สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รัฐซื้อเวลาทำ SEA ตัดสินถ่านหินกระบี่-เทพา

จากประชาชาติธุรกิจ

แฟ้มภาพประกอบข่าว
รัฐพลิกเกมชงทำ SEA ผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ ผ่าทางตันโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา กระทรวงพลังงานตั้งทีมบุคคลที่ 3 เสนอแผนรับมือ 5 ปีกันไฟดับ ส่งไฟตรงจากขนอม-จะนะเข้าพื้นที่ท่องเที่ยว ดันโรงไฟฟ้าชีวมวล 3 จังหวัดชายแดนใต้ ธุรกิจ-โรงแรมประหยัดพลังงานตั้งรับ

การลงนามในบันทึกข้อตกลงระหว่าง นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กับเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเลกระบี่-เทพา ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นเพียงการ “ถอน” รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพาออกจากสำนักงานนโยบายและแผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) เท่านั้น แต่ตัวโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้ง 2 โรง “ยังไม่ยุติ” จนกว่าจะมีรายงานอีกชุดหนึ่ง คือ รายงานการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ออกมาชี้ขาดว่า พื้นที่จังหวัดกระบี่ กับ อ.เทพา จ.สงขลา มีความเหมาะสมที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่

แค่ยุติ EHIA แต่ไม่เลิกโครงการ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานการลงนามในบันทึกข้อตกลงข้างต้นเป็นเพียงการยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าระหว่างรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับเครือข่ายต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา ก่อนหน้าที่จะมีรัฐบาล คสช. เข้ามาบริหารประเทศ โดยรัฐบาลประยุทธ์มีการประชุมคณะกรรมการไตรภาคี ที่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ และนำมาซึ่งการประท้วง-ต่อต้านในพื้นที่ ในขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เจ้าของโครงการ ก็ยังคงเดินหน้าโครงการและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) พร้อมกับรณรงค์ เทคโนโลยีโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด

สำหรับสาระสำคัญของบันทึกข้อตกลงฉบับดังกล่าวกลับ “ผูกโยง” การเดินหน้าหรือยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา เข้ากับรายงานการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ หรือ strategic environmental assessment (SEA) กำหนดให้กระทรวงพลังงาน ดำเนินการให้มีการจัดทำรายงานฉบับนี้ให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 9 เดือน นับจากวันลงนามบันทึกข้อตกลง หากผลการศึกษาของรายงานออกมาว่า พื้นที่ในจังหวัดกระบี่ และ อ.เทพา มีความเหมาะสมที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็จะนำไปสู่การกลับมาทำรายงาน EHIA ฉบับใหม่ โดย “คนกลาง” ที่เป็นที่ยอมรับของทั้ง 2 ฝ่ายต่อไป แต่ถ้าผลการศึกษาการสร้างโรงไฟฟ้าไม่เหมาะสม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะต้องยุติการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้ง 2 พื้นที่ทันที

เรื่องใหม่แบบประเมิน SEA

สำหรับรายงานการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) สำนักงานนโยบายและแผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า เป็นการใช้กรอบแนวคิดและกระบวนการในการวิเคราะห์ ประเมินศักยภาพและข้อจำกัดของสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การพัฒนานโยบาย แผน แผนงานและโครงการขนาดใหญ่ในรายสาขา (sectoral based) หรือในเชิงพื้นที่ (area based) ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยบูรณาการมิติด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี และเปรียบเทียบทางเลือกในการตัดสินใจ เพื่อให้การตัดสินใจนั้นมีคุณภาพ รอบคอบ โปร่งใส และมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

โดยนางเสาวภา หิญชีรนันท์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบ การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สผ. กล่าวว่า ขณะนี้ สผ.กำลังอยู่ในระหว่างร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งใน พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะกำหนดเรื่องการจัดทำแบบการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์เอาไว้ด้วย คาดว่า “จะแล้วเสร็จเร็ว ๆ นี้” ซึ่งหมายความว่า รัฐบาลยังไม่มีแบบการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) อย่างเป็นรูปธรรม

ขณะที่ ดร.อนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมโครงการ กฟผ. กล่าวว่า ภายในสัปดาห์หน้า กระทรวงพลังงานจะจัดตั้งคณะทำงานที่มีตัวแทนจาก สผ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสรรหาบุคคลที่ 3 มาจัดทำแบบประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ โดยตัวแทนในการจัดทำแบบประเมิน SEA อาจจะมาจากภาคเอกชน หรือสถาบันการศึกษา หรือบริษัทที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะก็ได้

เมื่อกระทรวงพลังงานสรรหาคณะทำงานและจัดทำแบบประเมินได้แล้วก็จะเริ่มดำเนินการศึกษา โดยแบบประเมิน SEA จะเป็นการมองผลกระทบในหลายมิติ ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในภาพใหญ่ ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐที่เคยดำเนินการศึกษาแบบประเมิน SEA มาแล้วก็คือ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. ที่ได้ศึกษาความเหมาสมของพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง เป็นต้น

“กรณีที่แบบประเมิน SEA ระบุว่า พื้นที่ภาคใต้เหมาะสมที่จะพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหิน กฟผ.จะต้องจัดทำ EIA และ EHIA ซึ่งเมื่อประเมินจากสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว การพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินอาจจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยถึง 5 ปี” ดร.อนุชาตกล่าว

เตรียม 2 แผนแก้ไฟตกดับ

สำหรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้ล่าสุด ปรากฏมีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเกิดขึ้น (peak) ณ วันที่ 18 มีนาคม 2560 ที่ 2,624 เมกะวัตต์ (MW) ในขณะที่การผลิตไฟฟ้าในภาคใต้อยู่ที่ 2,788 MW โดยในส่วนนี้ต้องนำเข้าไฟฟ้าจากภาคกลางผ่านสายส่งถึง 460 MW “นั้นหมายความว่า ทุกครั้งที่เกิดช่วง Peak ภาคใต้มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดไฟฟ้าตกดับเป็นวงกว้างได้” การแก้ปัญหาด้านความมั่นคงไฟฟ้าจากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา กำลังผลิตรวม 2,800 MW ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าโครงการนี้จะยุติหรือเดินหน้าต่อไป อย่างน้อยอีก 9 เดือน

กระทรวงพลังงาน ร่วมกับ กฟผ. ได้จัดทำมาตรการเบื่องต้นที่เชื่อว่าจะรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคใต้อีก 5 ปีข้างหน้า เพื่อรอความชัดเจนของโครงการกระบี่-เทพา ด้วยการ เพิ่มจำนวนและขนาดของสายส่งแรงดันสูงเชื่อมโรงไฟฟ้าหลัก (ขนอม-จะนะ) ตรงเข้าสู่เมืองขนาดใหญ่ที่มีการใช้ไฟฟ้ามากบริเวณฝั่งทะเลอันดามัน และเชื่อมต่อกับสายส่งหลักจากภาคกลางที่ จ.สุราษฎร์ธานี และพัฒนาระบบสายส่งและโรงไฟฟ้าชีวมวลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะช่วยลดความต้องการไฟฟ้าที่ส่งจากโรงไฟฟ้าขนอม-จะนะได้

แหล่งข่าวจากสมาคมโรงแรมภาคใต้กล่าวว่า ปัจจุบันจังหวัดในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ส่วนใหญ่มีสถานประกอบการโรงแรมจำนวนมากโดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยวอย่าง ภูเก็ต กระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี ตรัง มีการใช้ไฟฟ้าในปริมาณที่สูง ดังนั้นโรงแรมรุ่นใหม่ ๆ จึงให้ความสำคัญกับการประหยัดพลังงานควบคู่ไปกับการลงทุนด้านระบบสำรองไฟและเครื่องปั่นไฟเป็นของตัวเองไว้รองรับในช่วงที่ปริมาณไฟฟ้าไม่เพียงพอไว้แล้ว


eosgear,#สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : รัฐซื้อเวลาทำ SEA ตัดสินถ่านหินกระบี่-เทพา

view