะภาครัฐยังคงสนับสนุนราคาแก๊สโซฮอล์ให้มีราคาต่ำกว่าน้ำมันปกติด้วย


#eosgear,#ถุงมือกันบาด,#อะไหล่ victorinox, #victorinox มือสอง,#มีดเดินป่า ตราจรเข้,#Ralph Martindale,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดภาวะวิกฤต

Tags : วิกฤต “เอทานอล” ล้นตลาด 3 ล้านลิตร

view