สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ออนไลน์พลิกโฉมโลจิสติกส์ ยักษ์ชนยักษ์รับเทรนด์การค้ายุคใหม่

จากประชาชาติธุรกิจ

 

ธุรกิจโลจิสติกส์โตก้าวกระโดด อานิสงส์ “อีคอมเมิร์ซ-บริการออนดีมานด์” ติดลมบน ยักษ์ชนยักษ์ชิงส่วนแบ่งตลาด “DHL-SCG” ปูพรมขยายเครือข่ายให้รองรับเทรนด์ช็อปออนไลน์สมรภูมิภูธร “DHL” เปิดบริการ Same Day-Fulfillment เสริมทัพ “SCG EXPRESS” ชูนวัตกรรมใหม่ควบคุมอุณหภูมิขนส่ง “อาหาร-สินค้าเกษตร” เจาะเกษตรกร-โอท็อป-เอสเอ็มอี “ไปรษณีย์ไทย” อัพเกรดระบบนำจ่ายรักษามาร์เก็ตแชร์ “ลาลามูฟ” เร่งเพิ่มรถขนส่ง

นายพร้อมพงษ์ ตันติวรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท เอสซีจี ยามาโตะ เอ็กซ์เพรส จำกัด ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ภายใต้แบรนด์ SCG EXPRESS เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทจะลงทุนขยายเครือข่ายการรับส่งสินค้าให้ครอบคลุมทุกอำเภอ และทุกจังหวัด 99.9% ของพื้นที่ทั่วไทยให้ได้ในปี 2561 หลังจากเพิ่งจับมือกับ บมจ.ปตท.เปิดจุดให้บริการที่ FIT Auto จากปัจจุบันมีศูนย์บริการเอสซีจี เอ็กซ์เพรส 30 สาขา เป็นจุดกระจายพัสดุ และจุดบริการตัวแทนรับพัสดุเอสซีจี เอ็กซ์เพรส (service agent) กว่า 500 แห่ง ครอบคลุม 40 จังหวัดหัวเมืองใหญ่ ในภาคกลาง ภาคตะวันออก ตะวันตก แต่ในภาคเหนือและใต้ยังจำกัดเฉพาะในจังหวัดใหญ่

“สิ้นปี 2560 ยอดส่งพัสดุเกิน 1 ล้านชิ้นขณะที่การเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซไทยอยู่ที่ราว 20% ส่งผลให้ตลาดโลจิสติกส์เติบโตในอัตราใกล้กันที่ 20% แต่ SCG EXPRESS โตกว่าตลาด”

เจาะลูกค้าการเกษตร-โอท็อป

ฐานลูกค้าของบริษัทส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ค้าออนไลน์ แต่ SCG จะพยายามเข้าไปเจาะตลาดเพิ่มในกลุ่มเกษตรกร และสินค้า OTOP เพราะเป็นรายแรกที่ให้บริการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิได้ แต่ตอนนี้พื้นที่ส่งยังจำกัดเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล กำลังขยายไปในจังหวัดที่มีโอกาสขนส่งสินค้าประเภทนี้ก่อน ประเมินว่าน่าจะพร้อมใน 20 จังหวัดหัวเมืองใหญ่ภายในสิ้นปี

ถ้าขยายเน็ตเวิร์กได้ครอบคลุมก็จะโปรโมตมากขึ้น เพราะผู้ค้าออนไลน์ในไทยมักเป็นกลุ่มเสื้อผ้า, เครื่องสำอาง แต่กลุ่มอาหารยังไม่โตมาก เพราะไม่มีโลจิสติกส์มาซัพพอร์ต บริการเราจึงน่าจะช่วยผู้ค้าอาหาร เกษตรกร OTOP ได้

สำหรับการแข่งขันในตลาดโลจิสติกส์ค่อนข้างรุนแรงมาก โดยจุดเด่นของ SCG EXPRESS อยู่ที่นวัตกรรมในการบริการ ไม่ใช่แค่ขนส่งอย่างเดียว ขณะที่ค่าบริการแข่งขันได้อยู่แล้ว ซึ่งในเครือ SCG มีบริษัทโลจิสติกส์ครบวงจร ฉะนั้นการบริการ fulfillment น่าจะเป็นการ synergy กับ SCG Logistics

“ไปรษณีย์ไทย” สู้ไม่ถอย

นางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยว่า การแข่งขันในตลาดโลจิสติกส์ถือว่ารุนแรงมาก แต่ไปรษณีย์ไทยพร้อมรับมือ โดยพัฒนาบริการใหม่ ๆ เพิ่มคุณภาพและขยายสาขามากขึ้น ล่าสุดร่วมมือกับ บมจ.ปตท. และ บมจ.บางจาก เพิ่มจุดรับฝากให้ใช้บริการได้ง่ายขึ้น พร้อมจัดเส้นทางขนส่งใหม่ให้ส่งตรงจังหวัดใหญ่ ๆไม่ต้องผ่านศูนย์

“ไปรษณีย์ไทยมีจุดเด่นเรื่องเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศอย่างแท้จริง และพนักงานที่รู้จักพื้นที่เข้าถึงพื้นที่ทั้งหมด”

ขณะเดียวกัน ได้เพิ่มจำนวนพนักงานในจุดที่ปริมาณหนาแน่น เช่น ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รองรับการขยายของเมือง และสร้างศูนย์ไปรษณีย์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นในจังหวัดสกลนครและราชบุรี ช่วยกระจายไปรษณีย์ภัณฑ์ จากเดิมมีอยู่แล้ว 18 ศูนย์ ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบ CA Post หรือระบบบริการเคาน์เตอร์อัจฉริยะรองรับการให้บริการที่ดีขึ้น

“CA Post ทำให้ผู้ใช้บริการกรอกข้อมูลเตรียมส่งได้ตั้งแต่ที่บ้านผ่านแอปพลิเคชั่น สแกนบาร์โค้ด คำนวนค่าส่ง เข้าระบบได้ในครั้งเดียว แทนที่ต้องเสียเวลาสแกนทีละกล่อง”

สำหรับเป้าหมายในปี 2561 คือการเพิ่มศักยภาพรองรับปริมาณงานในระบบนำจ่ายให้ได้อย่างน้อย 10% และขยายพื้นที่การส่งให้ถึงมือผู้รับในวันถัดไปให้ครอบคลุมถึงหัวเมืองรองทั้งหมด ส่วนบริการ fulfillment ที่เป็นบริการ Pick&Pack เริ่มให้บริการแล้วบางพื้นที่แต่ด้วยปริมาณงานที่มีเข้ามามาก อาจตัดแบ่งงานส่วนนี้ให้บริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด ดำเนินการ

“มั่นใจมากว่าไปรษณีย์ไทยจะยังรักษามาร์เก็ตแชร์ได้ ปัจจุบันยอดส่ง EMS ก็ทะลุล้านกว่ากล่องต่อวันแล้ว หากรวมการส่งทุกประเภทจะอยู่ราว 8 ล้านชิ้นต่อวัน และยังมีแนวโน้มเพิ่มต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงเทศกาลของขวัญจะเพิ่มขึ้นกว่า 8% ยังสู้ไม่ถอยแน่นอน”

“ลาล่ามูฟ” เบอร์ 1 ออนดีมานด์

ด้านนายชานนท์ กล้าหาญ กรรมการผู้จัดการ ลาล่ามูฟ ประเทศไทย ผู้ให้บริการรับส่งสินค้าแบบออนดีมานด์ กล่าวว่า ตลาดโลจิสติกส์ในไทยเติบโตตามตลาดอีคอมเมิร์ซ คือไม่น้อยกว่า 21% เช่นกันกับบริการรับส่งสินค้าแบบออนดีมานด์ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นสินค้าเช่น อาหาร ที่เติบโตปีละ 11-15% โดยบริการของบริษัทส่งอาหารมากถึง 50% ที่เหลือเป็นสินค้าอื่น ๆ เช่น อิเล็กทรอนิกส์, เสื้อผ้า, คอสเมติก โดยปีที่ผ่านมาโตถึง 300% มีรายได้ 540 ล้านบาท

“การส่งอาหารมีสัดส่วนมากที่สุด ถึง 70% แต่การเติบโตของอีคอมเมิร์ซทำให้การส่งแบบออนดีมานด์เพิ่มขึ้นมาในสัดส่วนเท่า ๆ กัน ซึ่งการส่งแบบออนดีมานด์ให้ถึงมือลูกค้าเร็วที่สุดถือเป็นเทรนด์ เห็นได้จากกรณีกูเกิล และอเมซอนที่เริ่มสร้างความแตกต่างให้ธุรกิจ”

และในปี 2561 จะเพิ่มฟีเจอร์ และบริการใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองลูกค้าธุรกิจ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ยังไม่เห็นคุณค่าการส่งด่วน และกำลังมองหาพื้นที่เพื่อขยายการให้บริการ โดยจะโฟกัสที่หัวเมืองใหญ่ก่อน รวมถึงเพิ่มรถขนส่งเป็น 20,000 คัน มอเตอร์ไซค์เป็น 40,000 คัน คาดว่าการให้บริการปีนี้จะโตที่ 300%

“การแข่งขันในปีนี้จะมีสีสันมาก ลาล่ามูฟไม่เน้นแข่งขันราคา แต่เน้นที่การบริการและพยายามรักษามาตรฐานให้ได้ในฐานะเป็นที่ 1 ในตลาด”

“DHL เปิด fulfillment

นายเกียรติชัย พิตรปรีชา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีเอชแอล อีคอมเมิร์ซ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยปีที่ผ่านมาคาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 120 ล้านล้านบาท คิดเป็น 12% ของมูลค่าธุรกิจค้าปลีกทั้งหมด ขณะที่ตลาดในเอเชีย-แปซิฟิกและไทยยังเติบโตสูง และได้รับความสนใจจากกลุ่มทุนอีคอมเมิร์ซระดับโลก เชื่อว่าในอีก 2 ปี ข้างหน้าการเติบโตในอาเซียนจะขยับจากเฉลี่ย 25% ไปสู่ 27% ต่อปี

สำหรับตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยในต่างจังหวัดโตชัดเจนมาก อยู่ที่ 35% ต่อปี สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วประเทศที่ 22% ดังนั้นการขยายเครือข่ายโลจิสติกส์จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยมีการคาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดโลจิสติกส์จะมีมูลค่า 10% ของตลาดอีคอมเมิร์ซ ดีเอชแอล อีคอมเมิร์ซ เปิดให้บริการในไทยมา 2 ปี และได้ขยายเครือข่ายจนสามารถให้บริการส่งสินค้าทั่วประเทศได้ทุกรหัสไปรษณีย์ และจัดส่งถึงมือผู้รับได้ภายใน 1 วันทำการ แต่ในพื้นที่ห่างไกล เช่น ตามเกาะยังใช้เวลาไม่เกิน 3 วัน โดยเมื่อเดือน พ.ย.เปิดในกรุงเทพฯได้ครบ 200 แห่ง เป็นจุดรับฝากสินค้า และในไตรมาสที่ 3 ปีนี้จะเปิดให้ครบ 1,000 จุด และในปลายไตรมาสที่ 1/2561 จะเปิดจุดบริการในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะตามห้างสรรพสินค้าให้ลูกค้าฝากส่งและรับของได้

“ปี 2561 จะเห็นบริการใหม่ ๆ ของดีเอชแอลมากขึ้น เช่น การส่ง same day ที่ปัจจุบันเริ่มให้บริการกับลูกค้าบางรายแล้ว จากเดิมที่ 88% ของการส่งยังเน้น next day รวมถึงการเปิด fulfillment ที่บริษัทจะเข้าไปบริหารสต๊อก และแพ็กจัดส่งให้ผู้ค้าอีคอมเมิร์ซ นอกเหนือจากที่มีระบบเก็บเงินปลายทาง”

ที่ผ่านมารายได้ของดีเอชแอล อีคอมเมิร์ซ เติบโตในระดับ 3-4 เท่าจากปีก่อน เชื่อว่าในปี 2561 ยังมีแนวโน้มเช่นเดิม แม้ว่าการเข้ามาของผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซที่เป็นทุนใหญ่จากต่างประเทศจะนำบริการโลจิสติกส์เข้ามาดำเนินการเองด้วยก็ตาม

เคอรี่ฯผนึกเซ็นทรัลเจาะทุกตลาด

นายอเล็กซ์ อึ้ง ผู้อำนวยการบริหาร สายงานรับ-ส่งพัสดุ เคอรี่โลจิสติกส์ กรุ๊ป สาขาประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทลงทุนหลายพันล้านบาทเพื่อเป้าหมายหลักคือต้องการขยายจุดบริการให้ครอบคลุมและเข้าถึงลูกค้าให้มากที่สุด จากปัจจุบันมีจุดให้บริการกว่า 1,500 สาขาทั่วประเทศ มีศูนย์กระจายสินค้าอีกกว่า 600 แห่ง ทุกจังหวัด เครือข่ายครอบคลุม 99.99% ของประชากร จึงจับมือกับเครือเซ็นทรัล เพื่อขยายบริการขยายฐานลูกค้าในแฟมิลี่มาร์ทช่วยให้เข้าถึงทำเลที่มีศักยภาพทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด โดยขยายเวลาบริการเป็น 24 ชั่วโมงในกรณีร้านสะดวกซื้อ หลังจากนี้เตรียมจะเปิดให้บริการใหม่ ๆ อีก เช่น อนุญาตให้ลูกค้าพรินต์บาร์โค้ดด้วยตนเอง เพื่อความสะดวก และมีแผนเปิดตัวแอปพลิเคชั่นสำหรับลูกค้าคนไทยอีกด้วย ทั้งสร้างศูนย์คัดแยกสินค้าขนาดใหญ่เพิ่มอีก 3 แห่ง และขยายเฟส 2 ของศูนย์ฯบางนา กม.19 คาดเสร็จ มี.ค.2561

ด้านออฟฟิศเมท เชนร้านเครื่องใช้สำนักงาน ได้ลงทุนสร้างคลังสินค้าขนาด 2 หมื่น ตร.ม.ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อรองรับบริการบริหารคลังสินค้าซึ่งมีดีมานด์สูงขึ้น ตามการขยายตัวของอีคอมเมิร์ซ

นายวรวุฒิ อุ่นใจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออฟฟิศเมท จำกัด กล่าวเสริมว่า การขยายตัวของเอสเอ็มอีจะทำให้เกิดความต้องการโซลูชั่นด้านบริหารสินค้าและโลจิสติกส์ จึงเป็นโอกาสของบริษัทที่จับตลาดผู้บริโภคกลุ่มนี้อยู่แล้ว โดยจะขยายบริการให้ครบวงจรตามสโลแกน “ที่เดียวครบ ตอบโจทย์ทุกธุรกิจ”

 

 


eosgear,#สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,#อุปกรณ์แค้มปิง,#อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ออนไลน์พลิกโฉมโลจิสติกส์ ยักษ์ชนยักษ์รับเทรนด์การค้ายุคใหม่

view