จากประชาชาติธุรกิจ
การเข้ามาของเว็บไซต์ช็อปปิ้งออนไลน์ใน “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เป็นการตอกย้ำอย่างดีว่า “ตลาดอีคอมเมิร์ซ” ในภูมิภาคนี้มีศักยภาพอยู่มาก โดยเฉพาะใน 6 ประเทศได้แก่ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ไทย, ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
บริษัท iPrice ซึ่งเป็นเว็บไซต์วิจัย ได้ทำรายงานผลศึกษาสภาพตลาดอีคอมเมิร์ซประจำปี 2017 ภายใต้ชื่อว่า “State of eCommerce” โดยวิเคราะห์ข้อมูลจากร้านค้าพันธมิตรกว่า 1,000 ร้านค้า
ในรายงานระบุว่า “ตลาดอีคอมเมิร์ซ” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีที่ผ่านมา มีมูลค่าตลาด หรือ gross merchandise value (GMV) สูงถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2015 ที่มีมูลค่าเพียง 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เรียกได้ว่ามีอัตราการเติบโตถึง 41% ในช่วงสองปีที่ผ่านมา
อธิบายได้ว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซชั้นนำต่าง ๆ มีความเคลื่อนไหวอย่างมากในปีที่ผ่านมา เช่น Amazon ที่ตัดสินใจเข้ามาทำตลาดอาเซียน การรุกตลาดอย่างหนักของ Shopee ที่มุ่งเน้นในการทำตลาดผ่านทางแอปพลิเคชั่น รวมถึง Lazada ที่สามารถทำยอดขายทะลุ 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในแคมเปญ online revolution และการเพิ่มเงินลงทุนของบริษัทจีน อย่าง Alibaba และ Tencent ที่พยายามจะขึ้นเป็นที่หนึ่งในภูมิภาคนี้ เป็นต้น
ช็อปผ่านโทรศัพท์มือถือพุ่ง 72%
วิจัย iPrice ฉบับนี้ มีหลายประเด็นน่าสนใจ เรื่องแรกสะท้อนว่า โทรศัพท์มือถือมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนักช็อปนิยมซื้อสินค้าออนไลน์จากโทรศัพท์มือถือมากกว่าคอมพิวเตอร์ โดย 12 เดือนที่ผ่านมา อัตราการใช้โทรศัพท์มือถือในการซื้อสินค้าออนไลน์ในเภูมิภาคนี้ มีผู้เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว่า 19% และปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 72%
โดยประเทศ “อินโดนีเซีย” มีการใช้โทรศัพท์มือถือช็อปปิ้งออนไลน์สูงที่สุด 87% ส่วน “ไทย” อยู่เป็นอันดับสองสัดส่วน 79% และอันดับที่ 3 ได้แก่ “ฟิลิปปินส์” 76% ขณะที่การช็อปปิ้งผ่านคอมพิวเตอร์ใน 6 ประเทศเฉลี่ยสัดส่วนเพียง 21%
“conversion rate” ไทยต่ำสุด
สำหรับเปอร์เซ็นต์ของผู้ที่เข้าชมเว็บไซต์และมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้า (conversion rate) ถือเป็นดัชนีสำคัญในการช่วยวัดผลสำหรับผู้เล่นในตลาดอีคอมเมิร์ซได้เป็นอย่างดี ทั้งการชี้วัดถึงคุณภาพของร้านค้า กิจกรรมส่งเสริมการขาย และประสิทธิภาพของเว็บไซต์
จากการศึกษาพบว่า “เวียดนาม” เป็นประเทศที่มี conversion rate สูงที่สุดใน 6 ประเทศ โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ย 30% สิงคโปร์มี conversion rate สูงเป็นอันดับสอง ใกล้เคียงกับอินโดนีเซีย ขณะที่ “ไทย” มี conversion rate ต่ำที่สุดอยู่ที่ 20%
อย่างไรก็ตาม พบว่า % ของผู้ที่เข้าชมเว็บจากคอมพิวเตอร์มีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าสูงกว่าผู้ที่เข้าชมผ่านโทรศัพท์มือถือ สาเหตุมาจากระบบคอมพิวเตอร์ที่เสถียรมากกว่า และสะดวกในการจ่ายมากกว่า โดยค่าเฉลี่ย conversion rate จากคอมพิวเตอร์เฉลี่ยทั้ง 6 ประเทศสูงกว่าโทรศัพท์มือถือถึง 1.7 เท่า แม้ว่าจำนวนผู้เข้าช็อปปิ้งผ่านคอมพิวเตอร์จะมีสัดส่วนน้อยกว่า แต่ก็มีโอกาสที่จะสั่งซื้อสินค้ามากกว่าสิงคโปร์มี “basket size” สูงสุด
“ค่าเฉลี่ยต่อการซื้อ” (basket size)
เป็นอีกหนึ่งดัชนีวัดผลที่สำคัญของอีคอมเมิร์ซ เนื่องจากเป็นดัชนีที่ส่งผลต่อกำไรของธุรกิจโดยตรง โดยจะเป็นค่าเฉลี่ยที่ผู้บริโภคยินยอมจ่ายค่าสินค้าต่อการซื้อหนึ่งครั้ง จากการศึกษาพบว่า basket size จะแปรผันตามรายได้ต่อหัวของประชากรในแต่ละประเทศ ผลสำรวจพบว่า “สิงคโปร์” เป็นประเทศที่มี basket size สูงที่สุดใน 6 ประเทศ อยู่ที่ 91 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศที่มีรายได้ของประชากรสูงถึง 90,530 ดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่ เวียดนาม รายได้ต่อหัวของประชากรต่ำอยู่ที่ 6,880 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเฉลี่ยต่อการซื้อจึงอยู่ที่เพียง 23 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับว่า basket size ของสิงคโปร์สูงกว่าเวียดนามถึง 3.7 เท่า ส่วนประเทศไทย มูลค่าเฉลี่ยต่อการสั่งซื้อหนึ่งครั้งอยู่ที่ 42 ดอลลาร์สหรัฐ
นักช็อปออนไลน์นิยมซื้อวันพุธ
การสำรวจช่วงวันและเวลาที่ผู้บริโภคใน 6 ประเทศนิยมซื้อสินค้าออนไลน์ พบว่า “วันพุธ” เป็นวันที่มียอดการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์มากที่สุด และจำนวนสั่งซื้อลดลงมากสุดในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ โดยลดลงถึง 30% เนื่องจากคนนิยมออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน
โดยช่วงเวลาที่คนใน 5 ประเทศอาเซียน (ยกเว้นสิงคโปร์) นิยมซื้อสินค้าออนไลน์มากที่สุด คือ 11.00 น. หรือช่วงก่อนไปทานอาหารเที่ยง เช่น ไทย ที่มียอดสั่งสินค้ามากกว่าค่าเฉลี่ยถึง 53% และยอดการสั่งซื้อจะยาวไปจนถึง 17.00 น. นั่นหมายความว่าพฤติกรรมคือ มักช็อปปิ้งในที่ทำงานและในเวลาทำงาน
อย่างไรก็ตาม ในสิงคโปร์ไม่นิยมช็อปออนไลน์ในช่วงการทำงาน เชื่อว่าน่าจะมาจากกฎระเบียบที่เคร่งครัด ประกอบกับคนสิงคโปร์ที่ค่อนข้างจริงจังกับการทำงาน โดยจะพบว่ายอดการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ในสิงคโปร์จะพุ่งสูงสุดในช่วง 22.00 น. ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 61%
สิงคโปร์-มาเลย์ รับเครดิต 100%
เนื่องจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีจำนวนผู้ใช้เครดิตการ์ดต่ำ (ยกเว้นสิงคโปร์) ดังนั้น ร้านค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงต้องมีช่องทางการชำระค่าสินค้าที่หลากหลายเพื่อรองรับกับพฤติกรรมผู้บริโภค ปัจจุบันมีเพียง “สิงคโปร์ และมาเลเซีย” ที่ร้านค้าออนไลน์ทั้ง 100% ที่มีช่องทางชำระเงินผ่านบัตรเครดิต ส่วนไทยร้านค้าที่ใช้ชำระเงินผ่านบัตรเครดิตราว 90% ขณะที่ฟิลิปปินส์ 95%
ขณะที่มีร้านค้ามากกว่า 80% ในเวียดนาม และฟิลิปปินส์ ที่ให้บริการเก็บเงินปลายทาง เพื่อสร้างความมั่นใจในการสั่งซื้อสินค้าให้กับนักช็อปมากขึ้น ส่วนการชำระค่าสินค้าผ่าน “ธนาคาร” ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ยังได้รับความนิยมในอาเซียน ร้านค้าใน “อินโดนีเซีย” ยังนิยมใช้ช่องทางการจ่ายเงินผ่านธนาคารมากที่สุด คิดเป็น 94% รองลงมาคือ เวียดนาม 86% และไทย 79%
นอกจากนี้ ร้านค้าออนไลน์ในประเทศเวียดนามและไทย ยังนิยมใช้ช่องทางชำระค่าสินค้าผ่าน “เคาน์เตอร์เซอร์วิส” มากที่สุด 47% และ 46% ตามลำดับ โดย 7-Eleven เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการที่ได้รับความนิยม
อ้างอิง : https://ipricethailand.com/insights/stateofecommerce2017/
eosgear,#สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต